สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2558 และแนวโน้มปี 2559(อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2016 16:09 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การฟอกและตกแต่งหนังฟอก ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ดัชนีผลผลิต ปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง และภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น จีน มีแนวโน้มชะลอตัวจากการปรับนโยบายเศรษฐกิจโดยเน้นพึ่งพาสินค้าในประเทศ และลดการนำเข้า ทำให้กำลังซื้อลดลง

การผลิต

ใน ปี 2558 4 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง (ตารางที่ 1-3) จำแนกได้ ดังนี้

1. การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 1.94 เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ร้อยละ 1.37 จากกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในที่ชะลอตัว ประกอบกับการส่งออก ในตลาดหลักยังขยายตัวไม่มากนัก จึงลดการผลิตลงทำให้ระดับสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ร้อยละ 30.34 ซึ่งเป็นผลจากการจำหน่ายสินค้าในสต๊อกทดแทน

2 . การผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.50 สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้า และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.56 และ 5.32 ตามลำดับ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากรายได้ และความเชื่อมั่นการบริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง...

3. การผลิตรองเท้า เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.03 และดัชนี สินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.65 ส่วนดัชนีการส่งสินค้าลดลง ร้อยละ 2.88 เนื่องจากลูกค้ามีสินค้าคงค้างในสต็อกปริมาณสูง และส่วนหนึ่งมาจากฐานการผลิตที่สูงเมื่อปีก่อนจากการที่ต้องส่งออกสินค้าให้ทันเวลาก่อนการตัดสิทธิ์ GSP ในช่วงต้นปี 2558

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกสินค้าเครื่องหนังและรองเท้าโดยรวม ปี 2558 คาดว่า จะมีมูลค่า การส่งออก 1,793 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 4 ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง และรองเท้าและชิ้นส่วน ลดลง ร้อยละ 6 และ 11 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ปี 2558 คาดว่า จะมีมูลค่า การส่งออก 798 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 5 โดยผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะมี การส่งออกจะเพิ่มขึ้น ได้แก่ ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ถุงมือหนัง และหนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46 3 และ 39 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกลดลง คือ หนังโคกระบือฟอก และเครื่องแต่งกายและเข็มขัด ลดลง ร้อยละ 47 และ 32 ตามลำดับ ตามความต้องการของจีน และกลุ่มประเทศอาเซียนที่ลดลง โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.83 2.27 และ 30.82 ตามลำดับ

2. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ปี 2558 คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 311 ล้าน เหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 6 โดยทุกผลิตภัณฑ์คาดว่าจะมีการส่งออกลดลง ได้แก่ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่น ๆ ลดลง ร้อยละ 3 13 9 และ 1 ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกเกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาด คู่ค้าหลักของไทย เช่น สหภาพยุโรป ยังคงชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อในกลุ่มสินค้าสำเร็จรูปลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย สำหรับตลาดส่งออกที่มีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ลดลง ร้อยละ 4.45 25.36 และ 4.43 ตามลำดับ

3.รองเท้าและชิ้นส่วน ปี 2558 คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 684 ล้านเหรียญ สหรัฐฯ ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 11 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกในกลุ่มผลิตภัณฑ์รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง รองเท้าอื่น ๆ และส่วนประกอบของรองเท้า ลดลง ร้อยละ 20 15 1 และ 1 ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกเกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังคงชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย สำหรับผลิตภัณฑ์รองเท้ากีฬา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 โดยตลาดส่งออกที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดนมาร์ก และสหราชอาณาจักร ลดลง ร้อยละ 9.20 22.64 และ 9.29 ตามลำดับ

การนำเข้า

การนำเข้าสินค้าเครื่องหนังและรองเท้าโดยรวม ปี 2558 คาดว่า จะมีมูลค่า การนำเข้าทั้งสิ้น 1,429 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังดิบและหนังฟอก ปี 2558 คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้า 708 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 5 ตามภาวะการผลิตที่ลดลงจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลง โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และบราซิล มีสัดส่วน ร้อยละ 13.48 13.46 และ 11.67 ตามลำดับ

2. กระเป๋า ปี 2558 คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้า 367 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น จากปี 2557 ร้อยละ 2 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น คือ กระเป๋าถือและกระเป๋าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 ตามพฤติกรรมการบริโภคสินค้าหรูของคนไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนกระเป๋าเดินทาง ลดลง ร้อยละ 1 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน อิตาลี และฝรั่งเศส มีสัดส่วน ร้อยละ 47.94 18.76 และ 13.63 ตามลำดับ

3. รองเท้า ปี 2558 คาดว่า จะมีมูลค่าการนำเข้า 353 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 12 เป็นผลจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ประเภทรองเท้ากีฬา รองเท้าหนัง รองเท้าทำด้วยยางหรือพลาสติก และรองเท้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46 5 12 และ 5 ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน เวียดนาม และอิตาลี มีสัดส่วน ร้อยละ 46.89 17.30 และ 9.61 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

นโยบายการส่งเสริม SMEs ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลที่ออกมาช่วย สร้างความแข็งแกร่งให้กับ SMEs โดยมีแนวทางในการปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เน้นปัจจัยการผลิตเดิม (Factor Driven Growth) ประเภทที่ดิน แรงงาน และทุน ไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่การสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มเป็นปัจจัยขับเคลื่อน หรือการพัฒนาทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยกระดับให้ SMEs ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และตั้งเป้าหมายในปี 2558 เพิ่มสัดส่วนรายได้ของ SMEs ทั้งระบบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 ในปี 2559 หรือคิดเป็นมูลค่า 300,000 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ส่วนใหญ่ เป็น SMEs จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะได้รับการส่งเสริม

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ดัชนีผลผลิตการฟอกและตกแต่งหนังฟอก ปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น จีน มีแนวโน้มชะลอตัวจากการปรับนโยบายเศรษฐกิจโดยเน้นพึ่งพาสินค้าในประเทศ และลดการนำเข้า ทำให้กำลังซื้อลดลง อีกทั้งอุปสงค์ภายในประเทศลดลง ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ส่วนการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และการผลิตรองเท้า เริ่มฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้นจาก ปี 2557 เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เริ่มฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แต่อาจจะมีปัจจัยจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนที่มีศักยภาพมากกว่าไทย ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างการผลิต และมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดเอเชียและอาเซียน จะยังมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศจีนและเวียดนาม ที่นำเข้าชิ้นส่วนรองเท้าไปผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดอื่น รวมทั้งตลาดเมียนมาร์ที่มีความต้องการรองเท้าจากไทยมากขึ้น เป็นโอกาสในการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น

การส่งออก ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทปลายน้ำ ได้แก่ ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง และถุงมือหนังสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องใช้สำหรับเดินทาง และรองเท้าและชิ้นส่วน ปรับตัวลดลง โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกเกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังคงชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

การนำเข้า ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ผลิตภัณฑ์หนังดิบและหนังฟอก มีมูลค่าการนำเข้าลดลงตามความต้องการผลิตที่ปรับตัวลดลง ขณะที่กลุ่มสินค้าสำเร็จรูป ได้แก่ กระเป๋า และรองเท้า มีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคสินค้าหรูที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

แนวโน้มปี 2559

คาดการณ์ปี 2559 การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง คาดว่า จะขยายตัวได้ หากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) นอกจากนี้การขับเคลื่อนของนโยบายภาครัฐ และการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการบริโภคโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติตามการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนอาจจะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าในกลุ่มรองเท้าและเครื่องหนัง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ