สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2558 และแนวโน้มปี 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 22, 2016 10:39 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลกในปี 2558 IMF คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 ภาพรวมเศรษฐกิจของโลกฟื้นตัวดีขึ้น จากการที่เศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2557 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจสหภาพยุโรปขยายตัวแต่ยังคงมีปัญหาอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเล็กน้อยอันเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเศรษฐกิจประเทศจีนยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง

สถานการณ์การเงินโลกธนาคารกลางหลาย ๆ ประเทศ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ และยังคงใช้มาตรการแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ

สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกลุ่มประเทศโอเปกตัดสินใจคงกำลังการผลิต และยังมีผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ในสหรัฐฯ และแคนาดา จึงส่งผลให้อุปทานน้ำมันโลกยังคงล้นตลาด โดยราคาน้ำมันดิบ (Dubai) เฉลี่ย 11 เดือน อยู่ที่ 52.7 USD:Barrel โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมกราคม (ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2557) มีราคาอยู่ที่ 37.5 USD:Barrel

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยปัจจัยที่ทำให้ขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 คือ ในด้านการใช้จ่าย การส่งออกบริการและการลงทุนภาครัฐขยายตัวสูง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกสินค้ายังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการลงทุนภาคเอกชนลดลง ในด้านการผลิต สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาก่อสร้างขยายตัวในเกณฑ์ดี สาขาบริการอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่อง สาขาอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ในขณะที่สาขาเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจาก ภัยแล้งและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.8 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 0.6 แต่ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ และการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตรถยนต์ เนื่องจากการปรับเปลี่ยน สายพานการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รุ่นใหม่ของผู้ผลิตรายใหญ่เสร็จสิ้นลงในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกปรับตัวลดลงตามการลดลงของปริมาณการส่งออก กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ ปิโตรเลียม ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เคมี และยาสูบ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง ยางและพลาสติก ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ หลอดอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 2.9 ซึ่งขยายตัวจากปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 0.4 และเศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0

การค้าต่างประเทศในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของทั้งมูลค่าการนำเข้าและมูลค่าการส่งออก ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว โดยการนำเข้าตลอดทั้ง 10 เดือน มีมูลค่าลดลงในระดับที่มากกว่ามูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 9,859.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในเดือนมกราคม - ตุลาคมของปี 2558 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 1,923 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 1,323 โครงการ เมื่อพิจารณามูลค่าเงินลงทุนในกิจการต่าง ๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 693,640 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาครัฐดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการลงทุนทั้งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และพื้นที่ทั่วไป โดยโครงการลงทุนในช่วง 10 เดือนแรกของปีประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 602 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 204,740 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 451 โครงการ เป็นเงินลงทุน 264,090 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 870 โครงการ เป็นเงินลงทุน 224,810 ล้านบาท สำหรับการส่งเสริมการลงทุนตลอดปี 2558 BOI มุ่งเน้นส่งเสริมโครงการที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย หรือมีส่วนสนับสนุนด้านการพัฒนาและวิจัยมากขึ้น ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นคุณค่าของโครงการมากกว่าจำนวนโครงการและมูลค่าในการลงทุน 126,860 ล้านบาท และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 113,850 ล้านบาท

จากข้อมูลเบื้องต้นสำหรับแหล่งทุนในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 400 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 126,931 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 116 โครงการ มีเงินลงทุน 34,483 ล้านบาท ประเทศสหรัฐอเมริกามีจำนวน 42 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 31,935 ล้านบาท และประเทศมาเลเซียมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 25 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 31,218 ล้านบาท

แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมไทยปี 2559 คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเริ่มส่งสัญญานที่ดีขึ้นอย่างช้าๆ ส่งผลต่อการส่งออกที่คาดว่าจะดีขึ้น การเร่งขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น

สรุปภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2558 มีประมาณ 6,662,377 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 1.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตที่ลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 13.44 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 13.38 แต่ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.35 เนื่องจากเหตุผลทางด้านเทคนิค กล่าวคือ วิธีคำนวณการผลิตเหล็กทรงยาว ส่วนหนึ่งจะนำมาจากข้อมูลการนำเข้าวัตถุดิบของเหล็กทรงยาว (เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต) ซึ่งในช่วง 3-4 เดือน ที่ผ่านมามีการนำเข้าเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาเหล็กที่ลดลง ทำให้ผู้ผลิตเหล็กเส้นที่ไม่มีเตาหลอมและใช้วัตถุดิบเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ตมารีด นำเข้าวัตถุดิบมากขึ้น) สำหรับการจำหน่ายในประเทศประมาณ 17,116,251 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 1.28 โดยเหล็กทรงแบนลดลง ร้อยละ 3.94 แต่เหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.53 สำหรับมูลค่าการส่งออก ลดลง ร้อยละ 19.2 มูลค่าการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 12.13

คาดการณ์ว่าสถานการณ์เหล็กในปี 2559 ในส่วนการผลิตจะทรงตัว คือ 6.66 ล้านตัน โดยความต้องการใช้เหล็กในประเทศอยู่ในช่วง 0-3% ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ความต้องการใช้เหล็กสูงขึ้น คือ การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เนื่องจากการก่อสร้างของภาคเอกชนยังคงชะลอตัวอยู่ เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการซื้อและลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพทย์ สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว แต่เหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นเหล็กนำเข้า จึงไม่ส่งผลต่อการผลิตในประเทศ

ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์1,430,994คันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิต 1,568,300 คัน ลดลงร้อยละ 8.76โดยมีปริมาณการผลิตรถยนต์นั่ง 585,504คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์820,473คัน ลดลงร้อยละ4.68 และ 12.46 ตามลำดับ ส่วนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 25,017คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.82เมื่อพิจารณาปริมาณการผลิตโดยรวม พบว่า เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกจำนวน 1,019,576 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.25 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2559 คาดว่า การผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 900,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,250,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.17 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2559จะขยายตัวกว่าร้อยละ 3.7 และตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 40-45 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 55-60

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 107.71 ลดลงร้อยละ 3.56 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.98 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงร้อยละ 4.13 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน

ในปี 2559 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.81 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3 ของปี 2559 ซึ่งคาดว่าไตรมาส 3 ของปี 2559 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.55 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสินค้าหลายรายการ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น IC ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป

เคมีภัณฑ์ การส่งออกเคมีภัณฑ์ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค. - ต.ค.) ของปี 2558 มีมูลค่ารวม 5,764.588 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่าที่ลดลง 1,105.366 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เครื่องสำอาง และเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด คิดเป็นประมาณร้อยละ 33.14 26.08 และ 11.14 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าเคมีภัณฑ์ในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค. - ต.ค.) ของปี 2558 มีมูลค่ารวม 11,295.064 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น มูลค่าที่ลดลง 1,101.784 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด คิดเป็นประมาณร้อยละ 25.40 และ 21.38 ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2559 คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.86 จากปี 2558 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกให้เป็นไปตามเป้า ความชัดเจนของการลงทุนในภาครัฐ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน รวมทั้งการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อปรับตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หากยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจเน้นการพึ่งพาสินค้าในประเทศและลดการนำเข้าของประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย

พลาสติก สรุปภาวะเศรษฐกิจปี 2558 ผลิตภัณฑ์พลาสติกคาดว่าจะมีปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) เท่ากับ 1,085,942 ตัน ลดลงร้อยละ 4.37 เมื่อเทียบกับปีก่อน สินค้าที่มีการส่งออกลดลง ได้แก่ ใยยาวเดี่ยว พลาสติกปูพื้น และของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า โดยลดลง ร้อยละ 148.42 19.27 และ 6.49 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนการนำเข้าคาดว่ามีปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) เท่ากับ 622,279 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.04 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ พลาสติกปูพื้น เครื่องประกอบของอาคาร หลอดหรือท่อ และใยยาวเดี่ยว โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.15 19.70 12.83 และ10.73 ตามลำดับ

แนวโน้มปี 2559 คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวโดยมาตรการกระตุ้นค่าใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่น่าจะมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์พลาสติกในเชิงบวก

ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.)ปี 2558 มูลค่าการส่งออกและนำเข้าโดยรวมมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 28.85 และ 20.24 ตามลำดับ คาดว่าเกิดจากการปรับลดลงของระดับราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่น

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยในปี 2558 คาดว่ามูลค่าการส่งออกและนำเข้าจะมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 27.51 และ 18.39 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2557 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากการปรับลดลงอย่างมากของระดับราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรม รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตาม

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ การผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คาดว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 3.66 5.90 และ 2.09 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อการส่งออกมีทิศทางลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สำหรับกระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.22 และ 7.09 ตามลำดับ เป็นผลมาจากความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ เช่น อาหารสำเร็จรูป เครื่องสำอาง กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งขยายตัวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของภาครัฐ

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ปี 2559 คาดว่า ภาพรวมจะขยายตัวได้ โดยการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าของประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลิตกระดาษพิมพ์เขียน ยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง ประกอบกับการนำเข้ากระดาษจากต่างประเทศมาใช้ทดแทน

เซรามิก การจำหน่ายเซรามิกในประเทศ ปี 2558 ในภาพรวมลดลงจากการชะลอตัวของโครงการอสังหาริมทรัพย์ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งปัญหาภาระค่าครองชีพ และหนี้สินครัวเรือนของผู้บริโภคอยู่ในระดับสูง รายได้ของเกษตรกรลดลงจากราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย โดยการจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ในประเทศมีประมาณ 169.43 ล้านตารางเมตร และการจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์ ในประเทศมีประมาณ 4.08 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน การจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ ในประเทศ ลดลงร้อยละ 3.29 และ 9.33 ตามลำดับ

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ปี 2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ในการลดค่าธรรมเนียมและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ การขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เช่น รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รวมทั้งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้มีแนวโน้มความต้องการภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้อุตสาหกรรมเซรามิกขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน

ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ปี 2558 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 36.34 ล้านตัน และปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 37.19 ล้านตัน จากกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ทั้งหมดในประเทศ 56 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน การผลิตปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)ลดลงร้อยละ 13.43 และร้อยละ 15.64 ตามลำดับ ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์หดตัวลงจากปีก่อนค่อนข้างมาก เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปี ประกอบกับที่ดินตามบริเวณแนวรถไฟฟ้าทั้งที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างมีราคาสูงขึ้นมากผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงต้องชะลอการขยายโครงการต่างๆ ลง ทำให้

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 241,600 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษมีเงินลงทุน ภาคก่อสร้างหดตัว ส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง และมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ที่ลดลงตาม

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2559 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและการเร่งลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ให้ภาคเอกชนได้ขยายการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์บนที่ดินที่ยังมีราคาไม่สูงมากเท่าที่ดินในเขตเมืองหรือในบริเวณแนวรถไฟฟ้าที่เปิดใช้งานแล้ว

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกลุ่มสิ่งทอ สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเส้นใยสิ่งทอฯ ปรับตัวลดลงจากความต้องการใช้ในประเทศ เนื่องจากผู้ผลิตมีสต๊อกค่อนข้างมาก ในขณะที่การทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) ลดลง ทั้งในส่วนการผลิตและการจำหน่าย ประกอบกับคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกหลักลดลง โดยเฉพาะจากเวียดนาม และจีน ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลัก สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่มการผลิตลดลงในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ อย่างไรก็ตาม การผลิตและจำหน่ายในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถัก ยังขยายตัวได้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการส่งเสริมกลยุทธ์ทางการตลาดของภาคเอกชน

การผลิตและการส่งออกปี 2559 คาดว่า จะขยายตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 หากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและประเทศคู่ค้าขยายตัว ในส่วนการจำหน่ายในประเทศ จะมีการทำการตลาดโดยการลดราคาตามห้างสรรพสินค้าและย่านการค้าต่าง ๆ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐโดยเฉพาะการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็น Sport hub เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กลางด้านกีฬาในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในช่วงภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและโลกที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ปี 2558 มีประมาณ 5.96 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับ ปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.18 ซึ่งปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนไม้ที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูงมากนัก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกเครื่องเรือนไม้ไม่เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับการผลิต

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในปี 2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะช่วยเร่งให้มีการโอนและจดจำนองมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความต้องการสินค้าตกแต่งบ้าน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ยา การผลิตยา ในปี 2558 คาดว่าจะมีปริมาณ 37,961.16 ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.19 โดยเฉพาะในส่วนของยาน้ำและยาผง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องทำให้มียอดการสั่งซื้อยาจากทั้งโรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยาลดลง ถึงแม้ว่าการควบคุมการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการข้าราชการ จะส่งผลให้โรงพยาบาลรัฐซึ่งเป็นตลาดหลักของผู้ผลิตยาหันมาซื้อยาที่ผลิตในประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกกว่ายานำเข้า แต่ยอดการสั่งซื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการหันมาผลิตเฉพาะยาตามใบสั่งซื้อเท่านั้น

การผลิตและการจำหน่ายยาในประเทศ ปี 2559 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากภาครัฐยังคงมีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการของข้าราชการ ทำให้ต้องมีการผลิตยาชื่อสามัญในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีราคาแพงและไทยสามารถผลิตได้เอง

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ปี 2558 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 5.15 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ ได้แก่ ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ยางในรถบรรทุกและรถโดยสาร และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับปีก่อนคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ถึงแม้ว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยในไตรมาสที่ 2 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางใน ปี 2559 ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมยางยานพาหนะในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับการส่งออกในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต่ออายุการให้ GSP แก่สินค้าไทยออกไปอีก 4 ปี 5 เดือน โดยได้มีการลงนาม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ซึ่งจะมีผลหลังจากลงนามแล้ว 30 วัน และผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิการคืนภาษีย้อนหลัง 2 ปีจากการต่ออายุ GSP ครั้งนี้

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ดัชนีผลผลิตการฟอกและตกแต่งหนังฟอก ปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น จีน มีแนวโน้มชะลอตัวจากการปรับนโยบายเศรษฐกิจโดยเน้นพึ่งพาสินค้าในประเทศ และลดการนำเข้า ทำให้กำลังซื้อลดลง อีกทั้งอุปสงค์ภายในประเทศลดลง ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง

คาดการณ์ปี 2559 การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง คาดว่า จะขยายตัวได้ หากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) นอกจากนี้การขับเคลื่อนของนโยบายภาครัฐ และการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการบริโภคโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติตามการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนอาจจะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าในกลุ่มรองเท้าและเครื่องหนัง

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับปี 2558เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนคาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.43 ตามคำสั่งซื้อโดยเฉพาะเครื่องประดับแท้อาทิ สร้อย แหวน จี้ และต่างหู จากตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เยอรมนี จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกอบกับมีการผลิตเพื่อทดแทนการส่งออกสินค้าจากสต๊อกด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 11,405.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.14 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน แต่หากไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่า จะมีมูลค่า7,378.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยับตัวเพียง ร้อยละ 1.06 โดยยังมีฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ

การผลิต ในปี 2559 คาดว่า การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับจะหดตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเนื่องจากผู้ประกอบการเน้นที่จะส่งออกสินค้าจากสต๊อกทดแทนการผลิต โดยจะมีการผลิตในบางสินค้าเพื่อชดเชยสต๊อกบางส่วน

อาหาร ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2558 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.42 เนื่องจากการผลิตน้ำตาล และปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น แต่หากไม่รวมการผลิตน้ำตาล การผลิตในภาพรวมจะชะลอตัวลงจากปีก่อนร้อยละ 0.71 เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศยังคงชะลอตัวและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคยังไม่ดีนัก ส่วนการส่งออกปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.66 จากสินค้ากลุ่มประมง กลุ่มข้าวและธัญพืช จากความคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าลดลง ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้การค้าการลงทุนซบเซาตามไปด้วย ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่เป็นประเทศคู่ค้าหลัก มีการเติบโตในอัตราที่ลดลง

คาดการณ์แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2559 คาดว่า การผลิตในภาพรวมจะมีอัตราการเติบโตเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0-5 ส่วนการส่งออกในภาพรวมปี 2559 จะมีการเติบโตชะลอตัวลงร้อยละ -3 - 0 จากแนวโน้มการประกาศตัดสิทธิ์ GSPที่อาจส่งผลต่อระดับราคาสินค้าที่แพงขึ้น การพิจารณาการประกาศปรับระดับการค้าจากปัญหาในเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป อุปสงค์จากจีนที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีน และราคาส่งออกปรับลดตามระดับราคาน้ำมัน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ