สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2558 และแนวโน้มปี 2559(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า )

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2016 15:02 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

Highlight

  • ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปี 2558 มีปริมาณการผลิต 6,662,377 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 1.94 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี มีการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ร้อยละ 131.65 เนื่องจากมีการตั้งโรงงานเหล็กแผ่นกัลวานีล จำนวน 2 โรงงาน คือ บริษัท นิปปอน สตีล แอนด์ ซูมิคิน กัลวาไนซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เจเอฟอี สตีล กัลวาไนซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และทั้ง 2 โรงงานได้มีการผลิตแล้ว แต่เหล็กแผ่นรีดร้อนมีการผลิต ลดลง มากที่สุด ร้อยละ 13.38 รองลงมาคือเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 13.44
  • การจำหน่ายในประเทศ 17,116,251 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 1.28 โดยเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 3.94 แต่เหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.53
  • การนำเข้า ปี 2558 ประมาณ 7,305.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 12.13 โดยเหล็ก แท่งแบน Slab ลดลง ร้อยละ 50.67 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 32.14
การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าปี 2558 มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.94 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปริมาณการผลิต 6,662,377 เมตริกตัน โดยเหล็กทรงยาว ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.35 (ส่วนหนึ่งที่การผลิตเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น ทั้งที่สถานการณ์ของอุตสาหกรรมก่อสร้างยังคงทรงตัว เนื่องจากเหตุผลทางด้านเทคนิค กล่าวคือ วิธีคำนวณการผลิตเหล็กทรงยาว ส่วนหนึ่งจะนำมาจากข้อมูลการนำเข้าวัตถุดิบของเหล็กทรงยาว (เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต) ซึ่งในช่วง 3-4 เดือน ที่ผ่านมามีการนำเข้าเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาเหล็กที่ลดลง ทำให้ผู้ผลิตเหล็กเส้นที่ไม่มีเตาหลอมและใช้วัตถุดิบเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ตมารีด นำเข้าวัตถุดิบมากขึ้น) แต่ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปกลับ มีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 6.16 สำหรับเหล็กทรงแบน มีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 3.79 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 13.38 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 5.62 แต่เหล็กแผ่นเคลือบ กลับมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.31 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 131.65 เนื่องจากมีการตั้งโรงงานผลิตเหล็กแผ่นกัลวานีลขึ้น 2 โรงงาน คือ บริษัท นิปปอน สตีล แอนด์ ซูมิคิน กัลวาไนซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เจเอฟอี สตีล กัลวาไนซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2558 มีประมาณ 17,116,251 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 1.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.53 สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 3.94

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญใน ปี 2558 มีจำนวนประมาณ 724.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก ลดลง ร้อยละ 19.27 เมื่อเทียบกับปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 32.10 โดยผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 34.07 รองลงมาคือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 31.16 โดยเหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 39.53 เหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 36.43 สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 17.51 โดยเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 52.37 และเหล็กแผ่นรีดร้อนกัดกรดและเคลือบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 49.52

การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2558 มีจำนวนประมาณ 7,305.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 12.13 เมื่อเทียบกับปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 24.26 โดยเหล็กแท่งแบน Slab ลดลง ร้อยละ 50.67 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 7.93 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 32.14 แต่เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 7.80 โดยเหล็กแผ่นหนารีดร้อน ลดลง ร้อยละ 27.96 และท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ลดลง ร้อยละ 19.92

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2558 มีประมาณ 6,662,377 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 1.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตที่ลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 13.44 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 13.38 แต่ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.35 เนื่องจากเหตุผลทางด้านเทคนิค กล่าวคือ วิธีคำนวณการผลิตเหล็กทรงยาว ส่วนหนึ่งจะนำมาจากข้อมูลการนำเข้าวัตถุดิบของเหล็กทรงยาว (เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต) ซึ่งในช่วง 3-4 เดือน ที่ผ่านมามีการนำเข้าเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากราคาเหล็กที่ลดลง ทำให้ผู้ผลิตเหล็กเส้นที่ไม่มีเตาหลอมและใช้วัตถุดิบเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ตมารีด นำเข้าวัตถุดิบมากขึ้น) สำหรับการจำหน่ายในประเทศประมาณ 17,116,251 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 1.28 โดยเหล็กทรงแบนลดลง ร้อยละ 3.94 แต่เหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.53 สำหรับมูลค่าการส่งออก ลดลง ร้อยละ 19.2 มูลค่าการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 12.13

แนวโน้ม

คาดการณ์ว่าสถานการณ์เหล็กในปี 2559 ในส่วนการผลิตจะทรงตัว คือ 6.66 ล้านตัน โดยความต้องการใช้เหล็กในประเทศอยู่ในช่วง 0-3% ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ความต้องการใช้เหล็กสูงขึ้น คือ การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เนื่องจากการก่อสร้างของภาคเอกชนยังคงชะลอตัวอยู่ เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการซื้อและลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพทย์ สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว แต่เหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นเหล็กนำเข้า จึงไม่ส่งผลต่อการผลิตในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่น่าจับตามอง คือ ประเทศจีน ที่ประสบปัญหา over supply และส่งสินค้าเข้ามายังหลายประเทศของโลกซึ่งส่งผลต่อประเทศต่างๆ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ ทำให้หลายประเทศต่างส่งสัญญาณให้จีนลดการผลิตลง ซึ่งปัจจุบันจีนยังไม่มีท่าทีที่จะลดการผลิต จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่น่าจับตามองว่าจีนจะลดการผลิตหรือไม่

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ