สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2558 และแนวโน้มปี 2559(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2016 15:59 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้เพิ่มขึ้นจากการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศลดลงจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนขยายตัวได้ดีในสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย

การผลิต

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ปี 2558 มีประมาณ 5.96 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับ ปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.18 ซึ่งปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนไม้ที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูงมากนัก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกเครื่องเรือนไม้ไม่เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับการผลิต

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในปี 2558 ในภาพรวมลดลงจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และผลกระทบจากค่าครองชีพและหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดยการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ปี 2558 มีประมาณ 1.50 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 16.67

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ปี 2558 มีมูลค่ารวมประมาณ 3,034.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 8.26 (ดังตารางที่ 3) ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า ทำให้ความต้องการสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนในตลาดหลักทั้ง จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ชะลอตัวตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การส่งออกขยายตัวได้ดีในตลาดใหม่แถบเอเชียที่ยังมีกำลังซื้อสูง เช่น สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย

สำหรับรายละเอียดการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร การส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.69 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องเรือนไม้ ซึ่งการส่งออกเครื่องเรือนและชิ้นส่วน ปี 2558 มีมูลค่ารวมประมาณ 840.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 15.45

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วย เครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.03 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องใช้ทำด้วยไม้ รองลงมาคือ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ ซึ่งการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ ปี 2558 มีมูลค่ารวมประมาณ 183.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.14

3) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วย ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ประเทศจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 66.28 ของมูลค่าส่งออกรวมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป ซึ่งการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ปี 2558 มีมูลค่ารวมประมาณ 2,011.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.80

การนำเข้า

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ ได้แก่ ไม้แปรรูป ไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุง มาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ ไม้อัดและไม้วีเนียร์ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย และไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศไซโลมอน คองโก และเมียนมาร์ ซึ่งการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ปี 2558 มีมูลค่ารวมประมาณ 521.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 14.75 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับความต้องการเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศ

สรุป

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ปี 2558 เมื่อเทียบกับปีก่อน มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ปี 2558 ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว จากปัญหาภาระค่าครองชีพ และหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ปี 2558 ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า ทำให้ความต้องการสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนในตลาดหลักทั้ง จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ชะลอตัวตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การส่งออกขยายตัวได้ดีในตลาดใหม่แถบเอเชียที่ยังมีกำลังซื้อสูง เช่น สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย ในส่วนของการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ปี 2558 ลดลงในทิศทางเดียวกับการบริโภคเครื่องเรือนในประเทศ

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในปี 2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะช่วยเร่งให้มีการโอนและจดจำนองมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความต้องการสินค้าตกแต่งบ้าน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ปี 2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากตลาดอาเซียน และตลาดใหม่แถบเอเชียที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง ในส่วนของการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ปี 2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าไม้ชนิดต่างๆ เพื่อมาผลิตเป็นเครื่องเรือน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ