สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2558 (ตุลาคม - ธันวาคม 2558)(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 16:37 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2558 มีดัชนีผลผลิตในภาพรวมเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษแข็ง เพื่อรองรับการส่งออกเยื่อกระดาษไปยัง จีน ฝรั่งเศส เวียดนาม และบังคลาเทศ ที่เพิ่มขึ้น สำหรับการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และหนังสือและสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนของประเทศคู่ค้าสำคัญ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า หนังสือและสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการร่วมลงทุนในธุรกิจสิ่งพิมพ์ระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น ส่วนการนำเข้า เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามการบริโภคในประเทศที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

การผลิต

ไตรมาส 4 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ และกระดาษแข็ง มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.84 และ 29.50 ตามลำดับ จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม และบังคลาเทศ เพิ่มขึ้น ประกอบกับผลิตเพื่อรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามภาวะการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่คาดว่าจะขยายตัวในปี 2559 สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 10.92 0.23 และ 6.40 ตามลำดับ เป็นผลมาจากการผลิตเพื่อส่งออกลดลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั้งในยุโรป และ จีน ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์ และ กระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 4.38 7.18 1.33 และ 8.28 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เนื่องจากมีการส่งมอบสินค้าเพื่อรองรับความต้องการช่วงเทศกาลปีใหม่ในช่วงไตรมาสก่อน และอยู่ในช่วงรอคำสั่งซื้อรอบถัดไป สำหรับกระดาษแข็ง มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.51 เนื่องจากการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ที่คาดว่าจะขยายตัว

ไตรมาส 4 ปี 2558 มีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษที่ได้รับใบอนุญาตให้ขยายกิจการ จำนวน 1 แห่ง ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม มีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษขนาดเล็ก 1 แห่ง ยกเลิกการประกอบกิจการ สำหรับโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ มีการจดทะเบียนประกอบกิจการ จำนวน 4 แห่ง (โดยแบ่งเป็นโรงงานขนาดกลาง 1 แห่ง ขนาดเล็ก 3 แห่ง) ขยายกิจการ 1 แห่ง (โรงงานขนาดใหญ่) แต่ไม่มีการขอยกเลิกกิจการ สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษที่มีแนวโน้มขยายตัว ในส่วนโรงงานประเภทโรงพิมพ์ มีการขออนุญาตประกอบกิจการ จำนวน 10 แห่ง และขยายกิจการ 1 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพิมพ์ขนาดกลางและขนาดเล็ก และมีการพิมพ์บนวัสดุอื่นที่นอกเหนือจากกระดาษ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการขยายตัวเพื่อรองรับการพิมพ์ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1.เยื่อกระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 41.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.45 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) จากการส่งออกไปยังตลาดจีน และฝรั่งเศส เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของจีนขยายตัวลดลง แต่เยื่อกระดาษยังคงเป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายสาขา โดยเยื่อไม้เคมี และเยื่อไม้เคมีที่เป็นเยื่อโซดาหรือเยื่อซัลเฟต มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 2 อันดับแรก

หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 11.74 จากการส่งออกไปยังฝรั่งเศสลดลง เนื่องจากมีการส่งมอบเยื่อกระดาษเพื่อนำไปผลิตสินค้าสำเร็จรูปสำหรับเทศกาลสำคัญช่วงปลายปีไปแล้วในไตรมาสที่ผ่านมา

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 391.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน พบว่า ลดลง ร้อยละ 5.47 และ 2.01 ตามลำดับ ถึงแม้ว่าการส่งออกกระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ จะขยายตัว แต่กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษชำระ และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ที่ส่งออกไปยังตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย และจีน ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนของประเทศคู่ค้า

3.หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 20.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า ลดลง ร้อยละ 3.33 จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวลดลงจากปีก่อน โดยสิ่งพิมพ์ประเภทโบรชัว และแผ่นพับ มีการส่งออกลดลงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.06 จากการส่งออกสิ่งพิมพ์โฆษณาทางการค้า และแคตตาล๊อก ไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของไทยและญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2558 ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการส่งออกสิ่งพิมพ์ประเภทดังกล่าวไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

การนำเข้า

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 181.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3) พบว่า อยู่ในภาวะทรงตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.77 เป็นผลมาจากการนำเข้าเยื่อกระดาษใยยาวประเภทไม้สนที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศจากยุโรปเข้ามาสต็อกไว้

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 329.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 9.43 และ 8.32 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ ไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เป็นผลมาจากความต้องการในประเทศลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับการผลิตในประเทศเพียงพอต่อความต้องการใช้

3.สิ่งพิมพ์ ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 52.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.85 และ 5.14 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ตามลำดับ โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ประเภทวารสาร นิตยสาร มีการนำเข้าลดลง เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง ประกอบกับความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสนใจสื่อประเภทดิจิตอลมากขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ซึ่งจะส่งผลให้รูปแบบการติดต่อสื่อสาร การผลิต การดำเนินธุรกิจ และการอุปโภคบริโภค ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมไปสู่การทำกิจกรรมผ่านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร โดยรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลอย่างครบวงจร และปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในด้านต่าง ๆ จากการแข่งขันเชิงราคา ไปสู่การแข่งขันเชิงการสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ (Service Innovation) ที่ผู้บริโภคพอใจสูงสุด ดังนั้น ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์จำเป็นต้องปรับตัวไปสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์สร้างสรรค์ที่ผสมผสานสิ่งพิมพ์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าด้วยกัน

มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs และมาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนขยายตัวตามไปด้วย

กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อร้องเรียนของสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย ที่ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีขาออกไม้ยูคาลิปตัสจาก ร้อยละ 0 เป็นเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบ ภายหลังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไม้ยูคาลิปตัส ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ เนื่องจากมีกลุ่มเอกชนทำการ รับซื้อไม้ยูคาลิปตัสจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าจำหน่ายให้โรงงานผลิตเยื่อกระดาษในประเทศ เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ และกระดาษแข็ง มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ จีนและฝรั่งเศส ประกอบกับผลิตเพื่อรองรับความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามภาวะการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่คาดว่าจะขยายตัว สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง จากการส่งออกที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ คู่ค้า แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์ และ กระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง เนื่องจากมีการส่งมอบสินค้าเมื่อไตรมาสที่ผ่านมา และรอคำสั่งซื้อรอบถัดไป สำหรับกระดาษแข็ง มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตเพื่อรองรับความต้องการ บรรจุภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ที่คาดว่าจะขยายตัว

การส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น จากความต้องการในจีน และฝรั่งเศส ส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และหนังสือและสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าการส่งออกลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนของประเทศคู่ค้าสำคัญ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า เยื่อกระดาษ และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ มีมูลค่าการส่งออกลดลง เนื่องจากมีการส่งมอบสินค้าสำหรับเทศกาลสำคัญช่วงปลายปีไปแล้วใน ไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนังสือและสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการร่วมลงทุนในธุรกิจสิ่งพิมพ์ระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น

การนำเข้า เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าลดลง ตามการบริโภคในประเทศที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับการผลิตภายในเพียงพอต่อความต้องการ หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มีการนำเข้าเยื่อกระดาษใยยาวประเภทไม้สนมาสต็อกไว้เพิ่มขึ้น ส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ มีการนำเข้าลดลง

แนวโน้มปี 2559

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ปี 2559 คาดว่า ภาพรวมจะขยายตัวได้ โดยการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลิตกระดาษพิมพ์เขียน ยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง ประกอบกับการนำเข้ากระดาษจากต่างประเทศมาใช้ทดแทน

การส่งออกเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในเอเชีย เช่น จีน และ ญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัวตามไปด้วย สำหรับหนังสือและสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะชะลอตัวจากการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ต้องเน้นการผลิตสิ่งพิมพ์ที่ผสมสื่อดิจิตอลและเทคโนโลยีเข้าไปในงานผลิต ตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

การนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ คาดว่า จะทรงตัว ในส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ จะชะลอตัวเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเยื่อใยสั้นที่สามารถใช้ทดแทนการนำเข้า เยื่อใยยาวของผู้ประกอบการรายใหญ่ สำหรับสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะชะลอตัวเช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นผล มาจากนิตยสารชื่อดังระดับโลกที่ทยอยปิดตัวในช่วงปลายปี 2558 ประกอบกับผู้บริโภคลดภาระการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ