ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.8 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 0.6 แต่ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ และการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตรถยนต์ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนสายพานการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รุ่นใหม่ของผู้ผลิตรายใหญ่เสร็จสิ้นลงในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกปรับตัวลดลงตามการลดลงของปริมาณการส่งออก กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ ปิโตรเลียม ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เคมี และยาสูบ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง ยางและพลาสติก ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ หลอดอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องจักรและอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 2.9 ซึ่งขยายตัวจากปี 2557 ที่หดตัวร้อยละ 0.4 และเศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0
สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 พบว่า บางตัวมีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต โดยอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็ก เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น ส่วนมูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 5.8 (ม.ค.ธ.ค.58) เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2557 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 สำหรับความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2557
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 106.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (106.6) ร้อยละ 0.5 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (105.8) ร้อยละ 0.3
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็ก เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ เครื่องประดับเพชรพลอย ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น
ในปี 2558 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 107.7 เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 0.3 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ เครื่องประดับเพชรพลอย เป็นต้น
ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 107.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (106.6) ร้อยละ 0.9 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (106.7) ร้อยละ 0.8
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เบียร์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ แป้งมัน กลูโคส ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ เครื่องประดับเพชรพลอย ยานยนต์ น้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
ในปี 2558 ดัชนีการส่งสินค้ามีค่า 108.0 เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 0.3 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องประดับเพชรพลอย ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับ ยานยนต์ เป็นต้น
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 116.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (109.5) ร้อยละ 6.6 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (125.1) ร้อยละ 6.7
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ สบู่และผงซักฟอก เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ รถจักรยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยางสำหรับรถ เป็นต้น
ในปี 2558 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังมีค่า 114.4 ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 6.4 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลไม้และผักกระป๋อง เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 63.4 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 64.3) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (ร้อยละ 64.6)
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น
ในปี 2558 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 64.7 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์เหล็ก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเฉลี่ยรวมมีค่า 74.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (72.6) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (80.2) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ทั้ง 3 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเป็นรายเดือน จะเห็นว่า ดัชนีในเดือนธันวาคม 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย และมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ในอนาคตอันใกล้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก และการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นพร้อมกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองระหว่างประเทศ
เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีค่า 63.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (61.8) แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากยังคงมีปัจจัยหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภควิตกกังวล
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีค่า 69.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสผ่านมา (67.8) แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวการณ์จ้างงานโดยรวมยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ
ดัชนีความเชื่อมั่นในผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีค่า 90.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (88.1) แต่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจในรายได้ในอนาคตของตน แต่ระดับความมั่นยังคงสูงกว่าความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมและโอกาสหางานทำ
จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีค่าเท่ากับ 49.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (46.7) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (48.8) โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ดัชนีโดยรวมมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจไม่ดี ผู้ประกอบการมองว่าภาวการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตมีแนวโน้มที่ไม่ดี สำหรับดัชนีที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ผลประกอบการของบริษัท การลงทุนของบริษัท การจ้างงานของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมดของบริษัท และการผลิตของบริษัท
ในปี 2558 ดัชนีโดยรวมมีค่า 48.7 เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีค่า 48.0 โดยดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ การลงทุนของบริษัท
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)
จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 86.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (82.7) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (90.0) การที่ค่าดัชนียังอยู่ระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นเป็นรายเดือน จะเห็นว่าดัชนีในเดือนธันวาคม 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 87.5 จากเดือนพฤศจิกายน 2558 (85.8) โดยค่าดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเดือนธันวาคม 2558 ได้แก่ การจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายในช่วงสิ้นปี การจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2015 และมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในช่วงปีใหม่ ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงต่อเนื่องได้ส่งผลดีต่อต้นทุนขนส่งของผู้ประกอบการ อีกทั้งผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นกลไกสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ ขอให้เร่งเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ออกมาตรการดูแลปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำเพื่อสร้างกำลังซื้อในภาคเกษตร สนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตสินค้า เพื่อยกระดับมูลค่าสินค้าไทย และส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย
ในปี 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 85.8 ลดลงจากปี 2557 ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 87.4
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 155.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2558 ร้อยละ 1.8 ที่ระดับ 153.1 ตามการขยายตัวของเงินทุนจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง ณ ราคาคงที่ และดัชนีส่วนกลับราคาน้ำมัน (โอมาน)
สำหรับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีค่าเฉลี่ย 154.02 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ย 153.14
ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนธันวาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 128.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพฤศจิกายน 2558 ร้อยละ 0.4 ที่ระดับ 128.5 ตามการขยายตัวของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ
ดัชนีพ้องเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีค่าเฉลี่ย 128.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 0.7 ที่ระดับ 127.5
ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 5) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีค่า 117.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (113.2) และไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (114.4) ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล ปริมาณการจำหน่ายเบียร์ โซดา และน้ำดื่มบริสุทธิ์ การนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ณ ราคาคงที่ ดัชนีค้าปลีกสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถยนต์นั่ง
ปี 2558 ที่ผ่านมา การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนโดยรวมเพิ่มขึ้นจากปี 2557 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าในทุกกิจการ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล ปริมาณการจำหน่ายเบียร์ โซดา และน้ำดื่มบริสุทธิ์ การนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ณ ราคาคงที่ และดัชนีค้าปลีกสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ณ ราคาคงที่
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ พบว่า ไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมมีค่า 121.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (119.0) และไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (119.7)
หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2557
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2557
ปี 2558 การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2557 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่
จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ 106.1 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (106.4) และไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (107.1) การที่ราคาผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากการลดลงของราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ รวมทั้งกลุ่มอาหารสดและพลังงาน
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีค่าเท่ากับ 101.7 ปรับตัวลดลงจาก ไตรมาสที่ผ่านมา (102.5) และไตรมาสเดียวกันของปี 2557 (104.8) โดยราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ผลผลิตภัณฑ์จากเหมืองและผลผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2557 แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2558) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 39.164 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 38.872 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.25 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.25 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.65)
สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่สี่ของปี 2558 มีจำนวน 6.310 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 16.23 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
มูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหดตัวลง และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการค้ายังคงลดลงเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ทั้งการส่งออก และการนำเข้ามีมูลค่าลดลง สำหรับดุลการค้าใน ไตรมาสที่ 4 นี้เกินดุลการค้าเป็นมูลค่า 3,886.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวลง เนื่องจากทั้งการส่งออกและการนำเข้ามีมูลค่าลดลง โดยการส่งออกใน ไตรมาสที่ 4 นี้มีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.09 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 12.56 โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าทั้งสิ้น 101,779.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 52,833.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 48,946.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 นั้น มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.43 สำหรับมูลค่าการนำเข้ายังคงลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557 โดยมีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.93 สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 4 นี้ อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้าโดยมีมูลค่า 3,886.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2558 โดยการส่งออกของเดือนตุลาคมมีมูลค่า 18,566.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.11 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนการส่งออกมีมูลค่า 17,166.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.42 และการส่งออกในเดือนธันวาคมมีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.73 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกัน
การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ประกอบด้วยสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า 41,422.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็น ร้อยละ 78.40) ซึ่งเป็นหมวดสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุด รองลงมาคือสินค้าเกษตรกรรม 5,066.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.59) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 4,298.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 8.14) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออก 2,045.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.87)
เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่าการส่งออกในหมวดสินค้าสำคัญทุกหมวดมีมูลค่าลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัวลง โดยสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีมูลค่าลดลงร้อยละ 0.43 สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 6.71 สินค้าเกษตรกรรมมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 12.75 และสินค้าแร่ และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 30.84
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.71 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 10 รายการหลัก ได้แก่ สินค้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออก 8,433.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 20.36 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม) ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 7,817.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 18.87) เครื่องใช้ไฟฟ้า 5,293.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 12.78) อัญมณีและเครื่องประดับ 2,393.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.78) เม็ดพลาสติก 1,945.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.70) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง 1,881.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.54) สิ่งทอ 1,671.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.04) ผลิตภัณฑ์ยาง 1,585.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.83) เคมีภัณฑ์ 1,462.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.53) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออก 1,357.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.28) โดยมูลค่าการส่งออกทั้ง 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 33,843.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 81.70 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด
การส่งออกไปยังตลาดหลักในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ซึ่งได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็น ร้อยละ 68.42 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่มีมูลค่าลดลง โดยมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 4.90 การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปมีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.15 การส่งออกไปยังประเทศจีนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.34 การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 9.30 และมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 9.62
การนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 เป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 18,746.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 38.30) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน โดยมีมูลค่า 14,697.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 30.03) สินค้าเชื้อเพลิง 6,134.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 12.53) สินค้าอุปโภคบริโภค 5,971.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 12.20) สินค้าหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง 3,308.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.76) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ 88.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.18) ตามลำดับ
โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าในหมวดสินค้ายานพาหนะ และอุปกรณ์ขนส่ง และหมวดสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่น ๆ มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.60 และ 14.29 ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าสินค้าในหมวดสินค้าทุนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.31 การนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค มีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.18 การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าลดลงร้อยละ 11.89 และการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงมีมูลค่าลดลงร้อยละ 40.31 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ
ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 48.26 เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการนำเข้าสินค้าจากทุกแหล่งนำเข้าสำคัญมีมูลค่าลดลง โดยในไตรมาสที่ 4 นี้ มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 9.11 การนำเข้าสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 15.26 การนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกามีมูลค่าลดลงร้อยละ 15.63 และการนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศในอาเซียนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 19.70
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนมีมูลค่ารวม6,466.6 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนตุลาคมมีมูลค่า 1,340.6 ล้านบาท สำหรับเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 5,126.0 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนตุลาคมมีการลงทุนเพิ่มต่ำกว่าการลดการลงทุน (ไม่ว่าจะในรูปของการลดสัดส่วนการถือหุ้นหรือการคืนเงินกู้ให้บริษัทในเครือในต่างประเทศ) ทำให้มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ -7,185.5 ล้านบาท และในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ -5,502.9 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ -12,688.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ -9,646.6 ล้านบาท
ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 การลงทุนในกิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัย เป็นสาขาที่มีการลงทุนเพิ่มสูงกว่าการลดการลงทุน และมีมูลค่าลงทุนสุทธิสูงสุดเป็นเงินลงทุน 11,619.4 ล้านบาท สำหรับกิจกรรมการผลิต หรือสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ -12,688.3 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งพ่วงมากที่สุดซึ่งมีมูลค่าลงทุนสุทธิ 6,027.5 ล้านบาท รองลงมาคือการผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์มีมูลค่าลงทุนสุทธิ 4,999.8 ล้านบาท การผลิตเครื่องจักร และเครื่องมือซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่นมีมูลค่าลงทุนสุทธิ 1,239.4 ล้านบาท การผลิตอาหารมีมูลค่าลงทุนสุทธิ 1,168.0 ล้านบาท และการผลิตเฟอร์นิเจอร์มีมูลค่าลงทุนสุทธิ 347.4 ล้านบาท
ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2558 คือประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีเงินลงทุนสุทธิ 16,536.8 ล้านบาท รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่น และประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 13,424.3 ล้านบาท และ 5,313.8 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2558 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 468 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หรืออยู่ในระดับคงตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 467 โครงการ การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 143,750 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 296,460 ล้านบาท โดยโครงการลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 150 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 36,930 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 113 โครงการ เป็นเงินลงทุน 47,800 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 205 โครงการ เป็นเงินลงทุน 59,010 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนพบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดกิจการบริการ และสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 57,820 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดเกษตร และผลิตผลจากการเกษตรมีเงินลงทุน 28,210 ล้านบาท และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์มีเงินลงทุน 27,250 ล้านบาท
สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดคือ ประเทศญี่ปุ่นโดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 84 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 25,250 ล้านบาท รองลงมาคือประเทศอินโดนีเซียได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 1 โครงการ มีเงินลงทุน 13,441 ล้านบาท ประเทศสิงคโปร์มีจำนวน 33 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 7,748 ล้านบาท และประเทศฮ่องกงมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 18 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 5,261 ล้านบาท
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--