สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2558 (ตุลาคม - ธันวาคม 2558)(อุตสาหกรรมเซรามิก)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 16:40 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตและจำหน่ายเซรามิกลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง ในขณะที่การส่งออกได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ทำให้ตลาดหลักชะลอตัว ยกเว้นตลาดสหรัฐอเมริกาที่เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น

การผลิต

การผลิตเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2558 ในภาพรวมได้รับผลกระทบจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การผลิตวัสดุก่อสร้างเพื่อรองรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถขยายตัวได้ โดยการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 30.75 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 22.52 และ 14.30 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์มีปริมาณ 1.84 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.66 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.16 (ดังตารางที่ 1)

การผลิตเซรามิก ปี 2558 ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลต่อการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ และความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง โดยการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 152.67 ล้านตารางเมตร และการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 7.24 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.60 และ 2.95 ตามลำดับ

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2558 เป็นไปตามทิศทางของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก เนื่องจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ อีกทั้งปัญหาภาระค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ทำให้เกษตรกรมีรายได้น้อย จึงเลือกจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่สำคัญมากกว่าการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างลดลงโดยการจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 38.92 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.89 และ 0.38 ตามลำดับ และการจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.00 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.85 และ 0.99 ตามลำดับ (ดังตารางที่ 2)

การจำหน่ายเซรามิก ปี 2558 ลดลงตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง โดยการจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 167.59 ล้านตารางเมตร และการจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 4.04 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.34 และ 10.22 ตามลำดับ

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกจะส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนี ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่ารวม 196.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.82 และ 8.06 ตามลำดับ (ดังตารางที่ 3) ซึ่งในภาพรวมเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ทำให้ตลาดหลักเกือบทุกตลาดชะลอตัว ยกเว้นตลาดสหรัฐอเมริกาที่การส่งออกมีทิศทางดีขึ้น โดยสามารถขยายตัวได้ทุกผลิตภัณฑ์

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ปี 2558 มีมูลค่ารวม 818.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.29 ซึ่งในภาพรวมเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกยังสามารถขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกาและตลาดอาเซียนในบางผลิตภัณฑ์ เช่น การส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และลูกถ้วยไฟฟ้า ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกา การส่งออกกระเบื้องปูพื้น บุผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ และของชำร่วยเครื่องประดับ ขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน

การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น มาเลเซียเวียดนาม และเยอรมนี โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่ารวม 129.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 13.45 และ 5.81 ตามลำดับ (ดังตารางที่ 4) ซึ่งเป็นไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ปี 2558 มีมูลค่ารวม 519.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ในภาวะทรงตัว โดยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.19 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการเป็นสำคัญ

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2558 ในภาพรวมยังได้รับผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ ปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และรายได้ภาคเกษตรที่ตกต่ำส่งผลให้การปรับปรุงซ่อมแซมบ้านชะลอออกไป และทำให้การใช้เซรามิกเป็นวัสดุก่อสร้างไม่ขยายตัว สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2558 ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ทำให้ตลาดหลักเกือบทุกตลาดชะลอตัว ยกเว้นตลาดสหรัฐอเมริกาที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2558 ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ การพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทั้งระบบ การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน ซึ่งจะช่วยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ใกล้เคียงเติบโตตามไปด้วย และส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ เซรามิก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2559 มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามภาวะการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2559 มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ