ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.8 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 0.6 แต่ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ และการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตรถยนต์ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนสายพานการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รุ่นใหม่ของผู้ผลิตรายใหญ่เสร็จสิ้นลงในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกปรับตัวลดลงตามการลดลงของปริมาณการส่งออก กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ ปิโตรเลียม ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เคมี และยาสูบ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง ยางและพลาสติก ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ หลอดอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องจักรและอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 2.9 ซึ่งขยายตัวจากปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 0.4 และเศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0
สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 พบว่า บางตัวมีการปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต โดยอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เลื่อยไม้และการไสไม้ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า เป็นต้น และเมื่อพิจารณาตัวเลขมูลค่าการส่งออกในภาพรวมหดตัวร้อยละ
5.3 (ม.ค.- ต.ค.58) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 เช่นกัน
โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้คาดการณ์ ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2559 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง ดังนี้ ปัจจัยสนับสนุนสำหรับเศรษฐกิจไทย
- การเร่งขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากกรอบการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 ในวงเงิน 390,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกรอบการขาดดุล 250,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2558 และแนวโน้มความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน
- แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ระยะที่ 3) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 รัฐบาลได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญๆ เพิ่มเติมจำนวน 6 มาตรการ ประกอบด้วย (1) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ (2) มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในระยะเร่งด่วน (3) มาตรการการเงินการคลังเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ (4) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ (5) มาตรการเร่งรัดการลงทุนของ BOI (6) มาตรการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวสวนยาง แม้ว่าแรงขับเคลื่อนจากวงเงินสินเชื่อและวงเงินงบประมาณส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2558 ก็ตาม แต่แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาษีจะยังคงมีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2559
- การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกในปี 2559 เริ่มกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น
- การอ่อนค่าของเงินบาทซึ่งจะช่วยสนับสนุนรายรับและสภาพคล่องในรูปเงินบาทของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง
- การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของราคาสินค้าเกษตร
- ราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งช่วยสนับสนุนกำลังซื้อที่แท้จริงของประชาชนและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
- การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ในปี 2559 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยทั้งสิ้นประมาณ 32.5 ล้านคน สร้างรายรับจากการท่องเท่ยวรวมประมาณ 1.65 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 7.5 และร้อยละ 9.3 ตามลำดับ
ปัจจัยเสี่ยง
- การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ โดยประเทศจีนยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงเร็วกว่าการคาดการณ์ ในขณะที่ประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอโดยเฉพาะประเทศที่มีหนี้สินต่างประเทศสูงอีกทั้งพึ่งพิงการส่งออกสินค้าขั้นปฐมและค่าเงินอ่อนค่าอย่างรวดเร็วยังมีความเสี่ยงต่อวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เงื่อนไขดังกล่าวอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าในตลาดโลกฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
- การอ่อนค่าของสกุลเงินสำคัญๆ ในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง โดยเฉพาะเงินหยวน ซึ่งมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามนโยบายการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการเงิน การลดลงของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ และความจำเป็นในการดูแลสภาพคล่องในประเทศซึ่งจะทำให้การแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินมีข้อจำกัดมากขึ้น
- ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ยังมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ปริมาณน้ำที่ใช้ได้ในเขื่อนขนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)
ดัชนีทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 0.01 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2558 มีค่า 108.84 และในปี 2557 มีค่า 108.86 โดยมีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เลื่อยไม้และการไสไม้ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2557
สำหรับแนวโน้มปี 2559 คาดว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเริ่มส่งสัญญานที่ดีขึ้นอย่างช้าๆ ส่งผลต่อการส่งออกที่คาดว่าจะดีขึ้น การเร่งขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น
ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 0.04 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2558 มีค่า 108.30 และในปี 2557 มีค่า 108.26 โดยมีอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557
สำหรับแนวโน้มปี 2559 คาดว่า ดัชนีการส่งสินค้าจะขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งจะสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 6.78 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2558 มีค่า 113.48 และในปี 2557 มีค่า 121.74 โดยมีอุตสาหกรรมส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับรถยนต์ ยานยนต์ แปรรูปผลไม้และผัก ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า ปูนซีเมนต์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2557
สำหรับแนวโน้มปี 2559 คาดว่า ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังจะเพิ่มขึ้นจากปี 2558 เนื่องจากในหลายอุตสาหกรรมต้องมีการปรับปริมาณสินค้าคงคลังให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับภาวะด้านอุตสาหกรรม ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องรักษาระดับของสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อการจำหน่ายต่อไป
อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 โดย10 เดือนแรกของปี 2558 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 61.3 และในปี 2557 อยู่ที่ระดับร้อยละ 62.1 โดยมีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557
สำหรับแนวโน้มปี 2559 คาดว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตจะปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากในหลายอุตสาหกรรมน่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับการผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้อุปโภคบริโภค เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในปี 2559
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเฉลี่ยรวมมีค่า 75.5 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 (74.1) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำโดยรวม และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 ทั้ง 3 ดัชนี ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 แต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตยังไม่ดี อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2558 เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย และมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ในอนาคตอันใกล้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของระฐบาล อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก และการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นพร้อมกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวต่ำ
เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 เฉลี่ยมีค่า 64.8 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 (64.1) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ดี และขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 เฉลี่ยมีค่า 70.2 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 (67.8) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวการณ์จ้างงานโดยรวมยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ
ดัชนีความเชื่อมั่นในผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 มีค่า 91.5 เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 (90.6) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจในรายได้ในอนาคตของตน แต่ระดับความมั่นยังคงสูงกว่าความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมและโอกาสหางานทำ
จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2558 มีค่า 48.6 และในปี 2557 มีค่า 47.9 โดยค่าเฉลี่ยดัชนีทั้ง 10 เดือน ในปี 2558 มีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจไม่ดี ผู้ประกอบการมองว่าภาวการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตมีแนวโน้มที่ไม่ดี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 คือ การลงทุนของบริษัท
สำหรับแนวโน้มปี 2559 คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจจะเพิ่มขึ้นจากปี 2558 จากความคาดหวังว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเริ่มส่งสัญญานที่ดีขึ้นอย่างช้าๆ และเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)
จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 85.6 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 (86.7) การที่ค่าดัชนีอยู่ระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี นอกจากนี้เดือนตุลาคม 2558 ดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 84.7 จากระดับ 82.8 ในเดือนกันยายน 2558 โดยเป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นขององค์ประกอบ ยอดคำสังซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ เนื่องจากการสำรวจพบว่า ยอดขายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าไม่คงทน เนื่องจากในช่วงท้ายปีผู้ประกอบการต่างจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ รวมทั้งยังได้รับผลดีจากการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และผู้ประกอบการมีความเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม
นอกจากนี้ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ ขอให้ภาครัฐเพิ่มวงเงินสินเชื่อแก่ SMEs เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น สนับสนุนให้นักลงทุนไทยไปลงทุน
ในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อเปิดตลาดใหม่และสร้างโอกาสในการแข่งขัน ส่งเสริมการพัฒนาทักษะและศักยภาพแรงงานไทย ทั้งสายวิทยาศาสตร์และสายอาชีวศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจต่างๆ และเร่งแก้ไขปัญหาภัยแล้งรวมถึงให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
คาดว่าในปี 2559 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2558 เนื่องจาก การเร่งขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและราคาส่งออก จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น และผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นดีขึ้นจากปี 2558
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 153.6 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนกันยายน 2558 ร้อยละ 0.1 ที่ระดับ 153.8 ตามการหดตัวของเงินทุนจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ส่วนใหญ่และพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 มีค่าเฉลี่ย 152.2 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 5.7 ที่ระดับ 143.9
ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 127.1 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากเดือนกันยายน 2558 ร้อยละ 0.3 ที่ระดับ 127.5 ตามการหดตัวของการนำเข้า ณ ราคาคงที่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่
ดัชนีพ้องเศรษฐกิจในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 มีค่าเฉลี่ย 126.4 ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 0.2 ที่ระดับ 126.7
ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2558 มีค่าเท่ากับ 112.0 และในช่วงเดียวกันปี 2557 มีค่าเท่ากับ 111.4 ทั้งนี้เครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 คือ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าในทุกกิจการ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ดีเซลและแก๊สโซฮอล์และการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ณ ราคาคงที่
สำหรับแนวโน้มปี 2559 คาดว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2558 เนื่องจากการฟื้นของเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออกที่คาดว่าน่าจะกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำซึ่งจะสนับสนุนอำนาจซื้อของประชาชนและภาคธุรกิจและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ ณ ราคาคงที่และการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ พบว่าการลงทุนภาคเอกชนในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนในปี 2558 มีค่าเท่ากับ 118.9 และในช่วงเดียวกันของปี 2557 มีค่าเท่ากับ 117.7
หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นเพียงรายการเดียวจากช่วงเดียวกันของปี 2557 คือปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ส่วนปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ และการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557
สำหรับแนวโน้มปี 2559 คาดว่า การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2558 เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาทซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวเร่งขึ้นและส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้น
จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิต โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม ปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนมีค่า 106.4 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่ระดับ 107.3 เป็นผลมาจากการลดลงของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มตามราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักแปรรูป ผลไม้แปรรูป รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้า เชื้อเพลิง กลุ่มอาหารสดและพลังงาน
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 ดัชนีเฉลี่ยทั้ง 10 เดือนมีค่า 102.6 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 (140.6) เป็นผลมาจากการลดลงของราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมและหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง
สำหรับแนวโน้มปี 2559 คาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตจะทรงตัวจากปี 2558 เนื่องจากราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มไม่สูงมากนัก
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในปี 2558 (ตัวเลขล่าสุด ณ เดือนธันวาคมซึ่งเป็นตัวเลขประจำเดือนตุลาคม 2558) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.468 ล้านคนเป็นผู้ที่มีงานทำ 38.086 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.01 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.328 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 0.85)
สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2558 มีจำนวน 6.774 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.79 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
การค้าต่างประเทศในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของทั้งมูลค่าการนำเข้าและมูลค่าการส่งออก ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว โดยการนำเข้าตลอดทั้ง 10 เดือน มีมูลค่าลดลงในระดับที่มากกว่ามูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 9,859.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สถานการณ์การค้าต่างประเทศของปี 2558 ในเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 นั้น การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 350,399.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 180,129.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 170,270.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.32 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 11.27 ส่งผลให้ตลอดทั้ง 10 เดือนของปี 2558 ดุลการค้าเกินดุล 9,859.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับสถานการณ์การส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมนั้นโดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลัก อย่าง ประเทศจีน และกลุ่มประเทศอาเซียน
การส่งออกใน 10 เดือนแรก ของปี 2558 (มกราคม - ตุลาคม) เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเริ่มชะลอตัวลง ประกอบกับราคาสินค้าในตลาดโลก ทั้งสินค้าเกษตร และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องจากการกลั่นปิโตรเลียมที่ปรับลดลง
การส่งออกในเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคมของปี 2558 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 141,795.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 78.72) สินค้าเกษตรกรรม 16,842.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.35) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 13,838.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.68) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง 7,652.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.25)
เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่าการส่งออกของหมวดสินค้าหลักมีมูลค่าลดลงทุกหมวดสินค้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 2.82 สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.42 สินค้าเกษตรกรรมมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 9.45 และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 27.73
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมใน 10 เดือนแรกของปี 2558 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 3.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 10 รายการหลัก ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออก 27,139.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 19.14) ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 26,222.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 18.49) เครื่องใช้ไฟฟ้า 18,891.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 13.32) อัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าการส่งออก 9,544.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.73) เม็ดพลาสติก 6,993.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.93) ผลิตภัณฑ์ยาง 5,815.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.10) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง 5,785.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.08)สิ่งทอ 5,739.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.05) เคมีภัณฑ์ 5,390.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.80) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 4,428.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.12) โดยมูลค่าการส่งออกทั้ง 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 115,949.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 81.77 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด
การส่งออกไปยังตลาดหลักในเดือนมกราคม - ตุลาคม 2558 ซึ่งได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็น ร้อยละ 67.42 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.25 สำหรับการส่งออกไปยังประเทศจีนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.86 มูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 6.54 การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.96 และมูลค่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 7.69
การนำเข้าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 เป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 66,051.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 38.79) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน โดยมีมูลค่า 48,516.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 28.49) สินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่า 26,176.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 15.37) สินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 18,999.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 11.16) สินค้าหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งมีมูลค่า 10,237.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.01) และการนำเข้าสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่า 289.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.17)
โดยมูลค่าการนำเข้าตลอดทั้ง 10 เดือนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าในหมวดสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.12 สินค้ายานพาหนะ และอุปกรณ์ขนส่งมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.61 และสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.84 สำหรับการนำเข้าในหมวดสินค้าทุนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.76 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 6.05 และการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่าลดลงร้อยละ 37.68
การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนมกราคมถึง ตุลาคม 2558 มีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 50.80 เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการนำเข้าสินค้าจากแหล่งนำเข้าหลักทุกแหล่งมีมูลค่าลดลง ยกเว้นการนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.67 สำหรับการนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.05 การนำเข้าจากสหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.45 และ 11.62 ตามลำดับ
สถานการณ์การส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2558 นั้นมีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัวลง ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวลดลง ทั้งราคาสินค้าเกษตร และเชื้อเพลิง โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าหากการส่งออกในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคมมีมูลค่าเฉลี่ย 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน จะทำให้การส่งออกตลอดทั้งปี 2558 หดตัว ร้อยละ 3.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยที่จะสนับสนุนการส่งออกในปี 2559 เช่น การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ นโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนและพัฒนาการผลิตภายในประเทศทั้งภาคอุตสาหกรรม และการบริการ เป็นต้น
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--