สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2558 (ตุลาคม - ธันวาคม 2558)(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 16, 2016 10:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมยาในภาพรวมหดตัวลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศค่อนข้างซบเซา ทำให้ร้านขายยาสั่งซื้อเฉพาะยาที่ขายหมดแล้วเท่านั้น ไม่มีการซื้อมาเก็บตุน โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนเองก็สั่งซื้อยาน้อยลงนอกจากนี้ การจำกัดปริมาณการจำหน่ายยาที่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์บางชนิดซึ่งผู้ซื้อสามารถนำไปดัดแปลงเป็นสารเสพติดได้ของคณะกรรมการอาหารและยา ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดปริมาณการผลิตยาดังกล่าวลง ซึ่งส่วนมากเป็นยาแก้ไอ แก้ไข้ และแก้หวัด สำหรับการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน 8 ประเทศ มีมูลค่าการจำหน่ายรวมถึง 60.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 73 ของมูลค่าการส่งออกยาป้องกันและรักษาโรคทั้งหมดของไทยในไตรมาสนี้

การผลิต

การผลิตยาในประเทศไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 8,592.93ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.68และ 13.01 ตามลำดับ ในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตยาหดตัวลงโดยมีการผลิตยาเกือบทุกชนิดลดลงในไตรมาสนี้โดยเฉพาะยาน้ำเนื่องจากตลาดยาในประเทศหดตัวจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับคณะกรรมการอาหารและยาจำกัดปริมาณการจำหน่ายยาที่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์บางชนิด รวมถึงให้ยกเลิกการจำหน่ายยาที่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์อีกบางชนิดในประเทศ เนื่องจากเกรงว่าผู้ซื้อจะนำยาดังกล่าวไปดัดแปลงเป็นยาเสพติดทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับลดปริมาณการผลิตยาบางชนิดลงและยกเลิกการผลิตยาบางชนิดไป

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558มีปริมาณ 8,565.18 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.63 ในขณะที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.48ในภาพรวมการจำหน่ายยาในประเทศยังทรงตัว โดยปรับตัวดีขึ้นพอสมควรในเดือนธันวาคม ทำให้สามารถฉุดอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนขึ้นมาอยู่ในแดนบวกได้ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายสามารถทำตลาดในโรงพยาบาลของรัฐได้มากขึ้น จึงมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งไม่กล้าตัดสินใจเพิ่มปริมาณการผลิตขึ้น เนื่องจากเกรงว่าอาจจะไม่สามารถขายได้ในไตรมาสต่อไป

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 4ของปี 2558มีมูลค่า83.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 8.37และ 3.87 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดส่งออกในภูมิภาคอาเซียนมีการขยายตัวที่ดี โดยเฉพาะเวียดนาม เมียนมาร์ และกัมพูชา โดยผู้ประกอบการไทยหลายรายเริ่มให้ความสนใจในการทำตลาดต่างประเทศมากขึ้นจากการที่ตลาดยาในประเทศอยู่ในภาวะทรงตัวต่อเนื่องตลอดปี 2558โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ ลาวและสิงคโปร์ ตามลำดับ มีมูลค่าการส่งออกรวม48.49ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ58.30ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด จะเห็นได้ว่าตลาดส่งออกยาที่สำคัญของไทยยังคงเป็นตลาดอาเซียน โดยตลาดที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุด 5 ลำดับแรกของไทยในไตรมาสนี้ล้วนเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้งสิ้น

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคไตรมาสที่ 4ของปี 2558 มีมูลค่า 357.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 6.79และ 3.36 ตามลำดับ เนื่องจากตลาดยาในประเทศหดตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาโดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา อินเดีย อิตาลี และฝรั่งเศส ตามลำดับ มีมูลค่าการนำเข้ารวม 151.35ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 42.39 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

โดยการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสนี้เป็นการนำเข้ายาชื่อสามัญจากอินเดียถึง 30.28ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือคิดเป็นร้อยละ 8.48ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมดเนื่องจากมีคุณภาพดีและราคาถูก ซึ่งยาที่นำเข้าจากอินเดียบางชนิดเป็นยาที่ไทยยังไม่สามารถผลิตได้ ในขณะที่บางชนิดก็สามารถผลิตได้ในประเทศเพียงแต่มีราคาที่แพงกว่า เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูงกว่า ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศไม่สามารถแข่งขันได้ และอาจก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวหากภาครัฐปราศจากมาตรการรองรับที่ดี

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558มีปริมาณการผลิตยารักษาและป้องกันโรคลดลงทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ในขณะเดียวกับที่ปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงเช่นกัน ในภาพรวมอุตสาหกรรมยาในไตรมาสนี้หดตัวลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยและข้อจำกัดบางประการของภาครัฐ

สำหรับมูลค่าการส่งออกปรับตัวสูงขึ้นถึงแม้จะมีปริมาณการผลิตยาที่ลดลง เนื่องจากตลาดยาในประเทศหดตัว ทำให้ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับการส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนซึ่งมีแนวโน้มเติบโตที่ดี ในส่วนของมูลค่าการนำเข้ายาในไตรมาสนี้ปรับตัวลดลงเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ตลาดยาในประเทศหดตัวตามทั้งนี้การนำเข้ามูลค่า 37.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 10.38 ของมูลค่าการนำเข้ายาป้องกันและรักษาโรคทั้งหมดของไทย เป็นการนำเข้าจากอินเดียและจีนจึงเป็นที่น่าจับตามองว่าภายใต้กรอบการเจรจาการค้าเสรีต่างๆ ไทยจะจำกัดการนำเข้ายาจากอินเดียและจีนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศได้อย่างไร

แนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 1ปี 2559คาดว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการแพทย์ครบวงจรเพื่อให้ไทยเป็น Medical Hub ของอาเซียน น่าจะช่วยให้อุตสาหกรรมยาในประเทศขยายตัวได้ สำหรับการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการไทยส่วนมากหวังพึ่งตลาดส่งออกในการขยายกิจการ จึงมีความพยายามที่จะหาตลาดใหม่อยู่เสมอ ในส่วนของการดำเนินการเรื่องมาตรฐาน PIC/S ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งจะมีการตรวจประเมินในไตรมาสแรกของปี 2559 นั้น หากไทยได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิก PIC/S ในการตรวจประเมินครั้งนี้ ก็จะทำให้สามารถขยายการส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปได้มากขึ้นอีก

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ