อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คาดว่า ดัชนีผลผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษลูกฟูก ลดลง ในส่วนกระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะเพิ่มขึ้นตามทิศทางการส่งออก อย่างไรก็ตาม การส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษในภาพรวม อาจอยู่ในภาวะทรงตัว สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ในส่วนหนังสือและสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าลดลงเช่นเดียวกัน
การผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คาดว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 3.66 5.90 และ 2.09 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เนื่องจากความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อการส่งออกมีทิศทางลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สำหรับกระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.22 และ 7.09 ตามลำดับ เป็นผลมาจากความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ เช่น อาหารสำเร็จรูป เครื่องสำอาง กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งขยายตัวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของภาครัฐ
การตลาดและการจำหน่าย
การค้าระหว่างประเทศ
1.เยื่อกระดาษ คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 167 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.41 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (ตารางที่ 2) เนื่องจากความต้องการของคู่ค้าในสหรัฐอเมริกา และยุโรป เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปฝรั่งเศสจากความต้องการเยื่อกระดาษของโรงงานผลิตกระดาษของผู้ประกอบการไทยในฝรั่งเศส
2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 1,646 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 0.93 อยู่ในภาวะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยมีผลิตภัณฑ์สำคัญ ได้แก่ กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ที่ส่งไปยังคู่ค้า ได้แก่ เวียดนาม เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ยังมีการขยายตัวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน อย่างไรก็ตาม การส่งออกกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษชำระ และกระดาษอนามัย กลับมีทิศทางลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ จีน มาเลเซีย และออสเตรเลีย ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษมีทิศทางลดลง
3. หนังสือและสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 17.92 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยสิ่งพิมพ์ประเภทโบรชัว แผ่นปลิว และภาพพิมพ์และภาพถ่าย มีการส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสนใจสื่อดิจิตอลมากขึ้น
1. เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 689 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.01 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลมาจากการนำเข้า เยื่อกระดาษใยยาวประเภทไม้สนจากยุโรป ซึ่งมีราคาถูกลงในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการนำเข้ามาสต็อกไว้ ประกอบกับเพื่อรองรับการผลิตกระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
2. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 1,493 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.30 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากมีการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียน ราคาถูกจากจีนเข้ามาใช้ทดแทน ประกอบกับการนำเข้ากระดาษประเภทอื่น เช่น กระดาษแข็ง กระดาษชำระ จากจีน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น
3. สิ่งพิมพ์ คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 217 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.49 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ประเภทวารสาร นิตยสาร มีการนำเข้าลดลง เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง ประกอบกับความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสนใจสื่อประเภทดิจิตอลมากขึ้น
นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ซึ่งจะส่งผลให้รูปแบบการติดต่อสื่อสาร การผลิต การดำเนินธุรกิจ และการอุปโภคบริโภค ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมไปสู่การทำกิจกรรมผ่านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร โดยรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลอย่างครบวงจร และปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในด้านต่าง ๆ จากการแข่งขันเชิงราคา ไปสู่การแข่งขันเชิงการสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ (Service Innovation) ที่ผู้บริโภคพอใจสูงสุด ดังนั้น ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์จำเป็นต้องปรับตัวไปสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์สร้างสรรค์ที่ผสมผสานสิ่งพิมพ์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าด้วยกัน
มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs และมาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนขยายตัวตามไปด้วย
กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อร้องเรียนของสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย ที่ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีขาออกไม้ยูคาลิปตัสจาก ร้อยละ 0 เป็นเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบ ภายหลังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไม้ยูคาลิปตัส ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ เนื่องจากมีกลุ่มเอกชนทำการ รับซื้อไม้ยูคาลิปตัสจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าจำหน่ายให้โรงงานผลิตเยื่อกระดาษในประเทศ เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น
สรุปภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คาดว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง จากความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อการส่งออกมีทิศทางลดลง สำหรับกระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ คาดว่า ดัชนีผลผลิตจะเพิ่มขึ้น จากความต้องการบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศซึ่งขยายตัวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของภาครัฐ
การส่งออก คาดว่า เยื่อกระดาษ จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของคู่ค้าในสหรัฐอเมริกา และจากความต้องการเยื่อกระดาษของโรงงานผลิตกระดาษของผู้ประกอบการไทยในฝรั่งเศส สำหรับกระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะมีมูลค่าลดลง จากการส่งออกกระดาษ พิมพ์เขียน กระดาษชำระ และกระดาษอนามัย ไปยัง จีน มาเลเซีย และออสเตรเลีย ลดลง นอกจากนี้ ในส่วนหนังสือและสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าลดลงเช่นกัน
การนำเข้า คาดว่า เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ จะมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น จากราคาเยื่อกระดาษใยยาวประเภทไม้สนที่ลดลงในช่วงต้นปี ทำให้มีการเก็บสินค้าในสต๊อกเพื่อรองรับการผลิตกระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการนำเข้ากระดาษประเภทกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษชำระ จากต่างประเทศเข้ามาใช้ทดแทน สำหรับสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้าลดลง เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้มีการระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ปี 2559 คาดว่า ภาพรวมจะขยายตัวได้ โดยการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าของประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลิตกระดาษพิมพ์เขียน ยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง ประกอบกับการนำเข้ากระดาษจากต่างประเทศมาใช้ทดแทน
การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในเอเชีย เช่น จีน และ ญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรม ต่อเนื่องขยายตัวตามไปด้วย สำหรับหนังสือและสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะชะลอตัวจากการปรับตัวของผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นการผลิตสิ่งพิมพ์ที่ผสมสื่อดิจิตอลและเทคโนโลยีเข้าไปในงานผลิต ตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
การนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ คาดว่า จะทรงตัว ในส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ จะชะลอตัวเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเยื่อใยสั้นที่สามารถใช้ทดแทนการนำเข้า เยื่อใยยาวของผู้ประกอบการรายใหญ่ สำหรับสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะชะลอตัวเช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นผล มาจากนิตยสารชื่อดังระดับโลกที่ทยอยปิดตัวในช่วงปลายปี 2558 ประกอบกับผู้บริโภคลดภาระการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--