สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2558 และแนวโน้มปี 2559(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2016 15:57 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเส้นใยสิ่งทอฯ ปรับตัวลดลงจากความต้องใช้ในประเทศ เนื่องจากผู้ผลิตมีสต๊อกค่อนข้างมาก ในขณะที่ การทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) ลดลง ทั้งในส่วนการผลิตและการจำหน่าย ประกอบกับคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกหลักลดลง โดยเฉพาะจากเวียดนาม และจีน ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลัก สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่มการผลิตลดลงในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ อย่างไรก็ตาม การผลิตและจำหน่ายในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถัก ยังขยายตัวได้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการส่งเสริมกลยุทธ์ทางการตลาดของภาคเอกชน

การผลิตและการจำหน่าย

กลุ่มสิ่งทอ ปี 2558 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เส้นใยสิ่งทอฯ และการทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน คาดว่า จะมีการผลิตลดลง ร้อยละ 2.58 4.09 และ 4.56 ตามลำดับ ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย ในส่วนการจำหน่ายเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน การจำหน่ายเส้นใยสิ่งทอฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.07 แต่ในผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ และการทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) มีการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 1.55 และ 5.89 ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตที่ลดลง ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากตลาดนำเข้าหลักผ้าผืนจากไทย

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ปี 2558 เมื่อพิจารณาจากการผลิตผ้าและสิ่งของที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถัก) และการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ) ลดลง ร้อยละ 0.20 และ 5.24 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ในส่วนการจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอลดลง ร้อยละ 4.59 ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายเสื้อผ้าถักเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.78 เป็นผลจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น กิจกรรมBike for Mom , Bike for Dad และการส่งเสริมยอดขายที่มีการกระตุ้นตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ นอกจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็น Sport hub เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กลางด้านกีฬาในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในช่วงภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้

การตลาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปี 2558 คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 6,896.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 7.56 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลจากการส่งออกลดลงในกลุ่มสิ่งทอ ร้อยละ 7.71 และกลุ่มเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 7.31 โดยลดลงในตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อาเซียน และสหภาพยุโรป สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญ ได้แก่

1. กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 4,247.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.71 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ในผลิตภัณฑ์ผ้าผืนและด้าย เคหะสิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าปักและผ้าลูกไม้ ผ้าคลุมไหล่และผ้าพันคอ และสิ่งทออื่น ๆ จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ผู้นำเข้าลดการนำเข้า โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 61.59 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1) ผ้าผืนและด้าย คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 2,212.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 10.02 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเวียดนามลดการนำเข้า เนื่องจากเวียดนาม มีการพัฒนาการผลิตในส่วนอุตสาหกรรมกลางน้ำ เช่น ปั่นด้าย เพิ่มขึ้น จากการเข้าไปลงทุนของจีน และไต้หวัน ในส่วนของผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 1,406.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 7.60 หรือคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 63.55 ของการส่งออกผ้าและด้ายรวม สำหรับด้ายและเส้นใย มีมูลค่าการส่งออก 806.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 13.95 ซึ่งมูลค่าการส่งออกผ้าผืนและด้ายคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 52.10 ของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสิ่งทอ โดยมีประเทศเวียดนาม จีน บังคลาเทศ ญี่ปุ่น และเมียนมาร์ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

2) เคหะสิ่งทอ คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 273.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 12.08 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากมีการส่งออกลดลงในตลาดส่งออกหลัก เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เป็นต้น โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย

3) เส้นใยประดิษฐ์ คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 720.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.31 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยส่วนใหญ่เส้นใยประดิษฐ์ที่ผลิตได้จะใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ประกอบกับตลาดส่งออกหลัก เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย และบังคลาเทศ นำเข้าจากไทยลดลง โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม และตุรกี

4) สิ่งทออื่นๆ คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 663.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.90 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน อินเดีย และเวียดนาม

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 2,648.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 7.31 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.41 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ

1) เสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 2,292.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.27 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย ใยประดิษฐ์ ไหม ขนสัตว์ และเสื้อผ้าเด็กอ่อน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และจากการถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

2) เครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบ คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 228.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 12.24 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาด คู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ผรั่งเศส และไต้หวัน

การนำเข้า

ปี 2558 คาดว่า จะมีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่า 4,479.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.72 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (ตารางที่ 4) โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่กว่า ร้อยละ 84 จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 3,766.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.76 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องลดลงทั้งเส้นใย และผ้าผืน โดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มนี้ คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึง ร้อยละ 84.09 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

1) เส้นใยที่ใช้ในการทอ คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้า 776.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 16.19 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯ ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย และมาลี

2) ด้ายทอผ้าและเส้นด้าย คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้า 721.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.30 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่วนที่นำเข้าจะมีราคาถูกกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม และอินโดนีเซีย

3) ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ คาดว่าจะมีมูลค่าการนำเข้า 423.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.19 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา

4) ผ้าผืน คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้า 1,661.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.84 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่น ๆ ลดลง โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า เสื้อผ้าสำเร็จรูปจะมีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 712.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.79 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน เวียดนาม อิตาลี และบังคลาเทศ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 15.91 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการศึกษาการเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยกับระบบการผลิตการตลาด และการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือ มีข้อมูลเชิงลึก มีรูปแบบการพัฒนาระบบ แผนที่เครือข่าย (Cluster Mapping) เพื่อเชื่อมโยงคลัสเตอร์แฟชั่น (Fashion Cluster) กับระบบการผลิตการตลาด และการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก และส่งเสริมการขยายตัวของภาคธุรกิจแฟชั่นไทยไปยังภูมิภาคได้อย่างมั่นคง

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 เห็นชอบกับ "นโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์" ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในหลาย ๆ คลัสเตอร์ที่จะได้รับสิทธิพิเศษ ทั้งรูปแบบภาษีและที่มิใช่ภาษี อาทิ ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี และลดหย่อนภาษี 50 % เพิ่มอีก 5 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอมาตรการสนับสนุนและกิจการเป้าหมายคลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ตามประกาศ BOI ร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มสิ่งทอ การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ และการทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนลดลง ร้อยละ 2.58 และ 4.56 ตามลำดับ การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 1.55 และ 5.89 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในชะลอตัว

กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถัก และเสื้อผ้าทอ ลดลง ร้อยละ 0.20 และ 5.24 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ส่วนการจำหน่ายลดลงในเสื้อผ้าทอ ร้อยละ 4.59 แต่เสื้อผ้าถัก เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.59 เป็นผลจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น กิจกรรม Bike for Mom, Bike for Dad และการส่งเสริมยอดขายที่มีการกระตุ้นตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การผลิตและการจำหน่ายปรับตัวลดลงจากการส่งออกที่ปรับลดลงในประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน สำหรับการส่งออกลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในตลาดคู่ค้าหลัก และจากการถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกปี 2559 คาดว่า จะขยายตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 หากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและประเทศคู่ค้าขยายตัว ในส่วนการจำหน่ายในประเทศ จะมีการทำการตลาดโดยการลดราคาตามห้างสรรพสินค้าและย่านการค้าต่าง ๆ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐโดยเฉพาะการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็น Sport hub เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กลางด้านกีฬาในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในช่วงภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและโลกที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ สำหรับการนำเข้า ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะนำเข้า โดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่นรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นโอกาสของกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ที่จะสามารถสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคให้มีมากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ