ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่า 2,393.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.82 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป และโลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 26.74 เนื่องจากมีการส่งออกลดลงในกลุ่มวัตถุดิบอัญมณีบางรายการ อาทิ เพชร พลอย และไข่มุก รวมถึงเครื่องประดับแท้ โดยเฉพาะที่ทำด้วยทองและทำด้วยโลหะมีค่าอื่น เครื่องประดับอัญมณีเทียม และทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป สำหรับการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,600.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 66.89 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในภาพรวม โดยมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำลดลง ร้อยละ 11.78 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 16.66
การผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน ในไตรมาส 4 ปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 1) พบว่า ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 47.75 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าหลักที่เริ่มฟื้นตัว โดยเป็นการผลิตเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และเพื่อรองรับความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน ส่วนดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่าย และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง เพิ่มขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ร้อยละ 40.12 และ 186.34 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.01 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ สำหรับดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่าย และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.23 และ 19.48 ตามลำดับ จากความต้องการที่ขยายตัวในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
ไตรมาส 4 ปี 2558 มีโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการใหม่ จำนวน 2 โรงงาน คิดเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 2,582.27 ล้านบาท เป็นโรงงานทำเครื่องประดับอัญมณี และมีโรงงานที่เลิกประกอบกิจการในช่วงไตรมาสนี้ จำนวน 2 ราย เป็นโรงงานทำเครื่องประดับอัญมณีเช่นกัน มีมูลค่าการลงทุน 38.80 ล้านบาท
การตลาด
การค้าระหว่างประเทศ
ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2558 (ตารางที่ 2) การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 1,600.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 11.78 เมื่อ
เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการส่งออกลดลงของกลุ่มเครื่องประดับแท้ และเครื่องประดับเทียม และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการส่งออกลดลงเช่นกัน ร้อยละ 16.66 เนื่องจากมีการส่งออกวัตถุดิบอัญมณี อาทิ พลอย ไข่มุก และเพชร ลดลง ร้อยละ 41.70 32.73 และ 14.06 ตามลำดับ โดยเฉพาะในตลาดหลัก อาทิ ฮ่องกง เบลเยียม สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และอินเดีย รวมถึงเครื่องประดับแท้ และเครื่องประดับเทียม ที่มีมูลค่าการส่งออก ลดลง ร้อยละ 13.38 และ 9.46 ตามลำดับ แต่หากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.82 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลง ร้อยละ 26.74 จากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลง โดยผลิตภัณฑ์ส่งออกสำคัญ ๆ ได้แก่
1. อัญมณี ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 577.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.43 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกเพชร และพลอยที่ลดลง และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 24.77 จากมูลค่าการส่งออกลดลงในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยียม สหรัฐอเมริกา อินเดีย และอิสราเอล ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 39.39 13.71 8.03 6.23 และ 5.11 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีไทยทั้งหมดในตลาดโลก ตามลำดับ ซึ่งมีการส่งออกผลิตภัณฑ์อัญมณีที่สำคัญ ดังนี้
1.1 เพชร ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 402.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.71 และ 14.06 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากราคาเพชรปรับตัวลดลง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในตลาดหลัก ได้แก่ ฮ่องกง เบลเยียม อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 26.05 15.16 25.12 และ 22.67 ตามลำดับ
1.2 พลอย ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 171.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.81 และ 41.70 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกในตลาดหลัก ได้แก่ ฮ่องกง และอินเดีย ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 63.97 และ 27.10 ตามลำดับ
2. เครื่องประดับแท้ ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 856.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 17.90 และ 13.38 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้ที่สำคัญมี ดังนี้
2.1 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 413.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 15.40 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.41 เนื่องจากมีความต้องการบริโภคเครื่องประดับเงินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร
2.2 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 398.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 17.81 และ 20.18 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกในตลาดฮ่องกง ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 81.18 อย่างไรก็ตาม พบว่ามีความต้องการบริโภคเครื่องประดับทองในตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 109.52 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
3. เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 90.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 25.32 และ 9.46 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกในตลาดหลัก ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 15.64 5.66 และ 26.28 ตามลำดับ
4. อัญมณีสังเคราะห์ ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 30.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.37 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
5. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการส่งออก 792.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 54.49 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 41.12 เนื่องจากราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในตลาดหลัก อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 62.78 และ 42.35 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีความต้องการบริโภคทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปในตลาดกัมพูชา ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.30 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2558 (ตารางที่ 3) การนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) มีมูลค่า 557.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 31.10 และ 39.49 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากมูลค่าการ
นำเข้าลดลงในกลุ่มวัตถุดิบอัญมณี อาทิ เพชร และพลอย รวมถึงเครื่องประดับแท้ และเครื่องประดับเทียม ทั้งนี้ การนำเข้าเพชร พลอย และเงิน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 84.82 ของมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบอัญมณีทั้งหมด (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ของไทยจากตลาดโลก แต่หากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการนำเข้าในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.29 และ 32.88 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ ไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ จากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น โดยผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ ๆ ได้แก่
1. เครื่องเพชร พลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ ไตรมาส 4 ปี 2558 ภาพรวมการนำเข้ามีมูลค่า 2,971.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33.87 และ 38.20 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยการนำเข้าประกอบด้วยวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่
1.1 เพชร ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 177.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.09 และ 27.39 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาเพชรปรับตัวลดลง ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าจากตลาดหลัก ได้แก่ ฮ่องกง อินเดีย อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 20.06 40.17 31.04 และ 65.38 ตามลำดับ แม้จะมีปริมาณการนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มขึ้นก็ตาม
1.2 พลอย ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 55.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 20.85 และ 48.77 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการมีสต๊อกสินค้ารอจำหน่ายจำนวนมาก สอดคล้องตามปริมาณสินค้าสำเร็จรูปคงคลังที่เพิ่มขึ้น
1.3 ทองคำ ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 2,530.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 44.76 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกเฉลี่ยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 60.56 เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกในไตรมาสนี้อยู่ในช่วงปรับตัวลดลง โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และฮ่องกง
1.4 เงิน ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 141.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.99 และ 4.71 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ
1.5 โลหะมีค่าและโลหะอื่น ๆ ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 21.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 37.26 และ 26.76 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ
2. เครื่องประดับอัญมณี ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 116.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 30.89 และ 32.81 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ตามภาวะเศรษฐกิจภายในที่ชะลอตัว ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สำคัญ ๆ ได้แก่
2.1 เครื่องประดับอัญมณีแท้ ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 105.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 32.26 และ 34.36 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ
2.2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม ไตรมาส 4 ปี 2558 มีมูลค่าการนำเข้า 11.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 15.56 และ 14.86 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กำลังดำเนินโครงการศึกษาการเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย กับระบบการผลิต การตลาด และการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN supply chain) โดยจะกำหนดกลยุทธ์การเชื่อมโยงมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ของไทย กับฐานการผลิต การกระจายสินค้า และการลงทุนให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) โดยคาดว่าจะสามารถผลักดันผู้ประกอบการอัญมณีและ เครื่องประดับไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าแฟชั่นเป้าหมาย ให้สามารถยกระดับเป็นผู้ประกอบการอาเซียนได้อย่างมั่นคง
สรุปและแนวโน้ม
ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2558 ภาคการผลิตและการจำหน่ายเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.01 และ 5.23 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ และเพื่อรองรับความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 11.78 และ 16.66 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ จากมูลค่าการส่งออกลดลงของกลุ่มวัตถุดิบอัญมณี อาทิ พลอย ไข่มุก และเพชร รวมถึงเครื่องประดับแท้ และเครื่องประดับเทียม แต่หากรวมทองคำยังไม่ขึ้นรูปจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.82 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลง ร้อยละ 26.74 จากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลง
ด้านการนำเข้า (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) ลดลง ร้อยละ 31.10 และ 39.49 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ จากมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มวัตถุดิบอัญมณี อาทิ เพชร พลอย รวมถึงเครื่องประดับแท้ และเครื่องประดับเทียม ลดลง สำหรับมูลค่าการนำเข้าในภาพรวมมีทิศทางเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.29 และ 32.88 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น
แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2559 คาดว่า จะปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการเน้นการส่งออกสินค้าในสต๊อกทดแทนการผลิตใหม่
แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2559 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจของตลาดหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา ที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัว
แนวโน้มการนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1ปี 2559 (ไม่รวมทองคำยังไม่ขึ้นรูป) คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการนำเข้าวัตถุดิบ เช่น เพชร พลอย ไข่มุก แพลทินัม โลหะมีค่าและโลหะอื่น เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น รวมถึงเครื่องประดับอัญมณีแท้ เพื่อรองรับความต้องการบริโภคภายในประเทศในช่วงเทศกาลตรุษจีน สำหรับทองคำยังไม่ขึ้นรูป คาดว่า จะปรับตัวลดลงตามราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--