สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2558 และแนวโน้มปี 2559(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2016 16:06 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาวะอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศในปี 2558 ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางยานพาหนะยังขยายตัวได้ ถึงแม้ว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยในไตรมาสที่ 2 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร สำหรับตลาดถุงมือยาง/ถุงมือตรวจภายในประเทศขยายตัวได้ดี ตามกระแสความวิตกกังวลด้านสุขภาพอนามัย

ในส่วนของมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางปรับตัวลดลง ถึงแม้ว่าปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางปรับตัวลดลงอย่างมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต่ออายุการให้ GSP แก่สินค้าไทยออกไป ในส่วนของมูลค่าการส่งออกถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ชะลอตัวลง และส่วนหนึ่งมาจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preference : GSP) จากสหภาพยุโรป

การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ปี 2558 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 5.15 เมื่อเทียบกับ ปีก่อน สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ ได้แก่ ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/ รถแทรกเตอร์ยางในรถบรรทุกและรถโดยสาร และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับปีก่อนคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ถึงแม้ว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยในไตรมาสที่ 2 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

ในส่วนของการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่าจะปรับตัวลดลง ร้อยละ 18.78 โดยปริมาณการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจที่ลดลงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากไทยถูกตัด GSP จากสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งถุงมือยาง/ถุงมือตรวจของไทยเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการใช้สิทธิ GSP สูง

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ ปี 2558 คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 23.42 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญในประเทศ ในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ ได้แก่ ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถบรรทุกและรถโดยสาร และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับปีก่อนคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์

ในส่วนของการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.77 เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกทั้งกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคจากโรคระบาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยใน ปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 5,187.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.84 ซึ่งแม้ว่าปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางปรับตัวลดลงมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย โดยตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ คือ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดย ปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกรวม 6,900.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.82 โดยในส่วนของยางยานพาหนะที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงต้นปีเริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดหลักที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกถุงมือยาง/ถุงมือตรวจปรับตัวลดลงจากปีก่อน เนื่องจากความต้องการของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการถูกตัด GSP จากสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญไป

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางคอมพาวด์ มีมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลง เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางคอมพาวด์ของไทย ได้ออกประกาศปรับปรุงมาตรฐาน การผลิตยางคอมพาวด์ โดยให้ใช้ยางธรรมชาติในการผลิตได้ไม่เกินร้อยละ 88 และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 12 ให้เป็นส่วนผสมของเขม่าดำ (Carbon Black) และสารเคมีอื่นๆ แทนสัดส่วนการผลิตเดิมที่มียางธรรมชาติไม่เกินร้อยละ 95.00 - 99.50 จึงส่งผลให้บริษัทผลิตยางล้อในจีนเริ่มกังวลต่อการนำเข้ายางคอมพาวด์จากไทย จึงชะลอการสั่งซื้อยางคอมพาวด์ออกไป

การนำเข้า

ในปี 2558 การนำเข้ายางและเศษยาง คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 947.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.06

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่า 1,113.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.56 อย่างไรก็ตาม มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นในส่วนของยางรถยนต์ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ราคาสินค้า

ราคายางพารา ปี 2558 ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมทั้งปริมาณการผลิตที่มีมากกว่าความต้องการใช้ โดยผลผลิตจากพื้นที่ปลูกใหม่เริ่มทะยอยออกสู่ตลาด

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย และโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยางเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

2. รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 โดยมีแนวทางในการดำเนินการ คือ การรักษาเสถียรภาพราคายางโดยการควบคุมการผลิตและการบริหารสต็อคยาง การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง การส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าและคุณภาพผลผลิต และการปรับโครงสร้างด้านการตลาด

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในปี 2558 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อโดยรวมยังขยายตัวได้ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ ถึงแม้ว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยในไตรมาสที่ 2 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร สำหรับการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่าจะปรับตัวลดลง ตามการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากไทยถูกตัด GSP จากสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ของไทยเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการใช้สิทธิ GSP สูง

การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางปรับตัวลดลง ถึงแม้ในส่วนของปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางปรับตัวลดลงมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย สำหรับการส่งออกยางยานพาหนะเริ่มปรับตัวดีขึ้น ตามความต้องการของตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สำหรับมูลค่าการส่งออกถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการถูกตัด GSP จากสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญไป และในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางคอมพาวด์ จีนได้ออกประกาศปรับปรุงมาตรฐานการผลิตยางคอมพาวด์ โดยให้ใช้ยางธรรมชาติในการผลิตได้ไม่เกินร้อยละ 88 และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 12 ให้เป็นส่วนผสมของเขม่าดำ (Carbon Black) และสารเคมีอื่นๆ ส่งผลให้บริษัทผลิตยางล้อในจีนเริ่มกังวลต่อการนำเข้ายางคอมพาวด์จากไทย จึงชะลอการสั่งซื้อยางคอมพาวด์ออกไป

แนวโน้ม

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางใน ปี 2559 ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมยางยานพาหนะในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับการส่งออกในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต่ออายุการให้ GSP แก่สินค้าไทยออกไปอีก 4 ปี 5 เดือน โดยได้มีการลงนาม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ซึ่งจะมีผลหลังจากลงนามแล้ว 30 วัน และผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิการคืนภาษีย้อนหลัง 2 ปีจากการต่ออายุ GSP ครั้งนี้

ในส่วนของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลัก รวมทั้งการถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป

สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราใน ปี 2559 คาดว่าจะทรงตัว โดยมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงต้นปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อราคายางพารา

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ