ภาวะอุตสาหกรรมในกลุ่มยางล้อยังขยายตัวได้ และตลาดถุงมือยาง/ถุงมือตรวจภายในประเทศขยายตัวได้ดี ตามกระแสความวิตกกังวลด้านสุขภาพอนามัย ในส่วนของมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางปรับตัวลดลง ถึงแม้ว่าปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางปรับตัวลดลงอย่างมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต่ออายุการให้ GSP แก่สินค้าไทยออกไป ในขณะที่มูลค่าการส่งออกถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ ของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ชะลอตัวลง และส่วนหนึ่งมาจากการถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป
การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.40 และ 4.38 ตามลำดับ แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งปี 2558 ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 3.84
ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางล้อ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอก และยางในรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงทุกผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ยางหล่อดอกปรับตัวเพิ่มร้อยละ 8.92 แต่เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการผลิตยางนอกและในรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ปรับตัวลดลง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ และยางหล่อดอกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.10 และ 7.98 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาในภาพรวมทั้งปี 2558 ปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นการผลิตยางในรถบรรทุก/รถโดยสารที่ปรับตัวลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 0.46
สำหรับการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.09 และ 25.45 ตามลำดับ และในภาพรวมทั้งปี 2558 การผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 18.66 โดยปริมาณการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจที่ลดลงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากไทยถูกตัด GSP จากสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งถุงมือยาง/ถุงมือตรวจของไทยเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการใช้สิทธิ GSP สูง
การตลาดและการจำหน่าย
ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.69 และ 6.16 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งปี 2558 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 23.99
ในส่วนของการจำหน่ายในประเทศ ไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ของยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร และยางในรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.79 5.13 และ 1.04 ตามลำดับ สำหรับยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.83 4.85 และ 0.87 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การจำหน่าย ในประเทศของผลิตภัณฑ์ยางล้อเกือบทุกประเภทปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นยางในรถบรรทุก/รถโดยสารปรับตัวลดลงร้อยละ 9.76
สำหรับการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศ ไตรมาสที่ 4 ปี 2558 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ยังขยายตัวได้ดี โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.93 และ 22.97 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาภาพรวมปี 2558 เทียบกับปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.66 เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกทั้งกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคจากโรคระบาด
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 1,148.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 21.40 และ 15.58 ตามลำดับ สำหรับภาพรวมในปี 2558 มีมูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น 5,056.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 16.02 มูลค่าการส่งออกที่ลดลงนี้ เนื่องจากราคายางพาราลดลง ซึ่งแม้ว่าปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย โดยตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ คือ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา
สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,585.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 4.46 และ 19.53 ตามลำดับ สำหรับภาพรวมในปี 2558 มีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง 6,851.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 14.42
การส่งออกที่ลดลงนี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากมูลค่าการส่งออกถุงมือยาง/ถุงมือตรวจปรับตัวลดลง ตามความต้องการของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการถูกตัด GSP จากสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญไป นอกจากนี้ ในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางคอมพาวด์ มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลง เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางคอมพาวด์ของไทย ได้ออกประกาศปรับปรุงมาตรฐานการผลิตยางคอมพาวด์ โดยให้ใช้ยางธรรมชาติในการผลิตได้ไม่เกินร้อยละ 88 และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 12 ให้เป็นส่วนผสมของเขม่าดำ (Carbon Black) และสารเคมีอื่นๆ แทนสัดส่วนการผลิตเดิมที่มียางธรรมชาติไม่เกินร้อยละ 95.00 - 99.50 จึงส่งผลให้บริษัทผลิตยางล้อ ในจีนเริ่มกังวลต่อการนำเข้ายางคอมพาวด์จากไทย จึงชะลอการสั่งซื้อยางคอมพาวด์ออกไป
ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 การนำเข้ายางและเศษยาง มีมูลค่า 220.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 5.82 และ 10.60 ตามลำดับ และในภาพรวมทั้งปี 2558 มีปริมาณการนำเข้า 928.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 12.87 ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าที่สำคัญ คือ ยางสังเคราะห์ ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน
สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 มีมูลค่า 257.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.33 และ 9.97 ตามลำดับ และในภาพรวมทั้งปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 1,091.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 4.53
ราคายางพาราในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ยังมีสต๊อกยางพาราอยู่จำนวนมาก ทำให้จีนยังคงชะลอการสั่งซื้อออกไป ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อราคายางพารา
ในปีงบประมาณ 2559 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย และโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าว คือสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยางผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และได้มาตรฐานสากลซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน
สรุปและแนวโน้ม
ในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 อุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ ในส่วนของยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยังขยายตัวได้ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกทั้งกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคจากโรคระบาด
การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางปรับตัวลดลง ถึงแม้ในส่วนของปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางปรับตัวลดลงมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงต้องการของตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ในขณะที่มูลค่าการส่งออกถุงมือยาง/ ถุงมือตรวจ ปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการถูกตัด GSP จากสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญไป และในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางคอมพาวด์ จีนได้ออกประกาศปรับปรุงมาตรฐานการผลิตยางคอมพาวด์ โดยให้ใช้ยางธรรมชาติในการผลิตได้ไม่เกินร้อยละ 88 และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 12 ให้เป็นส่วนผสมของเขม่าดำ (Carbon Black) และสารเคมีอื่นๆ ส่งผลให้บริษัทผลิตยางล้อในจีน เริ่มกังวลต่อการนำเข้ายางคอมพาวด์จากไทย จึงชะลอการสั่งซื้อยางคอมพาวด์ออกไป
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมยางยานพาหนะในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับการส่งออกในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต่ออายุการให้ GSP แก่สินค้าไทยออกไปอีก 4 ปี 5 เดือน โดยได้มีการลงนาม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ซึ่งจะมีผลหลังจากลงนามแล้ว 30 วัน และผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิการคืนภาษีย้อนหลัง 2 ปีจากการต่ออายุ GSP ครั้งนี้
ในส่วนของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ คาดว่าจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลัก รวมทั้งการถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป
สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 คาดว่าจะทรงตัว โดยมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงต้นปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อราคายางพารา
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--