สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2558 และแนวโน้มปี 2559(อุตสาหกรรมยา )

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2016 16:01 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตและจำหน่ายยาในประเทศในปี 2558 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวตลอดทั้งปี ทำให้มีปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศลดลง ส่งผลให้มีปริมาณการผลิตยาลดลงตามถึงแม้ว่าการส่งออกยาไปยังตลาดต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียน จะขยายตัวดีขึ้นก็ตาม

การผลิต

การผลิตยา ในปี 2558 คาดว่าจะมีปริมาณ 37,961.16 ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.19 โดยเฉพาะในส่วนของยาน้ำและยาผง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่องทำให้มียอดการสั่งซื้อยาจากทั้งโรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยาลดลง ถึงแม้ว่าการควบคุมการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการข้าราชการ จะส่งผลให้โรงพยาบาลรัฐซึ่งเป็นตลาดหลักของผู้ผลิตยาหันมาซื้อยาที่ผลิตในประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกกว่ายานำเข้า แต่ยอดการสั่งซื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการหันมาผลิตเฉพาะยาตามใบสั่งซื้อเท่านั้น

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในประเทศ ปี 2558 คาดว่าจะมีปริมาณ 34,478.35 ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 3.26 เนื่องจากโรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยามีการสั่งซื้อยาลดลงโดยเฉพาะในส่วนของร้านขายยาที่มีแนวโน้มซื้อยาเฉพาะเท่าที่จำเป็น ขายหมดแล้วจึงสั่งซื้อใหม่ ไม่มีการซื้อเพื่อเก็บตุนเช่นที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าบริษัทผู้ผลิตจะจัดรายการส่งเสริมการขาย ก็ไม่สามารถกระตุ้นยอดจำหน่ายยาให้เพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับผู้ประกอบการบางรายงดจำหน่ายยาบางชนิดในประเทศ โดยผลิตเพื่อการส่งออกเท่านั้น

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยาในปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 300.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 5.78 เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียน (ยกเว้นบรูไน) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกยาที่สำคัญของไทยและมีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกของไทยมากกว่าร้อยละ 77 มียอดการสั่งซื้อโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยการขยายตัวที่ดีของการส่งออกเป็นผลมาจากการที่สินค้ายาของไทยได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าในอาเซียนมากขึ้น จากการที่ไทยได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิก ASEAN Listed Inspection Service ลำดับที่ 4 ต่อจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในคราวประชุม ACCSQ-PPWG ครั้งที่ 22 ซึ่งจัดขึ้นที่ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม 2558 โดยการได้เป็นสมาชิก ASEAN Listed Inspection Service นี้ จะทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาของไทยไปยังประเทศคู่ค้าต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ปรับตัวดีขึ้นต่อไป

การนำเข้า

การนำเข้ายาในปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,706.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 17.17 แม้ว่าภาครัฐจะยังคงมีนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายสวัสดิการข้าราชการที่เข้มงวด เนื่องจากยาหลายชนิดยังไม่มียาชื่อสามัญซึ่งมีผลการรักษาใกล้เคียงกับยาต้นแบบมาทดแทน โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรกในปีนี้ ได้แก่ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และอิตาลี มีมูลค่าการนำเข้ารวมกว่าร้อยละ 44 ของมูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศทั้งหมดของไทย และจากสถิติการนำเข้าสินค้ายาในปีนี้ จะเห็นได้ว่าอินเดียเริ่มมีบทบาทสำคัญต่อตลาดยาของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยถึงแม้จะยังคงครองส่วนแบ่งในตลาดที่ร้อยละ 8 เช่นเดิม แต่การก้าวขึ้นมาอยู่ใน 5 ลำดับแรกของตลาดนำเข้าที่สำคัญก็ทำให้อินเดียเป็นที่น่าจับตามองมากขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. การพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกในความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership: TPP) ของไทยซึ่งหากรัฐบาลพิจารณาเข้าร่วม TPP จะมีการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ส่งผลให้ยามีราคาสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับการขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาออกไปอีกอย่างน้อย 5 ปี หรือตลอดไป ก็จะทำให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนวิจัยและผลิตยาใกล้หมดอายุสิทธิบัตรออกมาแล้ว ต้องประสบปัญหาขาดทุนจนอาจต้องปิดกิจการลงในที่สุด

2. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกการตรวจประเมินยาแห่งสหภาพยุโรป(Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme: PIC/S) ของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยผู้ตรวจประเมินจาก PIC/S มีกำหนดการเข้าตรวจประเมิน อย. ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 ที่จะถึงนี้ ซึ่งหาก อย. ได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรดังกล่าว จะทำให้สามารถตรวจประเมินโรงงานผลิตยาในประเทศและให้การรับรองตามมาตรฐาน GMP PIC/S เองได้ จากเดิมที่ต้องให้ประเทศอื่นที่เป็นสมาชิก PIC/S แล้ว เช่น สิงคโปร์ เข้ามาทำการตรวจประเมิน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก นอกจากนี้ ยังจะสามารถตรวจรับรองโรงงานผลิตยาให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตยาในประเทศ ปี 2558 มีปริมาณลดลงจากปีก่อน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว ส่งผลให้โรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยา ปรับลดคำสั่งซื้อยาลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการผลิตยาตามยอดในใบสั่งซื้อเท่านั้น ไม่ผลิตเพื่อเก็บสต็อกเช่นที่ผ่านมา สำหรับการจำหน่ายยาในประเทศ ปี 2558 มีปริมาณลดลงจากปีก่อนเช่นกัน เนื่องจากมียอดการสั่งซื้อยาจากทั้งโรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยาลดลงจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาประกอบกับผู้ประกอบการบางรายงดจำหน่ายยาบางชนิดในประเทศ ถึงแม้ว่าจะยังคงผลิตยาชนิดดังกล่าวอยู่ก็ตาม

การส่งออกยา ปี 2558 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกยาที่สำคัญของไทยในอาเซียนมียอดการสั่งซื้อยาจากไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ไทยได้รับการรับรองให้เป็นสมาชิก ASEAN Listed Inspection Service ทำให้ผลิตภัณฑ์ยาของไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในส่วนของการนำเข้ายามีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเช่นกันโดยเฉพาะการนำเข้ายาจากอินเดียและจีน ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 12 ของมูลค่าการนำเข้ายาทั้งหมดของไทย

แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายยาในประเทศ ปี 2559 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากภาครัฐยังคงมีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการเบิกจ่ายในระบบสวัสดิการของข้าราชการ ทำให้ต้องมีการผลิตยาชื่อสามัญในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีราคาแพงและไทยสามารถผลิตได้เอง

สำหรับการส่งออกยา ปี 2559 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการใช้มาตรฐาน PIC/S จะทำให้ยาของไทยได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย รวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่มีศักยภาพนอกภูมิภาค เช่น ศรีลังกา ในส่วนของการนำเข้ายา ปี 2559 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มโครงสร้างประชากรของไทยที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ยาเฉพาะทางซึ่งส่วนมากต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ