ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับปี 2558เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนคาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.43 ตามคำสั่งซื้อโดยเฉพาะเครื่องประดับแท้อาทิ สร้อย แหวน จี้ และต่างหู จากตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เยอรมนี จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกอบกับมีการผลิตเพื่อทดแทนการส่งออกสินค้าจากสต๊อกด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม คาดว่า จะมีมูลค่าการส่งออก 11,405.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.14 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน แต่หากไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่า จะมีมูลค่า7,378.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยับตัวเพียง ร้อยละ 1.06 โดยยังมีฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ
จากตัวเลขประมาณการภาพรวมปี 2558คาดว่า การผลิตเครื่องเพชร พลอย และรูปพรรณและของที่เกี่ยวข้องกัน ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.43 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา เยอรมนี เบลเยี่ยม และความต้องการของตลาด ทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเครื่องประดับแท้ อาทิ สร้อย แหวน จี้ และต่างหู จากตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เยอรมนี จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่งผลให้ดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.52 ขณะเดียวกันดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.47เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการสต๊อกสินค้าเพื่อทดแทนการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา และเพื่อรองรับความต้องการสำหรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ในช่วงปลายปี
การตลาด
การค้าระหว่างประเทศ
จากตัวเลขประมาณการภาพรวมปี 2558 (ตารางที่ 2)คาดว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) จะมีมูลค่า 7,378.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.06 โดยสินค้าที่มีผลทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัว ได้แก่พลอย ไข่มุก และเครื่องประดับแท้ทำด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.54 5.51และ8.24ตามลำดับ โดยมีแรงหนุนจากความต้องการซื้อสินค้าสำหรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ในช่วงปลายปีโดยเฉพาะตลาดส่งออกหลัก อาทิ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ในภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแม้จะในอัตราที่ไม่รวดเร็วมากนัก แต่ผู้บริโภคต่างเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งนี้ หากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.14เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปมีมูลค่าสูงถึง4,027.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.88จากปี 2557 ซึ่งเป็นผลจากราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจากปีก่อน ทำให้มีการสั่งซื้อเพื่อเก็งกำไรและถือครองไว้
- ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกาโดยมีสินค้าส่งออกสำคัญในแต่ละตลาด ดังนี้
- ตลาดฮ่องกง ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป เพชร พลอย และเครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง
- ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูปและเครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง
- ตลาดสหรัฐอเมริกา ได้แก่ เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง และทำด้วยเงิน เพชร และพลอย
จากตัวเลขประมาณการภาพรวมปี 2558 (ตารางที่ 3) คาดว่า การนำเข้าเครื่องเพชรพลอย อัญมณี และเงินแท่ง (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) จะมีมูลค่า2,808.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.59ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว โดยวัตถุดิบที่มีผลต่อมูลค่าการนำเข้าเพื่อการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ เพชร แพลทินัม รวมทั้งโลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ ลดลง ร้อยละ 9.5017.73 และ 12.88 ตามลำดับ เนื่องจากการผลิตเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยวัตถุดิบดังกล่าวลดลง ตามคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลงสำหรับมูลค่าการนำเข้าเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ในภาพรวม คาดว่า จะลดลง ร้อยละ 9.24 จากปี 2557 เนื่องจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 11.10เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน
แหล่งนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของไทย ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่นฮ่องกงสหรัฐอเมริกา และเบลเยียม โดยมีวัตถุดิบนำเข้าสำคัญในแต่ละตลาด ดังนี้
- ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป และเงิน
- ตลาดญี่ปุ่น ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป เงิน และแพลทินัม
- ตลาดฮ่องกง ได้แก่ เพชร พลอย
- ตลาดสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ทองคำ และแพลทินัม
- ตลาดเบลเยียม ได้แก่ เพชร
1. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินกลยุทธ์เร่งด่วนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้พร้อมสำหรับการเข้าสู่ AEC ในปลายปี 2558 ผ่าน 3 โครงการหลัก ได้แก่ (1) โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมรองรับ AEC การพัฒนาบุคลากร การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงรุกสู่ตลาด AEC รวมทั้งนำผู้ประกอบการไปเจรจาธุรกิจ และทดลองตลาดในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และอาเซียน+3 (2) โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ประกอบด้วย สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านกิจกรรมหลัก อาทิ การพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคและการจัดการ การพัฒนานักออกแบบ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่น การสร้างกลุ่มเครือข่ายย่านธุรกิจแฟชั่น และการเพิ่มประสิทธิภาพตลอดสายการผลิต และ (3) โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็ง
2. รัฐบาลได้ดำเนินการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เห็นชอบ โดยมีพื้นที่เป้าหมายใน 10 จังหวัดชายแดน ซึ่งอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ กระทรวงการคลัง และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และการตรวจคนเข้าเมือง เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนของประเทศร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย
สรุปและแนวโน้ม
ภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับปี 2558เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.43ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลัก ทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าทดแทนการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา และเพื่อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ปี 2558คาดว่า จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.06 ส่วนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวมคาดว่า จะมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 13.14ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากจากปีที่ผ่านมา โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นได้ในปีนี้เป็นผลจากการส่งออก พลอย ไข่มุก และเครื่องประดับแท้ทำด้วยโลหะ มีค่าอื่น ๆ
การนำเข้าเครื่องเพชรพลอย อัญมณี และเงินแท่ง (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ปี 2558คาดว่าจะลดลง ร้อยละ 3.59สำหรับการนำเข้าเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ในภาพรวมคาดว่าจะลดลงเช่นกัน ร้อยละ 9.24เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว ประกอบกับราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้นโดยแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฮ่องกงสหรัฐอเมริกา และเบลเยียม ซึ่งสินค้านำเข้าส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบในภาคการผลิต
การผลิต ในปี 2559 คาดว่า การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับจะหดตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนเนื่องจากผู้ประกอบการเน้นที่จะส่งออกสินค้าจากสต๊อกทดแทนการผลิต โดยจะมีการผลิตในบางสินค้าเพื่อชดเชยสต๊อกบางส่วน
การส่งออก (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ในปี 2559คาดว่า จะชะลอตัวลงเล็กน้อยทั้งนี้ หากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่มีความแข็งแกร่งขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงขึ้น และกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ขยายตัวได้ เพิ่มขึ้น
การนำเข้า (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ในปี 2559คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีการจัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าเข้าสต๊อกชดเชยปีก่อนหน้าที่เน้นการส่งออกสินค้าจากสต๊อกทดแทน โดยการนำเข้าในภาพรวมคาดว่า จะขยายตัวตามทิศทางการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากนโยบายทางการเงินของสหรัฐอเมริกาที่อาจส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวในทิศทางที่ลดลง
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--