สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2558 (ตุลาคม - ธันวาคม 2558)(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 16:02 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

Highlightสถานการณ์เหล็กไทยในปี 2558 ประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งในเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศทำให้ความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่สำคัญ เช่น ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ชะลอตัวลง นอกจากนี้ จากการที่จีนประสบปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิตที่ชะลอตัว ในขณะที่ปริมาณการผลิตของประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้จีนเกิดปัญหาการผลิตส่วนเกิน จึงทำให้ผู้ผลิตจีนส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็กเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลจีนมีนโยบายที่เอื้อด้วยการกำหนดนโยบายสนับสนุนผู้ส่งออก จึงทำให้สินค้าเหล็กจากจีนเข้ามายังตลาดไทยมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตไทยไม่สามารถแข่งขันได้

การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาสที่ 4 ปี 2558 มีการปรับตัวลดลง ร้อยละ 10.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณการผลิต 803,625 เมตริกตัน โดยเหล็กทรงยาว ปรับตัวลดลง ร้อยละ 13.27 เนื่องจากสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยกำลังประสบภาวะชะลอตัว และมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงมากขึ้น เมื่อภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคลดลง และสถาบันการเงินระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัย จึงทำให้การซื้อขายที่อยู่อาศัยชะลอลง ซึ่งมีผลต่อเนื่องมายังจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายทั้งที่สร้างเสร็จและกำลังก่อสร้างสะสมเพิ่มขึ้นทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด รองลงมาคือ เหล็กทรงแบน ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.55 โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 34.03 เนื่องจากประสบปัญหาการส่งออกอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋องไปยังตลาดส่งออกหลักที่สำคัญ คือ สหภาพยุโรป ที่ลดลง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องยังประสบปัญหาจากการขาดแคลนวัตถุดิบเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าปี 2558 มีการปรับตัวลดลง ร้อยละ 4.40 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปริมาณการผลิต 6,495,236 เมตริกตัน โดยเหล็กทรงยาว ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.18 สำหรับเหล็กทรงแบน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 4.32 โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 16.96 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 13.47 รายละเอียดตามตารางที่ 1

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 มีประมาณ 3,696,443 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 17.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายในประเทศ ลดลง คือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 24.36 และเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 14.18

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2558 มีประมาณ 16,733,912 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 3.49 เมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายในประเทศลดลง คือ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 5.19 เหล็กทรงยาวมีการจำหน่ายในประเทศ ลดลง เล็กน้อย ร้อยละ 0.41

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาส 4 ปี 2558 มีจำนวนประมาณ 154 ล้านเหรียสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก ลดลง ร้อยละ 8.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 6.45 แต่เหล็กทรงแบนกลับมีมูลค่าการส่งออก ขยายตัวขึ้น ร้อยละ 3.38โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น ขยายตัว ขึ้นร้อยละ 33.53 แต่เหล็กแผ่นรีดร้อน มีการส่งออกลดลง ร้อยละ 59.70

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญใน ปี 2558 มีจำนวนประมาณ 712.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก ลดลง ร้อยละ 20.59 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย, สิงคโปร์และฮ่องกง ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 32.19 โดยเหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 38.73 รองลงมา คือ เหล็กเส้น ร้อยละ 38.08 สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 15.76 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 52.94 เหล็กแผ่นเคลือบ ลดลง ร้อยละ 21.67 รายละเอียดตามตารางที่ 2

การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 มีจำนวนประมาณ 1,398.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น,จีนและสาธารณรัฐเกาหลี ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 60.04 เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 26.70 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 32.43 สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว ปรับตัวลดลง ร้อยละ 11.69 โดยเหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 25.82

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2558 มีจำนวนประมาณ 6,969.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 16.17 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยประเทศนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น, จีนและสาธารณรัฐเกาหลี ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 31.53 โดยเหล็กแท่งแบน ลดลง ร้อยละ 57.10 เนื่องจากสถานการณ์การผลิตของเหล็กทรงแบนในประเทศที่ลดลง จึงมีผลทำให้การนำเข้าเหล็กทรงแบนเพื่อเป็นวัตถุดิบลดลงด้วย สำหรับเหล็กทรงแบน มีมูลค่าการนำเข้า ที่ลดลง ร้อยละ 11.73 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน มีมูลค่านำเข้า ลดลง ร้อยละ 14.40 เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ลดลง รายละเอียดตามตารางที่ 3

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

1. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศ เปิดการไต่สวนการนำเข้าสินค้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนเจืออัลลอยหน้าตัดรูปตัว H ที่นำเข้ามาภายใต้พิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๒๒๘.๗๐.๑๐๐๐๐ และ ๒๒๘.๗๐.๙๐๐๐๐

2. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศ เปิดการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนล้างกรดและเคลือบน้ำมันชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้พิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๒๐๘.๒๕๐๐.๐๒๑, ๗๒๐๘.๒๕๐๐.๐๒๒, ๗๒๐๘.๒๕๐๐.๐๒๓, ๗๒๐๘.๒๕๐๐.๐๓๑ ๗๒๐๘.๒๕๐๐.๐๓๒, ๗๒๐๘.๒๕๐๐.๐๓๓, ๗๒๐๘.๒๕๐๐.๐๙๐, ๗๒๐๘.๒๖๐๐.๐๑๑,๗๒๐๘.๒๖๐๐.๐๑๒, ๗๒๐๘.๒๖๐๐.๐๑๓, ๗๒๐๘.๒๖๐๐.๐๒๑, ๗๒๐๘.๒๖๐๐.๐๒๒ ๗๒๐๘.๒๖๐๐.๐๒๓, ๗๒๐๘.๒๖๐๐.๐๙๐, ๗๒๐๘.๒๗๑๐.๐๒๑, ๗๒๐๘.๒๗๑๐.๐๒๒ ๗๒๐๘.๒๗๑๐.๐๒๓, ๗๒๐๘.๒๗๑๐.๐๙๐, ๗๒๐๘.๒๗๙๐.๐๑๑, ๗๒๐๘.๒๗๙๐.๐๑๒ ๗๒๐๘.๒๗๙๐.๐๑๓, ๗๒๐๘.๒๗๙๐.๐๙๐, ๗๒๑๑.๑๔๑๙.๐๑๐, ๗๒๑๑.๑๙๑๑.๐๑๐ และ ๗๒๑๑.๑๙๒๑.๐๑๐ รวม ๒๕ พิกัด ที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐเกาหลี ในอัตราร้อยละ 22.11 ของราคา ซี ไอ เอฟ

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าไตรมาส 4/2558 มีปริมาณการผลิต 803,625 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 10.01 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นผลจากการลดลงของเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 13.27 เนื่องจากสถานการณ์ธุรกิจก่อสร้างประสบภาวะชะลอตัว สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 1.55 โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 34.03 เนื่องจากอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ประสบปัญหาในเรื่องการส่งออก สำหรับการจำหน่ายในประเทศไตรมาส 4/2558 มีปริมาณ 3,696,443 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 17.76 โดยเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 24.36 รองลงมาคือ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 14.18 การส่งออก มีมูลค่า 154 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 8.41 การนำเข้า มีมูลค่า 1,398.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.25

แนวโน้ม

คาดการณ์ว่าสถานการณ์เหล็กในปี 2560 ในส่วนการผลิตจะทรงตัว คือ 6.50 ล้านตัน โดยความต้องการใช้เหล็กในประเทศอยู่ในช่วง 0-3% ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ความต้องการใช้เหล็กสูงขึ้น คือ การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เนื่องจากการก่อสร้างของภาคเอกชนยังคงชะลอตัวอยู่ เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการซื้อและลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ผลต่อการผลิตของผู้ผลิตในประเทศ คือ ปัญหาการผลิตส่วนเกินจากประเทศจีน ซึ่งทำให้ผู้ผลิตจีนส่งสินค้าเข้ามายังประเทศที่ไม่มีมาตรการคุ้มครองดีพอ และถึงแม้จีนจะโดนแรงบีบจากหลายประเทศให้ลดการผลิตลง ซึ่งจะต้องคอยจับตาดูว่าจีนจะทำตามแรงกดดันของประเทศอื่นๆ หรือไม่

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ