ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนมกราคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 21, 2016 15:54 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนมกราคม 2559 หดตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์เหล็กและเหล็กกล้า อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อตอบสนองในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ยังคงขยายตัวได้อาทิ น้ำมันประกอบอาหารน้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์กระดาษ

อุตสาหกรรมรถยนต์ เดือนมกราคม 2559 หดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งเป็นการหดตัวของตลาดในประเทศ ส่วนตลาดส่งออกยังคงขยายตัวได้

อุตสาหกรรมน้ำมันประกอบอาหาร ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นในสินค้าน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์โดยช่วงต้นปี 2558 เป็นช่วงที่วัตถุดิบผลปาล์มไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้เนื่องจากตั้งแต่ปลายปี 2557 ได้เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทางภาคใต้จนรัฐต้องออกมาตรการแก้ไขดังนั้นในเดือนมกราคม 2559 ผลผลิตปาล์มมีเพียงพอทำให้การผลิตเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

การเปิดปิดโรงงาน เดือนมกราคม 2559 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 269 ราย ลดลงจากเดือนธันวาคม 2558 ร้อยละ 24.4 มียอดเงินลงทุนรวมลดลงร้อยละ 48.7 และมีจำนวนการจ้างงานลดลงร้อยละ 7.3 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้ามีจำนวน 3 โรงจำนวนเงินทุน 3,645.90 ล้านบาท และจำนวนคนงาน 530 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการลดลงจากเดือนมกราคม 2558 ร้อยละ 18.5 สำหรับโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมีจำนวน 135 ราย มากกว่าเดือนธันวาคม 2558 ร้อยละ 22.73 และมากกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 26.17

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย ในเดือนมกราคม 2559 การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องจักรและอุปกรณ์ใช้ในการแปรรูปยางหรือพลาสติก และเครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะและส่วนประกอบที่ลดลง

ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 5,406.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าด้ายและเส้นใย ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงอุปกรณ์ส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลง

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในเดือนมกราคม 2559 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 9,590.8 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดลงจากเดือนธันวาคม 2559 ร้อยละ 1.08 (9,695.3 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปี 2558 (8,964.6 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง) หากแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการ พบว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดกลาง มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดือนที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ส่วนกิจการขนาดใหญ่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาและจากช่วงเดียวกันของปี 2558

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงหรือหดตัวร้อยละ 3.3 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้การผลิตลดลง เช่น รถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เป็นต้น อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อตอบสนองในประเทศยังคงขยายตัวได้ อาทิ น้ำมันประกอบอาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น

ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันหดตัวร้อยละ 6.3

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้หดตัวร้อยละ 2.1

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนมกราคม 2559 ยังไม่มีการเผยแพร่ แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนธันวาคม 2558 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 4.1 และ 1.0 ตามลำดับ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2559

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 269 ราย ลดลงจากเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 356 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 24.44 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 17,707 ล้านบาท ลดลงจากเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีการลงทุน 34,502 ล้านบาท ร้อยละ 48.68 และมีการจ้างงานจำนวน 6,879 คน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2558 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,419 คน ร้อยละ 7.28

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการน้อยกว่าเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 330 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 18.48 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีการลงทุน 17,042 ล้านบาท ร้อยละ 3.9 และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2558 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,292 คน ร้อยละ 9.33

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนมกราคม 2559 คือ อุตสาหกรรมขุดดินสำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 23 โรงงาน รองลงมา คืออุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ พ่นสีรถยนต์ จำนวน 18 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนมกราคม 2559 คือ อุตสาหกรรม ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวนเงินทุน 3,645.90 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิก จำนวนเงินทุน 2,386.00 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนมกราคม 2559 คือ อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที จำนวนคนงาน 666 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวนคนงาน 530 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2558 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 135 ราย มากกว่าเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 110 ราย คิดเป็นร้อยละ 22.73 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 2,616 ล้านบาท มากกว่าเดือนธันวาคม 2558 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,372 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 3,829 คน มากกว่าเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 2,895 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 107 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 26.17 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนมกราคม 2558 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,526 ล้านบาท แต่มีการเลิกจ้างงานน้อยกว่าเดือนมกราคม 2558 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 3,985 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนมกราคม 2559 คือ อุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ พ่นสีรถยนต์ จำนวน 32 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวน 12 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนมกราคม 2559 คือ อุตสาหกรรมผลิต ประกอบ ซ่อมตาข่าย แห อวน และชิ้นส่วนอุปกรณ์ เงินทุน 777 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมอบใบยาสูบให้แห้ง รูดก้านใบยาสูบ เงินทุน 530 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนมกราคม 2559 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวนคนงาน 1,162 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต ประกอบ ซ่อมตาข่าย แห อวน และชิ้นส่วนอุปกรณ์ จำนวนคนงาน 690 คน
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย จากวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าการส่งออกยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากประเทศผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน ประกอบกับการทำประมงไทยเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป และการยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย ส่วนการจำหน่ายในประเทศทรงตัว

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมกราคม 2559 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.5 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น สับปะรดกระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.1 และ 0.8 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบเพิ่มขึ้น

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม การผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 88.5 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.7

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนมกราคม 2559 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหาร และเกษตรในประเทศทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.1 จากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่แม้จะเพิ่มขึ้น แต่อำนาจซื้อยังคงชะลอตัว

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมกราคม 2559 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.6 จากสินค้าที่ปรับลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ข้าว และทูน่ากระป๋องปรับตัวลดลงร้อยละ 19.6 16.5 และ 15.1 ตามลำดับ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อ จากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ยังขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมประมง จากการประกาศแจ้งเตือนการทำประมงของไทยเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป การยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ ทำให้เรือประมงบางส่วนต้องหยุดทำประมง แม้จะมีบางสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น สับปะรดกระป๋องเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 จากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.8 จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มอาเซียน และจากค่าเงินบาทอ่อนตัว

3. แนวโน้ม

คาดว่า การผลิตและการส่งออกในภาพรวมจะมีอัตราการเติบโตเล็กน้อย จากปัจจัยลบการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป การที่อุปสงค์จากจีนชะลอตัวลง และราคาส่งออกปรับลดตามระดับราคาน้ำมัน แต่ด้วยปัจจัยบวกในหลายกลุ่มสินค้า ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ (ไก่แปรรูป) ที่มีการเพิ่มคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ สินค้าน้ำตาลทรายที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเพิ่มขึ้น สินค้าประมง เช่น กุ้ง จากสถานการณ์การผลิตกุ้งไทยฟื้นตัวจากการระบาดของโรค EMS ประกอบกับรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน SMEs และมาตรการเร่งรัด การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหารในประเทศ จะส่งผลให้การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารขยายตัวได้เล็กน้อย

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิตกลุ่มสิ่งทอสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายใน จะทรงตัวถึงชะลอตัว สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่มคาดว่า จะนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่นต่าง ๆ ตามความต้องการสินค้าแฟชั่นของผู้บริโภคในประเทศ

1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.3 ซึ่งเป็นผลจากการผลิตในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ขยายตัว ในขณะที่การผลิตในกลุ่มเส้นด้ายลดลงตามการผลิตในกลุ่มผ้าผืนที่ลดลงร้อยละ 10.1 จากความต้องการในประเทศที่ถดถอย และมีการนำเข้าบางส่วนจากต่างประเทศ

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถักเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.1 ในผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชายและเครื่องแต่งกายชั้นนอกสตรีและเด็กหญิงในส่วนกลุ่มเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.1 ในกลุ่มเครื่องแต่งกายชั้นนอกและชั้นในสตรีและเด็กหญิง จากคำสั่งซื้อสินค้าในตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีปริมาณลดลงร้อยละ 3.4 8.5 และ 2.9 ตามลำดับ เนื่องจากประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอยตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับช่วงต้นปีมีวันหยุดยาว ส่งผลให้ประชาชนใช้จ่ายเงินในส่วนการท่องเที่ยวมากกว่าการซื้อสินค้าอุปโภค เช่น เสื้อผ้า

การส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมลดลงร้อยละ 11.8 แบ่งเป็นกลุ่มสิ่งทอลดลง ร้อยละ 14.2 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ ลดลง ร้อยละ20.5 38.9 7.3 5.1 และ 13.3 ตามลำดับ โดยเฉพาะตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ เวียดนาม สามารถพัฒนาสิ่งทอต้นน้ำเพิ่มขึ้นจากการเข้าไปลงทุนของไต้หวันและจีน จึงลดการนำเข้าจากไทย กลุ่มเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 8.3 ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูปเครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบถุงเท้าและถุงน่อง ลดลง ร้อยละ 6.1 21.7 และ 24.5 ตามลำดับซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 8.3 7.8 และ 12.7 ตามลำดับ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

3. แนวโน้ม

กลุ่มสิ่งทอที่ผลิตสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศคาดว่า จะทรงตัวถึงชะลอตัว เนื่องจากวันทำงานที่น้อยกว่าเดือนอื่นสำหรับการส่งออก คาดว่า จะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัว ส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะนำเข้าลดลงทั้งเส้นใยสิ่งทอและผ้าผืนยกเว้นในกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปคาดว่า จะนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่นต่าง ๆ ตามความต้องการสินค้าแฟชั่นของผู้บริโภคในประเทศ

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ประกาศ อัตราการ ตอบโต้การทุ่มตลาดผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดเย็นจากประเทศจีน บราซิล ญี่ปุ่น และ สหราชอาณาจักร อินเดีย เกาหลีใต้และรัสเซีย อยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 2.17 - 265.79 โดยประเทศจีนเป็นประเทศที่โดนอัตราอากรตอบโต้สูงที่สุด

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมกราคม 2559 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 113.75 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลง ร้อยละ 8.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุดังนี้

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 9.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 27.89 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 20.91 และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศในส่วนของเหล็กทรงแบน 821,859 ตัน ลดลง ร้อยละ 9.2 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 23.6 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 23.2 ในส่วนของการนำเข้า พบว่า การนำเข้าเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 10.3 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี EG ลดลง ร้อยละ 37.4 และเหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 30.4 สำหรับการส่งออก พบว่า การส่งออกเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น Alloy steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4,800 (ปริมาณการส่งออก 196 ตัน) และเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 104.3

ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวมีการผลิต ลดลงร้อยละ 9.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 11.19 และลวดเหล็กแรงดึงสูง ลดลง ร้อยละ 9.17และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศในส่วนของเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 14.4 โดยเหล็กเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลดลง ร้อยละ 24.1 สำหรับการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 23.2 โดยเหล็กเส้น Alloy steel ลดลง ร้อยละ 60.5 และท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ลดลง ร้อยละ 41.9 สำหรับการส่งออก ลดลง ร้อยละ 29.8 โดยเหล็กลวด Alloy Steel ลดลง ร้อยละ 61.9 และท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ลดลง ร้อยละ 49.3

2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือกุมภาพันธ์ 2559 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กมีการปรับตัวลดลงทุกชนิด เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 84.1 เป็น 51.28 ลดลง ร้อยละ 39.02 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 91.58 เป็น 57 ลดลง ร้อยละ 37.76 เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 80.23 เป็น 51.62 ลดลง ร้อยละ 35.66 เหล็กเส้น ลดลงจาก 86.8 เป็น 58.08 ลดลง ร้อยละ 33.09 และ เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 84.47 เป็น 58.58 ลดลง ร้อยละ 30.65

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะลดลง ทั้งเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังชะลอตัวอยู่ นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีสถานการณ์การผลิตที่ทรงตัว นอกจากนี้ ผู้ผลิตไทยยังต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ จึงส่งผลให้การผลิตลดลง

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม 2559 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งเป็นการชะลอตัวของตลาดในประเทศ

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 147,651 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีการผลิต 167,165 คัน ร้อยละ 11.67 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตันและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 51,821 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีการจำหน่าย 59,721 คัน ร้อยละ 13.23 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์แต่มีการจำหน่ายรถยนต์ PPV รวมกับ SUV เพิ่มขึ้น

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 93,714 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีการส่งออก 92,440 คัน ร้อยละ 1.38 โดยตลาดส่งออกมีการขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย และยุโรป

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์2558 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 33 และส่งออกร้อยละ 67

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2559 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งเป็นการลดลงของตลาดส่งออก

1. การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 159,434 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีการผลิต 173,146 คัน ร้อยละ 7.92 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์

2. การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 154,643 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีการจำหน่าย 142,931 คัน ร้อยละ 8.19 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์และแบบสปอร์ต

3. การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป(CBU)

จำนวน 24,646 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีการส่งออก 27,601 คัน ร้อยละ 10.71 โดยเป็นการปรับลดลงจากการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกาสหราชอาณาจักรและอินโดนีเซีย

4. แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 75 และส่งออกร้อยละ 25

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นถึงแม้ว่าปริมาณการจำหน่ายในประเทศจะยังไม่ขยายตัว เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจยังซบเซา ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนไม่ฟื้นตัว และกระทบต่อยอดการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ โดยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นได้ในระยะต่อไปจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ ในส่วนของมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลง"
1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนมกราคม 2559 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.66 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 0.32

ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปรับตัวดีขึ้น โดยมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่าจะยังมีปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่ค่อนข้างทรงตัวแต่ก็ถือว่าเติบโตต่อเนื่องจากเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่ตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศซบเซาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานถึง 10 เดือน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศหดตัวลงจากปัญหาเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับกำลังซื้อ/ซ่อมแซมบ้านในต่างจังหวัดยังไม่ขยับตัวสูงขึ้นมากเท่าที่คาดการณ์ไว้ ตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศจึงยังไม่ขยายตัวมากนัก

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนมกราคม 2559เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.11เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ทั้งเมียนมาร์ กัมพูชาและมาเลเซียปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลง โดยในส่วนของเมียนมาร์ได้เร่งสร้างเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนค่อนข้างที่จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยจึงลดลงและมีแนวโน้มที่จะลดลงอีกเป็นลำดับในระยะต่อไป

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีขึ้นได้จากการที่ภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท) และโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้นน่าจะช่วยให้ภาคประชาชนมีกำลังซื้อและภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟสายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าลดลง เนื่องจากฐานตัวเลขของปีก่อนสูงมาก ประกอบกับปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นตลาดหลักของสินค้าปูนซีเมนต์ของไทยต่างพัฒนาประเทศของตนขึ้นมาเรื่อยๆ และเร่งพัฒนามากขึ้นในช่วงปี 2557-2558 ที่ผ่านมา จนบางแห่งเกือบจะเป็นเมืองที่สมบูรณ์แล้ว แนวโน้มความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยจึงน่าจะค่อยๆ ลดลง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนมกราคม 2559 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD IC ที่ปรับตัวลดลง แต่อุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.34 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือน มกราคม 2559 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 98.32 ลดลงร้อยละ 4.03 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 117.37 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.34 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.02 17.18 5.46 3.76 และ 12.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตลาดหลักบางตลาดเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น สหภาพยุโรป อาเซียนและสหรัฐอเมริกา ยกเว้นเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 63.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์จากไทยไปยังประเทศในอาเซียน

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิต อยู่ที่ 86.44 ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.55 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD Semiconductor Monolithic IC และ Other IC ปรับตัวลดลง ร้อยละ 12.75 25.08 7.08 และ 12.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง และความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/             มูลค่า            %YoY
          อิเล็กทรอนิกส์          (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
          อุปกรณ์ประกอบของ         1,421.36         -8.86

เครื่องคอมพิวเตอร์

          แผงวงจรไฟฟ้า              555.22        -10.73
          เครื่องปรับอากาศ            371.49          6.75
          กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้อง       117.92         -3.55

ถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล

          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า         4,179.53         -8.90

และอิเล็กทรอนิกส์

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อ)

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมกราคม 2559 มีมูลค่า 4,179.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 8.90 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,726.28 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.93 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 4.47 11.35 22.26 และ 0.59 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้น สหภาพยุโรป ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.13 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 371.49 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.75 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปอาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.98 32.26 และ 8.55 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้ารองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล มีมูลค่า 117.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.55 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาด สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงมากถึงร้อยละ 35.01 และ 44.18 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ จากการที่มีเทคโนโลยีใหม่/ผลิตภัณฑ์มาทดแทน สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีมูลค่า 42.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 56.35 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเริ่มชะลอตัวหลังจากที่มีการขยายตัวค่อนข้างมากเมื่อปี 2558 โดยลดลงถึงร้อยละ 72.20 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,453.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.24 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักทุกตลาดปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 8.46 9.41 12.34 7.93 และ 10.53 โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,421.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.86 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักทุกตลาดลดลง ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 5.85 2.97 24.82 และ 11.36 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 555.22 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.73 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไป อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 11.36 17.18 8.07 และ 3.79 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่การส่งออก ไปจีน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 55.08 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกุมภาพันธ์ 2559 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 11.30 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 2.30 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดส่งออกหลักยังไม่ฟื้นตัว สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 20.57 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออก HDD IC ไปตลาดหลักชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ