สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2558 และแนวโน้มปี 2559(อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2016 15:44 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2558 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียปรับตัวผันผวนตามราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าโดยภาพรวมราคาเฉลี่ยปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การผลิต

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2558 มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับการเป็นผู้นำทางธุรกิจในการพัฒนาสินค้ากลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในภูมิภาคอาเซียน

โครงการเพิ่มกำลังการผลิตมอนอเมอร์ซิลิโคนจาก 70,000 ตัน/ปี เป็น 105,000 ตัน/ปี และโครงการเพิ่มกำลังการผลิตพอลิเมอร์ซิลิโคนจาก 54,000 ตัน/ปี เป็น 74,000 ตัน/ปี โดยส่วนขยายของโรงงานจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2560

การเจรจาร่วมทุนโครงการผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide, PO) และพอลิออล(Polyols) ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งสองจะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และสารเคลือบ กำลังการผลิต 200,000 ตัน/ปี รวมถึงมีแผนการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตพอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น (LLDPE) เป็น 800,000 ตัน/ปี มีกำหนดเปิดดำเนินการในปี 2561

การเปิดดำเนินการโรงงานผลิตโซเดียมไบคาร์บอเนต กำลังการผลิต 100,000 ตัน/ปี เพื่อตอบสนองการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะในตลาดทวีปยุโรป

โครงการ Upstream Project for Hygiene & Value-Added Product (UHV) เป็นการปรับแผนการผลิตเพื่อมุ่งสู่การผลิตสินค้าปิโตรเคมีเกรดพิเศษ ซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายปี 2558 โดยโพรพิลีนที่ผลิตได้จากโครงการจะใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโครงการขยายกำลังการผลิต PP เพิ่มขึ้นอีก 300,000 ตัน/ปี (PP 160,000 ตัน/ปี และคอมพาวด์ของ PP 140,000 ตัน/ปี) โดยโครงการส่วนขยายนี้มีกำหนดเสร็จในปี 2560

โครงการร่วมทุนกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อก่อสร้างโรงงานผลิตพอลิยูริเทน(PU) ในไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกัน หากโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีกำลังการผลิตโพรพิลีนออกไซด์ (PO) และพอลิอีเทอร์พอลิออล200,000 และ 130,000 ตัน/ปี ตามลำดับ ทั้งนี้ พอลิออลจะใช้เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตโฟมPU ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนอน ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.)ปี 2558 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่ารวม6,058.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 28.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของปี 2558 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คาดว่าจะมีมูลค่ารวม7,269.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 27.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2558 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีมูลค่ารวม2,450.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 20.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในปี 2558 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คาดว่าจะมีมูลค่ารวม2,941.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯมีมีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 18.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ราคาสินค้า

ราคาเอธิลีนในตลาดเอเชียในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.)ปี 2558 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 31.77 บาทต่อกิโลกรัม และราคาโพรพิลีนเฉลี่ยอยู่ที่ 30.16 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาของผลิตภัณฑ์เอธิลีนและราคาโพรพิลีนมีการปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่ระดับราคา 42.96 และ 47.93 บาท/กิโลกรัมตามลำดับ

ในช่วง10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) ปี2558 ราคาเม็ดพลาสติก (ราคาเฉลี่ย SE Asia CFR) LDPE, HDPE, และ PP มีระดับราคาเฉลี่ยอยู่ที่43.29, 42.82 และ 41.44 บาท/กิโลกรัมตามลำดับ ทั้งนี้ LDPE , HDPE และ PP มีระดับราคาเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2557 ที่ระดับราคา 52.53, 51.06 และ 51.47 บาท/กิโลกรัมตามลำดับ

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและแนวโน้ม

สรุป

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.)ปี 2558 มูลค่าการส่งออกและนำเข้าโดยรวมมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 28.85 และ 20.24 ตามลำดับ คาดว่าเกิดจากการปรับลดลงของระดับราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่น

แนวโน้ม

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยในปี 2558 คาดว่ามูลค่าการส่งออกและนำเข้าจะมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 27.51 และ 18.39 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2557 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากการปรับลดลงอย่างมากของระดับราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรม รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตาม ดังนั้นในระยะสั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีควรปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนในระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงควรลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (Specialty Products )

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2559 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามการคาดการณ์การขยายตัวของ GDP และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของ GDP ปี 2559 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ประมาณการแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงร้อยละ 3.3-4.3 (ข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 90/2558 วันที่ 28 ตุลาคม 2558) อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของระดับราคาน้ำมันดิบ ภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาค และภาวะเศรษฐกิจโลก การขยายตัวของอุตสาหกรรม8 ต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมปลายทาง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ