อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยหดตัวลงจากปีที่ผ่านมาเนื่องจากภาคก่อสร้างโดยเฉลี่ยตลอดทั้งไตรมาสถือว่าอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงเฉลี่ยที่กว่าร้อยละ 10ตลอดทั้งไตรมาสสำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์มีปริมาณเพิ่มขึ้นแต่มีมูลค่าลดลง เนื่องจากชนิดสินค้าที่มีการขยายตัวในไตรมาสนี้คือปูนเม็ดซึ่งมีมูลค่าไม่สูงมากนัก
การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 8.62 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 8.99 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ0.70 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 14.22สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.57 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 15.98หากพิจารณาจากตัวเลขการผลิตจะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับปีก่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าอัตราการดิ่งลงของตัวเลขจะชะลอตัวในไตรมาสนี้ เนื่องจากมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์สูงขึ้นมากในเดือนธันวาคม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวที่ดีขึ้นในระยะต่อไป โดยความชัดเจนในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีและการปรับลดราคาขายปูนซีเมนต์ลงในช่วงเดือนธันวาคมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น และทำให้มีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์มากขึ้นตาม
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 4 ปี 2558 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 7.79 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.11 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 7.68 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.77 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 12.86 เนื่องจากภาคก่อสร้างในประเทศเริ่มขยายตัวดีขึ้นจากความชัดเจนในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจึงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีขึ้นอีกในไตรมาสต่อไป
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2558 มีปริมาณการส่งออกรวม 3.28 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 159.22ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 1.40 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 49.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 84.21 และ 64.38 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.36 และ 27.95 ตามลำดับ ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกจำนวน 1.88 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 110.20ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.09และ 3.24ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 12.55และ 15.39ตามลำดับ ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากฐานตัวเลขการส่งออกของปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูง และการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศของไทยก็ยังไม่ขยายตัวมากนัก โดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชาที่ในไตรมาสนี้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนส่งผลให้มีปริมาณการผลิตลดลงตาม โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทยในไตรมาสนี้ยังคงเป็นเมียนมาร์ รองลงมา คือ กัมพูชา บังคลาเทศ ลาว และอินโดนีเซีย ตามลำดับ
การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 4 ปี 2558 มีปริมาณรวม 4,787.02 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ13.95และ16.21ตามลำดับ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ11.33และ1.71ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ดจำนวน 364.15 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 4,422.87 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.61ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการนำเข้าส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าเพื่อการทดสอบ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าปูนซีเมนต์ขาวชนิดพิเศษและอะลูมินัสซีเมนต์ที่ไม่มีการผลิตในประเทศโดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งในไตรมาสนี้ยังคงเป็นจีน รองลงมา คือ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์และฝรั่งเศสตามลำดับ
กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ปรับลดราคาขายหน้าโรงงานลงเนื่องจากราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีต้นทุนด้านการขนส่งที่ลดลง โดยทุกบริษัทต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ราคาขายปลีกของปูนซีเมนต์เกือบทุกตราสินค้าลดลงในช่วงปลายเดือนธันวาคมซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับกิจกรรมส่งเสริมการขายอื่นๆ ของแต่ละบริษัทแล้ว ราคาจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงกว่าร้อยละ 10 บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยเกือบทุกรายจึงมียอดจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กิจกรรมส่งเสริมการขายดังกล่าวเป็นเพียงนโยบายกระตุ้นยอดขายชั่วคราวของแต่ละบริษัทเท่านั้น ราคาปูนซีเมนต์ในไตรมาสต่อไปจึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายส่งเสริมการขายของแต่ละบริษัท
รัฐบาลไม่มีมาตรการ/นโยบายสำหรับรองรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยตรง แต่มีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 เห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยในระยะยาว พ.ศ. 2558-2565 และกระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 โดยมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินโครงการและประกวดราคาในไตรมาสนี้จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 2) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยามาบตาพุด 3) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา 4) โครงการพัฒนาท่าเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง5) โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 2 และ 6) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2ทั้งนี้ คาดว่าโครงการลงทุนของภาครัฐภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวข้างต้นจะทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตลอดปีงบประมาณ พ.ศ. 2559
สรุปและแนวโน้ม
ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558ในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเนื่องจากภาคก่อสร้างของไทยขยายตัวดีขึ้นโดยความชัดเจนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐส่งผลให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น ประกอบกับราคาจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ลดลงจากต้นทุนการขนส่งที่ต่ำลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ก็มีส่วนทำให้ยอดการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในไตรมาสนี้สูงขึ้นเช่นกัน
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4ของปี 2558ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะเมียนมาร์สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศของตน ต้อนรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการโดยไทยมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์มากเกินความต้องการใช้ในประเทศอยู่แล้ว จึงสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ในปริมาณมากโดยไม่กระทบต่อความต้องการใช้ในประเทศ
แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งหลายโครงการน่าจะเซ็นสัญญาได้ในไตรมาสแรกของปี2559 นี้ ทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจที่จะลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น และในบางโครงการก่อสร้างของภาครัฐเองก็ต้องใช้ปูนซีเมนต์ในปริมาณมาก ทำให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์น่าจะเร่งผลิตเพื่อให้ทันจำหน่ายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีต่อไป
สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 คาดว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นเช่นกันเนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเมียนมาร์กัมพูชา และลาว น่าจะมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยมากขึ้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--