ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนกุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 28, 2016 15:58 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนกุมภาพันธ์ 2559 หดตัวหรือติดลบร้อยละ 1.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ทั้งนี้แม้ดัชนีฯ จะยังคงหดตัวอยู่แต่อัตราการหดตัวชะลอลงจากเดือนมกราคมที่หดตัวถึงร้อยละ 3.5

อุตสาหกรรมรถยนต์ เดือนกุมภาพันธ์ 2559 หดตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งเป็นการชะลอตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ หดตัวจากขาดแคลนวัตถุดิบ ประกอบกับการประกาศแจ้งเตือนการทำประมงของไทยเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป การยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ ทำให้เรือประมงบางส่วนต้องหยุดทำประมง อย่างไรก็ตามบางสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เช่น กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง

การเปิดปิดโรงงาน เดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 256 ราย ลดลงจากเดือนมกราคม 2559 ร้อยละ 4.83 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 และมีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.8 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีจำนวน 6 โรง จำนวนเงินทุน 9,407.85 ล้านบาท และจำนวนคนงาน 110 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ร้อยละ 15.23 สำหรับโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมีจำนวน 212 ราย มากกว่าเดือนมกราคม 2559 ร้อยละ 57.04 และมากกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 135.56

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 13.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบอื่น ๆ เครื่องสูบลม เครื่องสูบของเหลว รวมถึงเครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะและส่วนประกอบที่ลดลง

ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 5,052.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าด้ายและเส้นใย ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงอุปกรณ์ส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลง

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 9,341.4 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดลงจากเดือนมกราคม 2559 ร้อยละ 2.6 (9,590.8 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2558 (8,936.1 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) หากแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการ พบว่า ทุกกิจการของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดือนที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงหรือหดตัวร้อยละ 1.6 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้การผลิตลดลง เช่น รถยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก เสื้อผ้าสำเร็จรูป บุหรี่ และอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น

ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 4.7

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 2.3

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ยังไม่มีการเผยแพร่ แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนมกราคม 2559 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 2.9 ตามลำดับ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2559 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 256 ราย ลดลงจากเดือนมกราคม 2559 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 269 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 4.83 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 21,589 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2559 ซึ่งมีการลงทุน 17,707 ล้านบาท ร้อยละ 21.93 และมีการจ้างงานจำนวน 9,686 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2559 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,879 คน ร้อยละ 40.81

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการน้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 302 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 15.23 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีการลงทุน 20,619 ล้านบาท ร้อยละ 4.71 และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,394 คน ร้อยละ 31

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คือ อุตสาหกรรมขุดดินสำหรับใช้ในการก่อสร้าง จำนวน 28 โรงงาน รองลงมา คืออุตสาหกรรม ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็ม แผ่นพื้น จำนวน 17 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คือ อุตสาหกรรม ผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล จำนวนเงินทุน 9,407.85 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวนเงินทุน 4,231.80 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คือ อุตสาหกรรม ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวนคนงาน 3,750 คนรองลงมา คือ อุตสาหกรรมผลิตกุ้งแช่แข็ง แปรรูปสัตว์น้ำ การถนอมเนื้อสัตว์น้ำ แช่แข็ง จำนวนคนงาน 505 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2559 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 212 ราย มากกว่าเดือนมกราคม 2559 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 135 ราย คิดเป็นร้อยละ 57.04 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 3,102 ล้านบาท มากกว่าเดือนมกราคม 2559 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,616 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงาน จำนวน 5,022 คน มากกว่าเดือนมกราคม 2559 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,829 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 90 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 135.56 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 5,370 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานน้อยกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน11,336 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คือ อุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ พ่นสีรถยนต์ จำนวน 46 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่น ซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูป จำนวน 24 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์ พ่นสีรถยนต์ เงินทุน 1,1171 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า เงินทุน 269 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวนคนงาน 1,097 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์ พ่นสีรถยนต์ จำนวนคนงาน 591 คน
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าการส่งออกยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องจากประเทศผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อลดลง จากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน ประกอบกับการทำประมงไทยเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรป และการยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย ส่วนการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.2 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น สับปะรดกระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง และไก่แช่แข็ง การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 6.1 และ 5.8 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบเพิ่มขึ้น

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม การผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.1ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลืองการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.4

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหาร และเกษตรในประเทศ(ไม่รวมน้ำตาล)เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10. 7 และความต้องการอาหารไก่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.8 2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล)เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.8 จากสินค้าที่ปรับลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวานกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าว และทูน่ากระป๋องปรับตัวลดลงร้อยละ 17.8 7.3 4.5 และ 0.1 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันนอกจากนี้ ยังขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมประมง ประกอบกับการประกาศแจ้งเตือนการทำประมงของไทยเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรปการยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ ทำให้เรือประมงบางส่วนต้องหยุดทำประมง แม้จะมีบางสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เช่น กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง สับปะรดกระป๋องบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7 32.6 16.5 15.1 และ 8.9 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูปและสับปะรดกระป๋อง ที่ลดลงเล็กน้อย ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 78.3 จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากอินโดนีเซียที่เป็นตลาดหลักเนื่องจากความต้องการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นมาก

3. แนวโน้ม

คาดว่า การผลิตและการส่งออกในภาพรวมจะมีอัตราการเติบโตเล็กน้อยจากปัจจัยลบการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎ IUU ของสหภาพยุโรป การที่อุปสงค์จากจีนชะลอตัวลง และราคาส่งออกปรับลดตามระดับราคาน้ำมัน แต่ด้วยปัจจัยบวกในหลายกลุ่มสินค้า ได้แก่ สินค้าปศุสัตว์ (ไก่แปรรูป) ที่มีการเพิ่มคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ สินค้าน้ำตาลทรายที่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเพิ่มขึ้นสินค้าประมง เช่น กุ้ง จากสถานการณ์การผลิตกุ้งไทยฟื้นตัวจากการระบาดของโรค EMS ประกอบกับรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน มาตรการช่วยเหลือทางการเงินSMEs และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหารในประเทศ จะส่งผลให้การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารขยายตัวได้เล็กน้อย

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
"กลุ่มเส้นใยสิ่งทอคาดว่า การผลิตในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอจะขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา สำหรับการส่งออก คาดว่า จะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัว"
1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน การผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเส้นใยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 จากการขยายตัวของการผลิตเส้นใยสังเคราะห์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.3 แต่ในส่วนของเส้นด้ายผลิตลดลงตามการผลิตในกลุ่มของผ้าผืนที่ลดลงร้อยละ 0.5

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 12.8 ซึ่งลดลงทั้งในกลุ่มเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอตามคำสั่งซื้อภายในและต่างประเทศ ประกอบกับมีการนำเข้าเสื้อเชิ้ต/เบลาส์สตรีและเด็กหญิง กางเกง/กระโปรงทั้งบุรุษ

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเส้นใยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.3 ในขณะที่กลุ่มผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีปริมาณการจำหน่ายลดลงร้อยละ 3.9 และ 4.5 ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตที่ปรับลดลงจากประชาชนชะลอการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ตามภาวะเศรษฐกิจที่ ชะลอตัว

การส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมลดลงร้อยละ 4.3 แบ่งเป็นกลุ่มสิ่งทอลดลง ร้อยละ 5.3 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผ้าผืนด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ และเส้นใยประดิษฐ์ ลดลง ร้อยละ 13.3 17.1 2.6 และ 6.1 ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มเส้นใย ลดลงจากความต้องการในตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ปากีสถาน และอินเดีย เป็นต้น และกลุ่มผ้าผืน ลดลงในตลาดอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์และอินโดนีเซีย และบังคลาเทศ เป็นต้น กลุ่มเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 2.7 โดยกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง ร้อยละ 1.3 จากคำสั่งซื้อในตลาดหลักลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป และอาเซียน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยกเว้นตลาดญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 และ 0.7 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

คาดว่า การผลิตในกลุ่มเส้นใยสิ่งทอจะขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา สำหรับการส่งออก คาดว่า จะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัว ส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ คาดว่า จะนำเข้าเส้นใยสิ่งทอเพิ่มขึ้น ในส่วนผ้าผืน คาดว่า จะชะลอตัวต่อเนื่อง สำหรับกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปคาดว่า จะนำเข้าโดยเฉพาะกลุ่มเสื้อเชิ้ต/เบลาส์สตรีและเด็กหญิง กางเกง/กระโปรงทั้งบุรุษและสตรีเพิ่มขึ้นตามความต้องการสินค้าแฟชั่นของผู้บริโภคในประเทศ

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

SEAISI คาดการณ์ปริมาณการบริโภคเหล็กในอาเซียนของปี 2559 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเวียดนามเป็นประเทศที่มีการขยายตัวการบริโภคมากที่สุด ร้อยละ 26 รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 15 มาเลเซีย ร้อยละ 5.4 และสิงคโปร์ ร้อยละ 4.7 แต่อินโดนีเซีย มีการบริโภคที่ลดลง ร้อยละ 3.6 และไทย ลดลง ร้อยละ 3.4

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 111.19 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลง ร้อยละ 15.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุดังนี้

ดัชนีผลผลิตในกลุ่มเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 13.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 26.60 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 21.06 และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศในส่วนของเหล็ก ทรงแบน 810,885 ตัน ลดลง ร้อยละ 10.9 โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 19.7 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (EG) ลดลง ร้อยละ 16.3 ในส่วนของการนำเข้า พบว่า การนำเข้าเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 10.9 โดยเหล็กแผ่นหนารีดร้อน Stainless steel ลดลง ร้อยละ 31.2 และเหล็กแผ่นรีดร้อนกัดกรดเคลือบน้ำมัน (P&O) ลดลง ร้อยละ 27.1 สำหรับการส่งออก พบว่า การส่งออกเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 59.9 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน Stainless Steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5,775 (ปริมาณการส่งออก 235 ตัน) และเหล็กแผ่นรีดเย็น Carbon steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 564.5 (ปริมาณการส่งออก 5,050 ตัน)

ดัชนีผลผลิตในกลุ่มเหล็กทรงยาวลดลง ร้อยละ 17.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 20.87 และลวดเหล็กแรงดึงสูง ลดลง ร้อยละ 3.80และจากข้อมูลของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า ความต้องการใช้ในประเทศในส่วนของเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.0 โดยเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.4 รองลงมาคือ เหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.2 สำหรับการนำเข้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.8 โดยเหล็กโครงสร้าง Alloy steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 77.7และเหล็กลวด Stainless steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.7 สำหรับการส่งออก เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.3 โดยเหล็กโครงสร้าง Alloy Steel เพิ่มขึ้น ร้อยละ 145.5 และเหล็กเส้น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 34.2

2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กมีการปรับตัวลดลงทุกชนิด เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 84.1 เป็น 51.28 ลดลง ร้อยละ 39.02 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 91.58 เป็น 57 ลดลง ร้อยละ 37.76 เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 80.23 เป็น 51.62 ลดลง ร้อยละ 35.66 เหล็กเส้น ลดลงจาก 86.8 เป็น 58.08 ลดลง ร้อยละ 33.09 และ เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 84.47 เป็น 58.58 ลดลง ร้อยละ 30.65

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนมีนาคม 2559 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะลดลง เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทย โดยในส่วนของอุตสาหกรรมเหล็กทรงยาว คาดการณ์ว่าโครงการของภาครัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้สถานการณ์อุตสาหกรรมทรงยาวดีขึ้น แต่ในส่วนของโครงการก่อสร้างของภาคเอกชนคาดการณ์ว่าในส่วนของธุรกิจคอนโดมิเนียมที่เป็น High end ยังคงขยายตัวอยู่ แต่ในส่วนของธุรกิจอื่นๆ ยังคงทรงตัว สำหรับเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าการผลิตจะลดลง ตามความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีการผลิตที่ลดลง

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งเป็นการชะลอตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

1. การผลิตรถยนต์

จำนวน 166,412 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีการผลิต 179,158 คัน ร้อยละ 7.11 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตันและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2. การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 57,093 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีการจำหน่าย 63,949 คัน ร้อยละ 10.72 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ แต่มีการจำหน่ายรถยนต์ PPV รวมกับ SUV เพิ่มขึ้น

3. การส่งออกรถยนต์

จำนวน 104,712 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีการส่งออก 108,173 คัน ร้อยละ 3.20 โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศแถบแอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกากลางและอเมริกาใต้

4. แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2559 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2558 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2559 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 39 และส่งออกร้อยละ 61

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์2559 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558ซึ่งเป็นการลดลงของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

1. การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 150,603 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีการผลิต 179,384 คัน ร้อยละ 16.04 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์

2. การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 125,874 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีการจำหน่าย 152,037 คัน ร้อยละ 17.21 โดยเป็นการปรับลดลงของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์และแบบสปอร์ต

3. การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป(CBU)

จำนวน 30,028 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมีการส่งออก 40,704 คัน ร้อยละ 26.23 โดยเป็นการปรับลดลงจากการส่งออกไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนสหราชอาณาจักรและฟิลิปปินส์

4. แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม2559 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม2558 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม2559ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80และส่งออกร้อยละ 20

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก โดยมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จากแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศขยายตัวในส่วนของมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลง เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชาซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงค่อนข้างมาก"
1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.51และร้อยละ 23.22 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยหากพิจารณาจากกราฟจะเห็นว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนนี้ (เส้นกราฟสีม่วง) เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (เส้นกราฟสีเขียวอ่อน) โดยเป็นการผลิตและจำหน่ายในปริมาณสูงที่สุดในรอบห้าปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของภาคก่อสร้างจากแนวโน้มที่ดีของการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐด้วยมาตรการและโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการที่มีความชัดเจนว่าจะประกวดราคาแล้วเสร็จและเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงกลางปีถึงปลายปีนี้ ทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจึงสูงขึ้นตาม

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.97 เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยโดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชาปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลง ประกอบกับฐานตัวเลขการส่งออกในช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างสูงโดยเมียนมาร์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าหลักของไทยได้เร่งสร้างเมืองและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไประดับหนึ่งแล้ว ทำให้เมียนมาร์มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยลดลง และมีแนวโน้มลดลงอีกในระยะต่อไปในขณะเดียวกับที่เวียดนามกลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญในตลาดส่งออกปูนซีเมนต์ของไทย เนื่องจากมีปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์มากเกินความต้องการใช้ในประเทศ จึงส่งออกเป็นจำนวนมากในราคาที่ต่ำกว่าไทย

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นอีกจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวให้มีกำลังซื้อมากขึ้นและโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มีความคืบหน้าชัดเจน ทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้นต่อไป

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานตัวเลขของปี 2558 ค่อนข้างสูง ประกอบกับขณะนี้เมียนมาร์ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของสินค้าปูนซีเมนต์ของไทยได้พัฒนาเมืองไประดับหนึ่งแล้ว และกำลังจะมีการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นจากการเข้าไปตั้งฐานการผลิตของบริษัทปูนซีเมนต์รายใหญ่ของไทย ทำให้มีแนวโน้มที่จะนำเข้าปูนซีเมนต์จากไทยลดลงในระยะต่อไป

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD IC ที่ปรับตัวลดลง แต่อุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/             มูลค่า           %YoY
          อิเล็กทรอนิกส์         (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
          อุปกรณ์ประกอบของ        1,346.30         -3.10

เครื่องคอมพิวเตอร์

          แผงวงจรไฟฟ้า             552.54         -4.34
          เครื่องปรับอากาศ           395.95         -1.52
          กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้อง       93.94        -22.19

ถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล

          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า        4,208.24         -3.83

และอิเล็กทรอนิกส์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือน กุมภาพันธ์ 2559 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 105.87 ลดลงร้อยละ 0.87 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 127.70 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต พัดลม เตาไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.71 3.96 28.53 13.36 และ 23.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจาก การจำหน่ายเครื่องปรับอากาศในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับเตาไมโครเวฟมีการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ยกเว้นเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 66.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์จากไทยไปยังประเทศในอาเซียน

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิต อยู่ที่ 92.26 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.43 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.19 และ19.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อ)

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีมูลค่า 4,208.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.83 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,809.83 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.89 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 1.01 25.54 และ 3.89 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้น สหภาพยุโรป และจีน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.89 และ 1.24 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 395.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.52 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 25.10 และ 26.17 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้ารองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล มีมูลค่า 93.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 22.19 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงได้แก่ อาเซียนสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงมากถึงร้อยละ 23.12 26.20 5.28 และ 48.24 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ จากการที่มีเทคโนโลยีใหม่/ผลิตภัณฑ์มาทดแทน สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีมูลค่า 46.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 59.77 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาเริ่มชะลอตัวหลังจากที่มีการส่งออกไปค่อนข้างมากแล้วเมื่อปี 2558 โดยลดลงถึงร้อยละ 59.77 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,398.41 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.20 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักเกือบทุกตลาดปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 0.50 23.24 และ 11.57 โดยอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,346.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.10 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดจีน และญี่ปุ่นลดลง ร้อยละ 35.80 และ 5.66 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 552.54 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.34 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปอาเซียน ลดลงร้อยละ 0.50 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่การส่งออกไปสหภาพยุโรป จีนและสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.61 9.28 และ 55.08 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน ซึ่งจีนมีการนำเข้าแผงวงจรไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมีนาคม 2559 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 1.06 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.88 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเครื่องปรับอากาศสามารถขยายตัวได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลักบางตลาด (เช่น สหภาพยุโรป อาเซียน และจีน) สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 5.99 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออก HDD IC ไปตลาดหลักชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ