ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปี 2558 คาดว่าจะมีปริมาณการ ผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.42 เนื่องจากการผลิตน้ำตาล และปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น แต่หากไม่รวมการผลิตน้ำตาล การผลิตในภาพรวมจะชะลอตัวลงจากปีก่อนร้อยละ 0.71 เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศยังคงชะลอตัวและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคยังไม่ดีนัก ส่วนการส่งออกปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.66 จากสินค้ากลุ่มประมง กลุ่มข้าวและธัญพืช จากความคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าลดลง ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้การค้าการลงทุนซบเซาตามไปด้วย ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่เป็นประเทศคู่ค้าหลัก มีการเติบโตในอัตราที่ลดลง จากการปรับนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการพึ่งพาสินค้าในประเทศเพื่อลดการนำเข้า ผนวกกับระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน นอกจากนี้สหภาพยุโรปประกาศตัดสิทธิ์ GSP ที่อาจส่งผลต่อระดับราคาสินค้านำเข้าที่แพงขึ้น และการพิจารณา การประกาศปรับระดับการค้าจากปัญหาในเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมง ผิดกฎ IUU จึงส่งผลต่อภาพรวมของการส่งออกปรับชะลอตัวลง
ในช่วงปี 2558 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 2.42 เนื่องจากการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น จากนโยบายการขยายพื้นที่ การปลูกอ้อยทดแทนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว รวมถึงคำสั่งซื้อและราคาน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตบางกลุ่มสินค้าสำคัญปรับตัวดีขึ้น จากคำสั่งซื้อ จากต่างประเทศ และตลาดในประเทศที่เติบโตเพียงเล็กน้อย สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
กลุ่มน้ำตาลทราย ปริมาณการผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.39 เนื่องจากคำสั่งซื้อและราคาน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายการขยายพื้นที่การปลูกอ้อยทดแทนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว
กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.76 เมื่อเทียบกับปีก่อน เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น ในระดับราคาที่ลดลง และจากคำสั่งซื้อไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูปของประเทศญี่ปุ่นที่ยังคงเติบโต เป็นผลจากการชะลอการนำเข้าจากจีน และนำเข้าสินค้าไก่เนื้อของไทยเพิ่มขึ้น
กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตคาดว่าจะลดลงร้อยละ 3.88 เมื่อเทียบกับปีก่อน ผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ปริมาณวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับราคาส่งออกชะลอตัว
กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตคาดว่าจะลดลงร้อยละ 7.30 เมื่อเทียบ กับปีก่อน เป็นผลจากการขาดแคลนวัตถุดิบ เนื่องจากโรคระบาดในแหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง การยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย การปรับขึ้นภาษีหลังจากถูกตัด GSP และผลจากการประกาศแจ้งเตือนการทำประมงของไทยเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป และคำสั่งซื้อจากประเทศนำเข้าลดลง ขณะที่การผลิตปลาทูน่ากระป๋องปรับลดลงจากค่าเงินบาท ที่อ่อนค่าลง
กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตคาดว่าจะลดลงร้อยละ 7.24 เมื่อเทียบกับ ปีก่อน ผลกระทบจากภัยแล้ง รวมถึงการลดพื้นที่ปลูกสับปะรด เพื่อนำพื้นที่ไปทำกิจกรรมอื่น ทำให้ผลผลิตลดลง
กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตคาดว่า จะปรับชะลอตัวลงร้อยละ 0.61 จากปีก่อน เนื่องจากปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มในตลาดมีมาก ทำให้การผลิตน้ำมันปาล์มลดลง สำหรับผลิตภัณฑ์นม คาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.14 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น
การตลาดและการจำหน่าย
ในช่วงปี 2558 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.23 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดีขึ้น สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพ สำหรับการจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.03 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น แต่หากไม่รวมน้ำตาล การจำหน่ายจะปรับชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปีก่อนร้อยละ 0.98 จากหนี้สินของภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้อำนาจซื้อลดต่ำลง ประกอบปัญหาภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอย เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้การบริโภคสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันพืชและกลุ่มธัญพืชและแป้งปรับตัวลดลง ส่วนอาหารสัตว์ปรับชะลอตัวเล็กน้อยร้อยละ 1.58 เมื่อเทียบกับปีก่อน
การค้าระหว่างประเทศ
ในช่วงปี 2558 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าจะมีมูลค่ารวม 26,472.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 5.66 จากปีก่อน (ตารางที่ 3) เป็นผลจากการส่งออกสินค้าประมง ข้าวและธัญพืช และอาหารอื่นๆ เนื่องจากคำสั่งซื้อลดลงในบางกลุ่มสินค้า โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้
กลุ่มประมง คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 5,423.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 14.86 โดยมีปริมาณการลดลงในหลายผลิตภัณฑ์ ทั้งอาหารทะเล แปรรูป กุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป และทูน่ากระป๋อง เนื่องจากความต้องการบริโภคชะลอตัวลง ผนวกกับขาดแคลนวัตถุดิบ ที่เป็นผลจากการยกเลิกสัมปทานประมงของประเทศอินโดนีเซีย ระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงผลกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP และการทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป
กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 3,762.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.61 จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และผลไม้กระป๋องและแปรรูป โดยสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง ส่งออกเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อของสหรัฐอเมริกา และจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากปีก่อน
กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 3,007.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 5.82 จากคำสั่งซื้อไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูป ของประเทศญี่ปุ่นที่ยังคงเติบโต เป็นผลจากการชะลอการนำเข้าจากจีนที่ประสบปัญหาคุณภาพ จึงนำเข้าสินค้าไก่เนื้อของไทยเพิ่มขึ้น
กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 9,655.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 8.54 เนื่องจากมันเส้น สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง เด๊กตรินและโมดิไฟด์สตาร์ชอื่น แป้งข้าวเหนียว และขนมปังกรอบ มีความต้องการของประเทศผู้นำเข้าปรับชะลอตัวลง และระดับราคาสินค้าปรับชะลอตัวตามราคาน้ำมัน
กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 2,819.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2.40 จากคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้า ปรับเพิ่มขึ้น ผนวกกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น
กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออก 1,803.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 8.70 โดยเป็นผลจากการส่งออกลดลงในสินค้าน้ำมันปาล์ม และสต็อกน้ำมันปาล์มดิบโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาปรับชะลอตัวลง
ในช่วงปี 2558 การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทยคาดว่าจะมีมูลค่ารวม 13,787.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 18.88 (ตารางที่ 4) โดยเป็นนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น คือ เมล็ดพืชน้ำมันร้อยละ 4.46 เพื่อนำมาใช้แปรรูปในอุตสาหกรรมน้ำมันพืช ส่วนวัตถุดิบที่นำเข้าลดลง คือ ปลาทูน่าแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 22.96 เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบและต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่วนการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อบริโภค เช่น นมและผลิตภัณฑ์ มีการนำเข้าลดลงร้อยละ 25.35 เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง
สรุปและแนวโน้ม
ในช่วงปี 2558 ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 2.42 เนื่องจากการผลิตน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น การขยายพื้นที่ปลูกอ้อยและคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ได้รับจากคำสั่งซื้อสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ยังคงเติบโตดี โดยเฉพาะไก่แช่เย็นแช่แข็งได้รับผลดีจากประเทศคู่แข่งถูกห้ามนำเข้าจากปัญหามาตรฐานต่ำในหลายประเทศ ส่วนการส่งออกอาหารปรับตัวลดลงร้อยละ 5.66 จากสินค้ากลุ่มประมง (ทูน่ากระป๋อง กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง) เป็นผลจากความต้องการของประเทศผู้นำเข้าปรับชะลอตัวลง ขาดแคลนวัตถุดิบ การยกเลิกการให้สิทธิ์ GSP ที่ทำให้ระดับราคาสินค้าของไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎ IUU และสินค้ากลุ่มข้าวและธัญพืช ความต้องการของประเทศผู้นำเข้าปรับชะลอตัวลง และระดับราคาสินค้าปรับชะลอตัวตามราคาน้ำมัน ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว จึงส่งผลต่อภาพรวมการส่งออกอาหารลดลง
คาดการณ์แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2559 คาดว่า การผลิตในภาพรวมจะมีอัตราการเติบโตเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0-5 ส่วนการส่งออก ในภาพรวม ปี 2559 จะมีการเติบโตชะลอตัวลงร้อยละ -3 - 0 จากแนวโน้มการประกาศตัดสิทธิ์ GSP ที่อาจส่งผลต่อระดับราคาสินค้าที่แพงขึ้น การพิจารณาการประกาศปรับระดับการค้าจากปัญหา
ในเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป อุปสงค์จากจีน ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีน และราคาส่งออกปรับลดตามระดับราคาน้ำมัน ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะก่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารมากยิ่งขึ้น แต่ยังมีปัจจัยบวกสำหรับการผลิตและส่งออกในบางกลุ่มสินค้า เช่น ไก่แปรรูป ที่มีการเพิ่มคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากการความเชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิตสินค้า ของไทย และสินค้ากลุ่มน้ำตาลทราย ที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเพิ่มขึ้น และมีระดับราคาน้ำตาลทราย ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน SMEs และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหารในประเทศ จะส่งผลให้การผลิตอุตสาหกรรมอาหารเติบโตขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--