ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนตุลาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 21, 2015 10:31 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1เดือนตุลาคม 2558 ลดลงร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงอาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องนุ่งห่ม อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ขยายตัวได้ดี

อุตสาหกรรมรถยนต์ ในเดือนตุลาคม 2558 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออก

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงเนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลงประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง

การเปิดปิดโรงงาน เดือนตุลาคม 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 352 รายลดลงจากเดือนกันยายน 2558 ร้อยละ 29.32 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 104.86 และมีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.22 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมทำอาหารจากสัตว์น้ำและบรรจุในภาชนะที่ผนึกและอากาศเข้าไม่ได้มีจำนวน 3 โรงจำนวนเงินทุน 15,359 ล้านบาท และจำนวนคนงาน 1,971 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการลดลงจากเดือนตุลาคม 2557 ร้อยละ 28.31 สำหรับโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมีจำนวน 170 รายน้อยกว่าเดือนกันยายน 2558 ร้อยละ 46.71 แต่มากกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 47.83

การขอรับการส่งเสริมการลงทุน เดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOl ทั้งสิ้น 828 โครงการ เงินลงทุน 179,630 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 28.5 และ 71.53 ตามลำดับ โดยประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุด คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนคิดเป็นร้อยละ 51.35

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนตุลาคม 2558 การนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม และเครื่องมือกล มีมูลค่า 925.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องมือกลที่ยังคงหดตัวสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 32.0 รวมทั้งการนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 12.5

ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 5,733.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 19.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าด้ายและเส้นใย ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงอุปกรณ์ส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลง

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนตุลาคม 2558 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 10,191.8 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2558 ร้อยละ 0.9 (10,100.9 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) และช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 2.0 (9,992.7 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) หากแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการพบว่า กิจการขนาดเล็กและขนาดกลางมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดือนที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ส่วนกิจการขนาดใหญ่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาและจากช่วงเดียวกันของปี 2557

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ติดลบหรือหดตัวร้อยละ 4.2 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้การผลิตลดลง เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันหดตัวร้อยละ 6.3

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 1.9

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนตุลาคม 2558 ยังไม่มีการเผยแพร่ แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนกันยายน 2558 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 5.6 และ 0.7 ตามลำดับ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2558

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 352 ราย ลดลงจากเดือนกันยายน 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 498 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 29.32 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 67,715 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2558 ซึ่งมีการลงทุน 33,053 ล้านบาท ร้อยละ 104.86 มีการจ้างงานจำนวน 13,807 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2558 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 11,779 คน ร้อยละ 17.22

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการน้อยกว่าเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 491 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 28.31 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีการลงทุน 22,962 ล้านบาท ร้อยละ 194.9 และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 9,323 คน ร้อยละ 48.1

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนตุลาคม 2558 คืออุตสาหกรรมขุดดินสำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 32 โรงงาน รองลงมา คืออุตสาหกรรม ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต จำนวน 23 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนตุลาคม 2558 คืออุตสาหกรรมทำอาหารจากสัตว์น้ำและบรรจุในภาชนะที่ผนึกและอากาศเข้าไม่ได้จำนวนเงินทุน 15,359.00 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตขึ้นรูปชิ้นงานพลาสติก จำนวนเงินทุน 11,562.05 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนตุลาคม 2558 คืออุตสาหกรรมเครื่องประดับและชิ้นส่วน จำนวนคนงาน 4,289 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรม ทำอาหารจากสัตว์น้ำและบรรจุในภาชนะที่ผนึกและอากาศเข้าไม่ได้ จำนวนคนงาน 1,971 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2558 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 170 ราย น้อยกว่าเดือนกันยายน 2558 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 319 ราย คิดเป็นร้อยละ 46.71 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 3,128 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนกันยายน 2558 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 7,058 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 3,340 คน น้อยกว่าเดือนกันยายน 2558 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 16,623 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 115 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 47.83 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนตุลาคม 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,655 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนตุลาคม 2557 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,339 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนตุลาคม 2558 คือ อุตสาหกรรม บรรจุก๊าซ จำนวน 21 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดหรือลอก กรวด ทรายหรือดิน จำนวน 16 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนตุลาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมบรรจุก๊าซ เงินทุน 931.76 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่น ซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูปเงินทุน 245.33 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนตุลาคม 2558 คือ อุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่น ซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูป จำนวนคนงาน 774 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ หนังเทียม ซึ่งมิใช่เครื่องแต่งกายรองเท้า จำนวนคนงาน 487 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.)ในเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสกท.ทั้งสิ้น 828 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,158 โครงการ ร้อยละ 28.5 และมีเงินลงทุน 179,630 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 630,900 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 71.53

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมในเดือนมกราคม - ตุลาคม 2885
      การร่วมทุน                จำนวน      มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)

(โครงการ)

1.โครงการคนไทย 100%            357            86,190
2.โครงการต่างชาติ 100%           317            52,100
3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ     154            41,340
  • ประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุดในเดือนมกราคม- ตุลาคม 2558 คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 92,240 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 29,650 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง การปรับขึ้นภาษีหลังจากถูกตัด GSP และการทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป ส่งผลให้การส่งออกปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการจำหน่ายในประเทศปรับตัวลดลงเช่นกัน

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนตุลาคม 2558 ปรับลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน 5.3 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีก่อน สินค้าที่ปรับตัวลดลง เช่น กุ้ง ทูน่ากระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 25.4 20.8 และ 6.2 ตามลำดับ เนื่องจากวัตถุดิบปริมาณลดลง

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม การผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 เนื่องจากผลผลิตออกมากขึ้น ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนตุลาคม 2558 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.5 จากความต้องการใช้อาหารเลี้ยงไก่ และแป้งมันสำปะหลัง ปรับตัวลดลง

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนตุลาคม 2558 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 14.0 โดยเป็นการลดลงจากการส่งออก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้ายังคงชะลอตัว และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงผลกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP และการทำประมงผิดกฎ lUU ของสหภาพยุโรป ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ สับปะรดกระป๋องเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.1 เนื่องจากระดับราคาเพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทอ่อนตัว สินค้าน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 จากคำสั่งซื้อของกลุ่มประเทศในอาเซียนเป็นหลัก และไก่แปรรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากประเทศญี่ปุ่นนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อของไทยทดแทนประเทศจีนจากปัญหา Food safety

3. แนวโน้ม

การผลิตคาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ยังคงเติบโตดี การได้รับคืนสิทธิ์ GSP ในกลุ่มอาหารแปรรูปจากสหรัฐอเมริกา ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลักฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่วนการส่งออกคาดว่า จะปรับชะลอตัวลงจากปีก่อน เนื่องจากการประกาศปรับระดับการค้า จากการพิจารณาเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎ lUU ของสหภาพยุโรป รวมถึงการเติบโตในอัตราที่ลดลงของเศรษฐกิจจีน สำหรับการจำหน่ายสินค้า ในประเทศ คาดว่า จะฟื้นจากการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

กลุ่มสิ่งทอมีการผลิตลดลงตามความต้องการที่ถดถอย กลุ่มเครื่องนุ่งห่มขยายตัวในส่วนเสื้อผ้าถัก ประเภทเสื้อผ้าชุดกีฬาจากการรณรงค์ใส่เสื้อสีเหลืองเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ในส่วนการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอาจมีทิศทางลดลงในตลาดส่งออกหลัก

1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.7 เป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการเสื้อผ้าสำเร็จรูปสำหรับจำหน่ายในช่วงปลายปีในส่วนการผลิตผ้าผืนลดลง ร้อยละ 8.8 และมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการผลิตตามความต้องการที่ถดถอย ประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถักเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.8 ในผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายชั้นนอกทั้งบุรุษและเด็กชาย (เสื้อผ้าชุดกีฬา) ส่วนหนึ่งขยายตัวตามนโยบายส่งเสริมด้านการกีฬาและการท่องเที่ยวของภาครัฐประกอบกับภาคเอกชนมีการเตรียมการผลิตรองรับความต้องการปลายปี แต่ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.5 ในกลุ่มเสื้อผ้าทอ จากคำสั่งซื้อสินค้าในตลาดอาเซียนสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลง

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทอ มีการจำหน่ายลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืนและผ้าขนหนู ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในส่วนเสื้อผ้าถัก ประเภทเสื้อผ้าชุดกีฬาจากการรณรงค์ใส่เสื้อสีเหลืองเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

การส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมลดลงร้อยละ 9.3 แบ่งเป็นกลุ่มสิ่งทอลดลง ร้อยละ 11.4 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ ลดลง ร้อยละ 6.2 26.1 21.1 16.2 และ 14.9 ตามลำดับ โดยเฉพาะตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ เวียดนาม สามารถพัฒนาสิ่งทอต้นน้ำเพิ่มขึ้นจากการเข้าไปลงทุนของไต้หวันและจีน กลุ่มเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 5.3 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปเครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบ และถุงเท้าและถุงน่องลดลง ร้อยละ 4.6 9.7และ 5.0 ตามลำดับซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 17.3 14.3 0.2 และ4.0 ตามลำดับ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

3. แนวโน้ม

คาดว่า กลุ่มสิ่งทอที่ผลิตสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายใน ประเทศจะกระเตื้องขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คาดว่า จะหดตัวจากผลิตภัณฑ์ผ้าผืนเนื่องจากเวียดนามซึ่งเป็นตลาดหลักนำเข้าผ้าผืนจากไทยลดลง สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และชุดกีฬา จะขยายตัวได้ตามนโยบายส่งเสริมด้านการกีฬาและการท่องเที่ยวของภาครัฐประกอบกับภาคเอกชนมีการเตรียมการผลิตรองรับความต้องการปลายปี

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

สมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) รายงานข้อมูลการผลิตเหล็กดิบของโลก ในเดือนตุลาคม 2558 มีปริมาณ การผลิต 134 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 3.1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตเหล็กดิบของประเทศจีนในเดือนตุลาคม 2015 อยู่ที่ 66.1 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับประเทศญี่ปุ่น มีปริมาณการผลิตเหล็กดิบอยู่ที่ 9 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนตุลาคม 2558 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 108.49 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลง ร้อยละ 11.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุดังนี้

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 16.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 40.40 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 35.33 เนื่องจากอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋องประสบปัญหา เช่น สับปะรดกระป๋องประสบปัญหาภัยแล้งจึงขาดแคลนวัตถุดิบ ในขณะที่ทูน่ากระป๋อง ประสบปัญหาเนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ลดลง และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การนำเข้าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มทรงแบน ลดลง ร้อยละ 16.7 (การนำเข้ามีปริมาณ 728,693 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการนำเข้าลดลงมาก คือ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน Carbon Steel ลดลง ร้อยละ 55.9 (ปริมาณการนำเข้า 6,944 ตัน) และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน Alloy Steel ลดลง ร้อยละ 39.2 (ปริมาณการนำเข้า 93,608 ตัน) สำหรับการส่งออก ลดลง ร้อยละ 20.0 (การส่งออก มีปริมาณ 24,936 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการส่งออก ลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน Carbon Steel ลดลง ร้อยละ 93.6 (ปริมาณการส่งออก 102 ตัน) รองลงมาคือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน Carbon Steel ลดลง ร้อยละ 64.3

ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวมีการผลิต ลดลง ร้อยละ 7.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กเส้นกลม มีการผลิตลดลง ร้อยละ 18.97 เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 7.99 และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การนำเข้าลดลง ร้อยละ 38.4 (ปริมาณการนำเข้า 219,790 ตัน) ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าลดลง มากที่สุด คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ Carbon Steel ลดลง ร้อยละ 88.7 (ปริมาณการนำเข้า 3,503 ตัน) เหล็กลวด Alloy Steel ลดลง ร้อยละ 46.7 (ปริมาณการนำเข้า 90,012 ตัน) สำหรับการส่งออก ลดลง ร้อยละ 17.6 (ปริมาณการส่งออก 55,974 ตัน) โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกลดลง มากที่สุด ได้แก่ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ลดลง ร้อยละ 55.3 (ปริมาณการส่งออก 2,080 ตัน) รองลงมาคือ เหล็กเส้น Stainless Steel ลดลง ร้อยละ 34.3 (ปริมาณการส่งออก 683 ตัน)

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย 2. ราคาเหล็ก พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด ClS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนตุลาคม 2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กมีการปรับตัวลดลงทุกชนิด เช่น เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 112.32 เป็น 58.37 ลดลง ร้อยละ 48.03 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 107.69 เป็น 59.48 ลดลง ร้อยละ 44.77 เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 110.58 เป็น 63.05 ลดลง ร้อยละ 42.98 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 114.01 เป็น 69.15 ลดลง ร้อยละ 39.35 และเหล็กเส้น ลดลงจาก 111.7 เป็น 68.08 ลดลง ร้อยละ 39.05 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ทรงตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้ในตลาดโลกชะลอตัว ประกอบกับประเทศที่เป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก เช่น จีน ยังคงไม่ลดการผลิต ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศจีน ลดลง จึงส่งผลให้จีนส่งออกเหล็กเข้ามายังหลายประเทศของโลก จึงมีผลทำให้หลายประเทศต่างใช้มาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ จึงทำให้ประเทศจีนส่งออกไปยังประเทศที่ยังไม่มีมาตรการคุ้มครองดีพอ

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะลดลง ทั้งเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังชะลอตัวอยู่ นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีสถานการณ์การผลิตที่ทรงตัว ถึงแม้บางอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ จะมียอดการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่เหล็กที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กนำเข้าไม่ใช่เหล็กที่ผลิตภายในประเทศ

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนตุลาคม 2558 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกโดยเป็นการขยายตัวในประเทศแถบโอเชียเนียอเมริกากลางและใต้ และอเมริกาเหนือ เป็นต้น

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 165,381 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีการผลิต 159,760 คัน ร้อยละ 3.52 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 67,910 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีการจำหน่าย 70,850 คัน ร้อยละ 4.15 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ทั้งนี้การลดลงเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจประกอบกับหนี้ในภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 111,229 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีการส่งออก 93,413 คัน ร้อยละ 19.07 โดยการส่งออกรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.89 ซึ่งเป็นการขยายตัวในประเทศแถบแอฟริกา ยุโรป และเอเชียสำหรับการส่งออกรถกระบะ 1 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 20.16 เป็นการขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย รวมทั้งอเมริกากลางและใต้ ส่วนการส่งออกรถPPV เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 48.28 เป็นการขยายตัวในประเทศแถบแอฟริกา โอเชียเนีย รวมทั้งอเมริกากลางและใต้

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2558 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2557 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 52 และส่งออกร้อยละ 48

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม2558 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557โดยเป็นการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศ

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 145,279 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม2557 ซึ่งมีการผลิต 155,403 คัน ร้อยละ 6.51 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 118,516 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีการจำหน่าย 135,900 คัน ร้อยละ 12.79 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์และแบบสปอร์ต

3.การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป(CBU)

จำนวน 22,328 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งมีการส่งออก 20,286 คัน ร้อยละ10.07 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการส่งออกในประเทศเนเธอร์แลนด์สหรัฐอเมริกาและจีน

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2558 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2557 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80 และส่งออกร้อยละ 20

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์หดตัวลง โดยหากพิจารณาจากกราฟจะเห็นว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงค่อนข้างมาก โดยทรงตัวอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดในรอบห้าปีที่ผ่านมาต่อเนื่องจากช่วงต้นปี สำหรับมูลค่าการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึนเล็กน้อย เนื่องจากบังคลาเทศ มาเลเซีย ใต้หวัน และบรูไน สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยมากขึ้น ในขณะที่ประเทศคู่ค้าหลักอย่างกัมพูชายังคงปรับลดการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงเช่นเดิม"
1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนตุลาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในประเทศลดลงร้อยละ 23.61 และร้อยละ 19.67 ตามลำดับ

หากพิจารณาจากกราฟแสดงปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศด้านซ้ายมือ จะเห็นได้ชัดว่าเส้นกราฟสีม่วงของปี 2558 ขยับลงต่ำจากเส้นกราฟสีเขียวอ่อนของปี 2557 ค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มที่จะขยับออกห่างในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง แสดงให้เห็นว่าตลาดปูนซีเมนต์และภาคก่อสร้างในประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในภาวะซบเซาตั้งแต่ช่วงต้นปี ทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนลง ส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงตามอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จึงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยลดลงในอัตราเฉลี่ยที่ร้อยละ 15 ของทุกเดือน

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนตุลาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยคิดเป็นร้อยละ 1.32

เมื่อพิจารณาจากกราฟจะเห็นว่ามูลค่าการส่งออกของเดือนนี้ปรับตัวดีขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากบังคลาเทศ มาเลเซีย ไต้หวัน และบรูไน เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม หากเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกจะเห็นได้ชัดว่ามูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ในช่วงครึ่งปีหลังของไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากในระยะหลังประเทศคู่ค้าหลักของไทยหลายแห่งต่างมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยลดลง โดยเฉพาะกัมพูชา

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว แรงงานต่างเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเพื่อเกี่ยวข้าว ทำให้ช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นช่วงที่ภาคก่อสร้างของไทยชะลอตัวพอๆ กับช่วงเดือนเมษายน โดยจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นอีกครั้งในเดือนธันวาคมของทุกปี

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานของปีก่อนค่อนข้างสูง ประกอบกับยังไม่มีทีท่าว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะกัมพูชาจะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งหากไทยยังไม่สามารถขยายการส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ก็อาจมีปูนซีเมนต์คงค้างในสต็อกมาก เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตไม่สามารถลดปริมาณการผลิตลงได้มากนัก เพราะจะไม่คุ้มทุน

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนตุลาคม 2558 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 10.45 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลงร้อยละ 5.62 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงทั้งในประเทศและตลาดส่งออกหลัก และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 13.41 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ที่ปรับตัวลดลง

เครื่องใช้ไฟฟ้า/             (มูลค่า            %YoY
อิเล็กทรอนิกส์           ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
อุปกรณ์ประกอบของ         1,642.17          +4.22
เครื่องคอมพิวเตอร์
แผงวงจรไฟฟ้า              724.64           7.39
เครื่องปรับอากาศ            281.13          +4.11
กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้อง       167.58         -21.07
ถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล
รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า         4,836.54          -1.00
และอิเล็กทรอนิกส์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือน

ตุลาคม 2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 99.12 ลดลงร้อยละ 10.45 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 103.28 ลดลงร้อยละ 5.62 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต เครื่องรับโทรทัศน์ หม้อหุงข้าว และเตาอบไมโครเวฟ ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.20 2.82 85.68 13.88 และ 23.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 96.54 ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD, Other IC และ Semiconductor ปรับตัวลดลงร้อยละ 21.33 ร้อยละ 15.34 และ 7.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อ)

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนตุลาคม 2558 มีมูลค่า 4,836.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,911.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.94 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 4.84 1.39 17.39 และ 4.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.80 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 281.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.11 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปสหภาพยุโรป อาเซียน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.04 4.20 และ 0.26 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้ารองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล มีมูลค่า 167.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 21.07 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นลดลงมากถึงร้อยละ 35.26 และ 25.08 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีมูลค่า 129.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.71 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.54 19.53 และ 12.38 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ตลาดอาเซียน และสหภาพยุโรป ลดลง ร้อยละ 3.42 และ 62.14 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,925.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.51 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปจีนและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.82 และ 12.82 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,642.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.22 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.09 13.54 และ6.87 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นจีนและสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 15.53 และ 4.64 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 729.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.39 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 177.53 และ 11.27 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้นอาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 22.24 7.59 และ 3.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤศจิกายน 2558 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 4.12 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดในประเทศ และการส่งออกไปตลาดหลักยังไม่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.87 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ลดลงตามความต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีการปรับตัวลดลงจากการผลิต HDD ลดลงตามความต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีการปรับตัวลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ