สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2558 (ตุลาคม - ธันวาคม 2558)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 14:36 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 4 ปี 2558 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่มีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 4 ปี 2558 อยู่ที่ 41.2 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2557 อยู่ที่ 74.6 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มราคาลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมีนาคม (ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559) อยู่ที่ 30.89 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะน้ำมันล้นตลาด และกลุ่มประเทศ OPEC ยังคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบในระดับเดิม

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยปัจจัยที่ทำให้ขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 คือ ในด้านการใช้จ่าย การส่งออกบริการและการลงทุนภาครัฐขยายตัวสูง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกสินค้ายังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการลงทุนภาคเอกชนลดลง ในด้านการผลิต สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาก่อสร้างขยายตัวในเกณฑ์ดี สาขาบริการอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่อง สาขาอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ในขณะที่สาขาเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจาก ภัยแล้งและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.8 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 0.6 แต่ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ และการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตรถยนต์ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนสายพานการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รุ่นใหม่ของผู้ผลิตรายใหญ่เสร็จสิ้นลงในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกปรับตัวลดลงตามการลดลงของปริมาณการส่งออก กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ ปิโตรเลียม ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เคมี และยาสูบ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง ยางและพลาสติก ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ หลอดอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องจักรและอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 2.9 ซึ่งขยายตัวจากปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 0.4 และเศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวลง เนื่องจากทั้งการส่งออกและการนำเข้ามีมูลค่าลดลง โดยการส่งออกใน ไตรมาสที่ 4 นี้มีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.09 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 12.56 โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าทั้งสิ้น 101,779.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 52,833.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 48,946.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 นั้น มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.43 สำหรับมูลค่าการนำเข้ายังคงลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557 โดยมีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.93 สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 4 นี้ อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้าโดยมีมูลค่า 3,886.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนมีมูลค่ารวม6,466.6 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนตุลาคมมีมูลค่า 1,340.6 ล้านบาท สำหรับเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 5,126.0 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนตุลาคมมีการลงทุนเพิ่มต่ำกว่าการลดการลงทุน (ไม่ว่าจะในรูปของการลดสัดส่วนการถือหุ้นหรือการคืนเงินกู้ให้บริษัทในเครือในต่างประเทศ) ทำให้มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ -7,185.5 ล้านบาท และในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ -5,502.9 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ -12,688.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ -9,646.6 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 468 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หรืออยู่ในระดับคงตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 467 โครงการ การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 143,750 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 296,460 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 150 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 36,930 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 113 โครงการ เป็นเงินลงทุน 47,800 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 205 โครงการ เป็นเงินลงทุน 59,010 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนพบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดกิจการบริการ และสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 57,820 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดเกษตร และผลิตผลจากการเกษตรมีเงินลงทุน 28,210 ล้านบาท และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์มีเงินลงทุน 27,250 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดคือ ประเทศญี่ปุ่นโดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 84 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 25,250 ล้านบาท รองลงมาคือประเทศอินโดนีเซียได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 1 โครงการ มีเงินลงทุน 13,441 ล้านบาท ประเทศสิงคโปร์มีจำนวน 33 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 7,748 ล้านบาท และประเทศฮ่องกงมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 18 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 5,261 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาส 4/2558 มีปริมาณการผลิต 803,625 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 10.01 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลจากการลดลงของเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 13.27 เนื่องจากสถานการณ์ธุรกิจก่อสร้างประสบภาวะชะลอตัว สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 1.55 โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 34.03 เนื่องจากอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ประสบปัญหาในเรื่องการส่งออก สำหรับการจำหน่ายในประเทศไตรมาส 4/2558 มีปริมาณ 3,696,443 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 17.76 โดยเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 24.36 รองลงมาคือ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 14.18 การส่งออก มีมูลค่า 154 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 8.41 การนำเข้า มีมูลค่า 1,398.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.25

สถานการณ์เหล็กในปี 2559 ในส่วนการผลิตจะทรงตัว คือ 6.50 ล้านตัน โดยความต้องการใช้เหล็กในประเทศอยู่ในช่วง 0-3% ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ความต้องการใช้เหล็กสูงขึ้น คือ การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เนื่องจากการก่อสร้างของภาคเอกชนยังคงชะลอตัวอยู่ เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการซื้อและลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ผลต่อการผลิตของผู้ผลิตในประเทศ คือ ปัญหาการผลิตส่วนเกินจากประเทศจีน ซึ่งทำให้ผู้ผลิตจีนส่งสินค้าเข้ามายังประเทศที่ไม่มีมาตรการคุ้มครองดีพอ และถึงแม้จีนจะโดนแรงบีบจากหลายประเทศให้ลดการผลิตลง ซึ่งจะต้องคอยจับตาดูว่าจีนจะทำตามแรงกดดันของประเทศอื่นๆ หรือไม่

ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2558 (ม.ค.-ธ.ค.)มีปริมาณการผลิตรถยนต์1,912,237 คันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิต 1,880,007คันเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.71โดยมีปริมาณการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ2.74, 0.09 และ 48.06ตามลำดับเมื่อพิจารณาปริมาณการผลิตโดยรวม พบว่า เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกจำนวน1,200,974คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.81ของปริมาณการผลิตทั้งหมด

หากพิจารณาอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การผลิตรถยนต์มีการขยายตัวเนื่องจากความต้องการของตลาดในประเทศ ซึ่งเป็นเพิ่มขึ้นของรถยนต์ PPV เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่มีการจัดเก็บภาษีจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ (CO 2) อาจมีผลต่อราคาของรถยนต์บางประเภท จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเร่งการซื้อรถยนต์ประเภทดังกล่าว อย่างไรก็ดีตลาดส่งออกมีการขยายตัว ในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย และตะวันออกกลางซึ่งเป็นการส่งออกรถกระบะและรถยนต์ PPV เป็นหลัก

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2559 คาดว่า การผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.43 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 900,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.55 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,250,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.74 โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 40-45 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 55-60

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 98.10ลดลงร้อยละ 3.24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 8.07เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 2.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะกำลังซื้อในประเทศและตลาดส่งออกหลักยังไม่ฟื้นตัว สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2559 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-5 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส 2 ของปี 2559 อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีก่อน สินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัว คือ เครื่องปรับอากาศ ซึ่งจะส่งออกไปตลาดหลักโดยเฉพาะอาเซียนได้มากขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัว คือ IC เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้มีการพัฒนาสินค้าหรือออกรุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน

เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า กำลังซื้อในประเทศที่หดตัว จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและภาวะภัยแล้ง มีผลต่อเนื่องต่อความต้องการใช้ปุ๋ยและเคมีภัณฑ์

แนวโน้มไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และการลงทุนของภาคเอกชน

พลาสติก ภาวะอุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาสที่ 4 ปี 2558 พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.10 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของการผลิตบรรจุภัณฑ์ พลาสติก ได้แก่ กระสอบและถุงพลาสติก และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 7.04 ส่วนดัชนีส่งสินค้าของอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.39 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.86โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทผลิตภัณฑ์ ยกเว้น แผ่นฟิล์มพลาสติก และเครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ

แนวโน้มไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)อีกทั้งการท่องเที่ยวและการบริการที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างชัดเจน

ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีช่วงไตรมาส 4 ปี 2558มูลค่าการส่งออกและนำเข้าโดยรวมปรับตัวลดลงคาดว่าเกิดจากการปรับลดลงของระดับราคาน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2559 คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามการคาดการณ์การขยายตัวของ GDP และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของ GDP ปี 2559 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ประมาณการแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงร้อยละ 3.2-4.2 (ข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 14/2559 วันที่ 28มกราคม 2559) อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของระดับราคาน้ำมันดิบ ภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาค และภาวะเศรษฐกิจโลก การขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมปลายทาง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ และกระดาษแข็ง มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.84 และ 29.50 ตามลำดับ จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม และบังคลาเทศ เพิ่มขึ้น ประกอบกับผลิตเพื่อรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามภาวะการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่คาดว่าจะขยายตัวในปี 2559 สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 10.92 0.23 และ 6.40 ตามลำดับ เป็นผลมาจากการผลิตเพื่อส่งออกลดลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั้งในยุโรป และ จีน ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ปี 2559 คาดว่า ภาพรวมจะขยายตัวได้ โดยการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลิตกระดาษพิมพ์เขียน ยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง ประกอบกับการนำเข้ากระดาษจากต่างประเทศมาใช้ทดแทน

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2558 ในภาพรวมได้รับผลกระทบจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การผลิตวัสดุก่อสร้างเพื่อรองรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถขยายตัวได้ โดยการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 30.75 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 22.52 และ 14.30 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์มีปริมาณ 1.84 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.66 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.16

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ การพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทั้งระบบ การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งจะช่วยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ใกล้เคียงเติบโตตามไปด้วย และส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์เซรามิก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน

ปูนซีเมนต์ ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558ในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเนื่องจากภาคก่อสร้างของไทยขยายตัวดีขึ้นโดยความชัดเจนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐส่งผลให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น ประกอบกับราคาจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ลดลงจากต้นทุนการขนส่งที่ต่ำลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ก็มีส่วนทำให้ยอดการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในไตรมาสนี้สูงขึ้นเช่นกัน

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งหลายโครงการน่าจะเซ็นสัญญาได้ในไตรมาสแรกของปี2559 นี้ ทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจที่จะลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น และในบางโครงการก่อสร้างของภาครัฐเองก็ต้องใช้ปูนซีเมนต์ในปริมาณมาก ทำให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์น่าจะเร่งผลิตเพื่อให้ทันจำหน่ายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีต่อไปแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งหลายโครงการน่าจะเซ็นสัญญาได้ในไตรมาสแรกของปี2559 นี้ ทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจที่จะลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น และในบางโครงการก่อสร้างของภาครัฐเองก็ต้องใช้ปูนซีเมนต์ในปริมาณมาก ทำให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์น่าจะเร่งผลิตเพื่อให้ทันจำหน่ายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีต่อไป

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สถานการณ์การผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 4ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงทั้งกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป ยกเว้นเพียงผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ยังขยายตัวได้ทั้งภาคการผลิตและการจำหน่ายในประเทศ เส้นใยสิ่งทอฯ ลดลงจากความต้องใช้ในประเทศเนื่องจากผู้ผลิตมีสต๊อกค่อนข้างมาก ในขณะที่การทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) ลดลง ทั้งในส่วนการผลิตและการจำหน่าย ประกอบกับคำสั่งซื้อของตลาดส่งออกหลักลดลง โดยเฉพาะจากเวียดนาม และจีน ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลัก สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตลดลงทั้งในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักและผ้าทอ อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายในประเทศยังขยายตัวได้ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการส่งเสริมกลยุทธ์ทางการตลาดของภาคเอกชน

ไตรมาส 1ปี 2559อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่า ทั้งภาคการผลิตและการจำหน่ายจะปรับตัวตามทิศทางตลาดในประเทศที่ดีขึ้นตามฤดูกาล ประกอบกับผู้ประกอบการในกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ได้มีการปรับตัวเพื่อยกระดับสู่ขั้นตอนการผลิตที่เพิ่มมูลค่าสูงขึ้นในห่วงโซ่คุณค่า ในส่วนการส่งออก คาดว่า จะมีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า ซึ่งไทยยังเป็นผู้ผลิตเส้นใย และได้เปรียบคู่แข่งในอาเซียนในอุตสาหกรรมต้นน้ำสำหรับเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปแฟชั่น คาดว่า อาจขยายตัวตามความต้องการสินค้าแฟชั่นและความนิยมสินค้าหรูแบรด์ดังจากต่างประเทศ

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในไตรมาส 4 ปี 2558 มีปริมาณ 1.25 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 26.47 ตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.81 สำหรับภาพรวมในปี 2558 การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ มีปริมาณ 5.67 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.62 ซึ่งการผลิตที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับตลาดส่งออกบางตลาดที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ เบลเยี่ยม และสวีเดน

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 1 ปี 2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาค่าครองชีพและหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งราคาพืชผลเกษตรตกต่ำต่อเนื่อง อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่าง

ยา การผลิตยาในประเทศไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 8,592.93ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.68และ 13.01 ตามลำดับ ในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตยาหดตัวลงโดยมีการผลิตยาเกือบทุกชนิดลดลงในไตรมาสนี้โดยเฉพาะยาน้ำเนื่องจากตลาดยาในประเทศหดตัวจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับคณะกรรมการอาหารและยาจำกัดปริมาณการจำหน่ายยาที่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์บางชนิด รวมถึงให้ยกเลิกการจำหน่ายยาที่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์อีกบางชนิดในประเทศ เนื่องจากเกรงว่าผู้ซื้อจะนำยาดังกล่าวไปดัดแปลงเป็นยาเสพติดทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับลดปริมาณการผลิตยาบางชนิดลงและยกเลิกการผลิตยาบางชนิดไป

ในไตรมาสที่ 1ปี 2559คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการแพทย์ครบวงจรเพื่อให้ไทยเป็น Medical Hub ของอาเซียน น่าจะช่วยให้อุตสาหกรรมยาในประเทศขยายตัวได้

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 อุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ ในส่วนของยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยังขยายตัวได้ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกทั้งกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคจากโรคระบาด

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมยางยานพาหนะในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับการส่งออกในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต่ออายุการให้ GSP แก่สินค้าไทยออกไปอีก 4 ปี 5 เดือน โดยได้มีการลงนาม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ซึ่งจะมีผลหลังจากลงนามแล้ว 30 วัน และผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิการคืนภาษีย้อนหลัง 2 ปีจากการต่ออายุ GSP ครั้งนี้

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 4 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ขยายตัวเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการจำหน่ายในช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี สำหรับการฟอกและตกแต่งหนังฟอก การผลิตรองเท้า ปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำไปยังตลาดอื่นชะลอตัวลงต่อเนื่อง อีกทั้งฐานการผลิตรองเท้าที่สูงเมื่อปีก่อนเพราะเร่งการผลิตและส่งออกสินค้าประเภทรองเท้าให้ทันก่อนการถูกตัดสิทธิ์ GSP ในปี 2558 แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การผลิตสินค้าในกลุ่มสินค้าสำเร็จรูป ได้แก่ กระเป๋า และรองเท้า เพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตเพื่อรองรับการจำหน่ายในช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี

คาดการณ์ปี 2559 การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง คาดว่า จะขยายตัวได้ หากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) นอกจากนี้การขับเคลื่อนของนโยบายภาครัฐ และการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการบริโภคโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้ยังเป็นระดับต่ำกว่าปกติตามการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจจีนอาจจะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าในกลุ่มรองเท้าและเครื่องหนัง

อัญมณีและเครื่องประดับ การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ในไตรมาส 4 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 1) พบว่า ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 47.75 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลักที่เริ่มฟื้นตัว โดยเป็นการผลิตเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และเพื่อรองรับความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน ส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่าย และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง เพิ่มขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ร้อยละ 40.12 และ 186.34 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.01 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2559 คาดว่า จะปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการเน้นการส่งออกสินค้าในสต๊อกทดแทนการผลิตใหม่

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมลดลงจากปีก่อนร้อยละ 13.69 จากการลดลงของอุตสาหกรรมอาหารที่สำคัญ เช่น น้ำตาลทราย ประมง รวมถึงธัญพืชและแป้ง ได้รับผลกระทบจากการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้า หากเทียบกับไตรมาสก่อนพบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากร้อยละ 22.08 เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อรองรับผลผลิตออกฤดูตลาดของสินค้าเกษตร เช่น อ้อย สับปะรด มันสำปะหลัง และข้าว

คาดการณ์แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2559 คาดว่า การผลิตและการส่งออกในภาพรวมจะมีอัตราการเติบโตเพียงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0-5 และ 0-3 ตามลำดับ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ