สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2558 และแนวโน้มปี 2559(อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2016 15:55 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์หดตัวลงต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยมีปริมาณการผลิตปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากภาคก่อสร้างของไทยหดตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลงตัวตั้งแต่ช่วงต้นปีสำหรับการส่งออกขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์หันมาวางแผนการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้นจากการที่ตลาดในประเทศหดตัวลงโดยยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว

การผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ปี 2558 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 36.34 ล้านตัน และปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 37.19 ล้านตัน จากกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ทั้งหมดในประเทศ 56 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน การผลิตปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)ลดลงร้อยละ 13.43 และร้อยละ 15.64 ตามลำดับ ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ หดตัวลงจากปีก่อนค่อนข้างมาก เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปี ประกอบกับที่ดินตามบริเวณแนวรถไฟฟ้าทั้งที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างมีราคาสูงขึ้นมากผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงต้องชะลอการขยายโครงการต่างๆ ลง ทำให้ภาคก่อสร้างหดตัว ส่งผลให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง และมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ที่ลดลงตาม

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศปี 2558 คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายรวม 32.37 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.55 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 31.82 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 14.34 จะเห็นได้ว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศหดตัวลงค่อนข้างมาก แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะ ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้บริโภคทั่วไปได้ ซึ่งตลาดในประเทศที่หดตัวทำให้มีการขยายตัวของการส่งออกในทางอ้อม เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตไม่สามารถปรับลดปริมาณการผลิตลงได้มากนัก เพราะจะไม่คุ้มทุน

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกรวม 743.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.37 โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ดมูลค่า 147.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกปูนเม็ดลดลงร้อยละ 0.83 ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีมูลค่าการส่งออก 595.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.54 ในภาพรวมการส่งออกปูนซีเมนต์ของไทยปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากตลาดในประเทศหดตัวลงจากภาคก่อสร้างที่ชะลอตัว บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์จึงหันมาวางแผนการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะต้องยอมรับในสัดส่วนของกำไรที่ลดลงก็ตาม โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ เมียนมาร์ รองลงมา คือ กัมพูชา ลาวบังคลาเทศ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ

การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ในปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่า 5.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 16.76 โดยแบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้าปูนเม็ด 0.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 5.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อน จะมีมูลค่าการนำเข้าปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 360.00 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 19.63 โดยการนำเข้าส่วนหนึ่งจะเป็นการนำเข้าอะลูมินัสซีเมนต์ เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ ซึ่งแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ เนเธอร์แลนด์รองลงมา คือ จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และฝรั่งเศส ตามลำดับ และการนำเข้าอีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าปูนซีเมนต์ชนิดอื่นๆ เพื่อการทดสอบ

ราคาสินค้า

ราคาปูนซีเมนต์ในปี 2558 จะทรงตัวเนื่องจากปูนซีเมนต์ถูกกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเมื่อปี 2552 หากบริษัท ผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายต้องการจะปรับขึ้นราคาจะต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน ประกอบกับการมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์สูงกว่าความต้องการใช้ในประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัทผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ ซ้ำยังต้องมีการวางแผนการส่งออกที่ดีเพื่อไม่ให้มีปริมาณปูนซีเมนต์คงค้างในสต็อกมากจนเกินไปอีกด้วย

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลไม่มีมาตรการ/นโยบายรองรับสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยตรง แต่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งรัดการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2558หดตัวลงต่อเนื่องตลอดทั้งปีเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอการลงทุนลง เนื่องจากผู้บริโภคส่วนหนึ่งไม่มีกำลังซื้อและอีกส่วนหนึ่งไม่มีความมั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศจึงไม่ซื้อสินค้าชิ้นใหญ่เช่นอสังหาริมทรัพย์

ในส่วนของการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดในปีนี้ยังคงเป็นเมียนมาร์และกัมพูชา ถึงแม้ว่ากัมพูชาจะปรับลดปริมาณการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงค่อนข้างมากตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมาก็ตาม สำหรับการนำเข้า ส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าอะลูมินัสซีเมนต์เนื่องจากไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าปูนซีเมนต์เพื่อการทดสอบ ซึ่งมีมูลค่าลดลง เนื่องจากภาคก่อสร้างของไทยในภาพรวมหดตัวลง

แนวโน้ม

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2559 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและการเร่งลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ให้ภาคเอกชนได้ขยายการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์บนที่ดินที่ยังมีราคาไม่สูงมากเท่าที่ดินในเขตเมืองหรือในบริเวณแนวรถไฟฟ้าที่เปิดใช้งานแล้ว

สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยยังคงมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยในปริมาณมาก เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศตนที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถึงแม้ว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2559 ก็จะไม่กระทบต่อปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ เนื่องจากไทยมีกำลังการผลิตที่เกินความต้องการใช้ในประเทศค่อนข้างมากอยู่แล้ว

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ