สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2559 (มกราคม - มีนาคม 2559)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2016 10:11 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 1 ปี 2559 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เศรษฐกิจโลกยังคงมีความผันผวนเนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจจีน อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ 30.7 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 อยู่ที่ 52.5 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มราคาลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมิถุนายน (ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2559) อยู่ที่ 43.65 USD/Barrel ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เช่น ความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด โดยประเทศตะวันออกกลางรวมถึงอิหร่านและอิรักเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเบรนท์จากทะเลเหนือในเดือนมิถุนายนอาจจะเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส ที่ 4 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 โดยปัจจัยที่ทำให้ชะลอตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 คือ การส่งออกสินค้าที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักยังชะลอตัว และราคาสินค้าส่งออกลดลงตามราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก รวมทั้งภาคเกษตรหดตัว เนื่องจากได้รับกระทบจากภัยแล้ง ด้านอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวสูงขึ้นในด้านการก่อสร้าง รวมทั้งการขยายตัวของการใช้จ่ายครัวเรือน การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนที่มีการขยายตัวในด้านเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรเพิ่มขึ้นเพื่อมาติดตั้งในโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อสร้างใหม่ อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะเงินกู้เพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่กลับมาขยายตัว นอกจากนี้นโยบายยกเว้นภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของรัฐบาลในช่วงปลายปีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือน ด้านการส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการสุทธิลดลงซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ประกอบกับอุปสงค์ในตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) สามารถขยายตัวในเกณฑ์ดี

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.8 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 และชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 โดยเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยีชะลอตัวลง เนื่องจากการผลิตยานยนต์ชะลอตัวลงในหมวดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ถึงแม้ว่าในหมวด รถยนต์นั่งขนาดกลางและขนาดใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากความต้องการในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นก่อนการปรับภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งที่จะประกาศใช้ในเดือนมกราคม 2559 การผลิตอุตสาหกรรมเบาหดตัวโดยเฉพาะในกลุ่มสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันของไทยและความต้องการของต่างประเทศลดลง ในส่วนของอุตสาหกรรมวัตถุดิบขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการผลิตอุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อกระดาษที่ขยายตัวตามความต้องการของประเทศคู่ค้า

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ซึ่งขยายตัวจากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 และเศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 - 3.8

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 หดตัวลงเนื่องจากการนำเข้าที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่งจากความต้องการภายในประเทศที่ลดลง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งการนำเข้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 11.99 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการส่งออกกลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 0.90 โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าทั้งสิ้น 99,469.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 53,829.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 45,640.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 นั้น มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.89 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 6.75 สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 นี้ อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้า โดยมีมูลค่า 8,189.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีมูลค่ารวม 86,844.6 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนมกราคมมีมูลค่า 46,729.5 ล้านบาท สำหรับเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 40,115.1 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนมกราคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 34,547.7 ล้านบาท และในเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 23,545.1 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 58,092.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 51,549.5 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ปี 2559 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 249 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 462 โครงการ โดยใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 79,890 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 115,260 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 80 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 23,360 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ จำนวน 61 โครงการ เป็นเงินลงทุน 25,800 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 108 โครงการ เป็นเงินลงทุน 30,730 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนพบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตรมีเงินลงทุน 20,810 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์มีเงินลงทุน 14,640 ล้านบาท และหมวดกิจการบริการ และสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 13,170 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ปี 2559 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 179 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 58,439 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 19 โครงการ มีเงินลงทุน 21,948 ล้านบาท ประเทศไต้หวันมีจำนวน 22 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 11,850 ล้านบาท และประเทศสิงคโปร์มีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 32 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 6,770 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีประมาณ 1,789,029 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.10 เนื่องจากตั้งแต่ช่วงหลังปีใหม่ราคาเหล็กในตลาดโลกได้ลดลง จึงทำให้ช่วงหนึ่งผู้ผลิตได้หยุดซื้อวัตถุดิบเพื่อรอราคาเหล็กให้นิ่งก่อน ขณะนี้ ราคาเหล็กได้ทรงตัวแล้ว จึงมีผลทำให้มีการสั่งซื้อเหล็กมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตขยายการผลิตเพิ่มขึ้น รองลงมาคือ เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.73 โดยเหล็กแผ่นเคลือบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.78 (เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 179.39) เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.32 และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.01 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.67 รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.38

คาดการณ์การบริโภคเหล็กของไทยไตรมาส 2 ปี 2559 มีปริมาณ ประมาณ 3.87- 4.12 ล้านตัน โดยมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ความคืบหน้าของโครงการภาครัฐ ที่จะส่งผลให้การผลิตเหล็กเส้นในประเทศเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากคาดการณ์ว่าการผลิตยานยนต์จะเพิ่มขึ้น

ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 (ม.ค.-มี.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 496,508 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 523,775คัน ลดลงร้อยละ 5.21 โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 191,232 คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 295,837 คัน ลดลงร้อยละ 8.69 และ 3.51 ตามลำดับ แต่การผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 9,440 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.81

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 คาดว่าจะขยายตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 490,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2559 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 107.08 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น และการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงได้แก่ HDD Semiconductor และ Monolithic IC ปรับตัวลดลง ร้อยละ 18.43 18.21 และ 5.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและโน้ตบุ๊คลดลง โดยนิยมใช้แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง โดยภาพรวมการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2559 มีมูลค่า 12,931.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.41เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ยกเว้นสหภาพยุโรปที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2559 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.49 เนื่องจากเครื่องปรับอากาศสามารถขยายตัวได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลักบางตลาดเช่น อาเซียน และสหภาพยุโรป สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เคมีภัณฑ์ การส่งออกเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 มีมูลค่ารวม 1,562.913 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ และเครื่องสำอาง คิดเป็นประมาณร้อยละ 28.49% และ 27.21% ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 มีมูลค่ารวม 3,055.324 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ด และ เครื่องสำอาง คิดเป็นประมาณร้อยละ 424.213% 23.033% และ 13.104% ตามลำดับ

แนวโน้มไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเร่งรัดโครงการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า

พลาสติก ภาวะอุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาสที่ 1 ปี 2559 พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของการผลิตพลาสติกแผ่นและบรรจุภัณฑ์พลาสติก ได้แก่ พลาสติกแผ่น แผ่นฟิล์มพลาสติก กระสอบ และถุงพลาสติก และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.55 ส่วนดัชนีส่งสินค้าของอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมลดลงร้อยละ 2.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.40 โดยเพิ่มขึ้นจากการส่งสินค้าประเภทกระสอบและถุงพลาสติก

แนวโน้มไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อีกทั้งการท่องเที่ยวและการบริการที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างชัดเจน

ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าลดลงร้อยละ 13.60 และ 26.15 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558โดยปัจจัยสำคัญเกิดจากการปรับตัวของระดับราคาน้ำมันดิบ ภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาค และภาวะเศรษฐกิจโลกรวมถึงภาวะความมั่นคงทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตในตะวันออกกลาง

แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2559 คาดว่าอัตราการขยายตัวไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับปี 2558คาดว่าในปี 2559 มูลค่าการส่งออกและมูลค่าการนำเข้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2558ตามการขยายตัวของ GDP และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของ GDP ปี 2559 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ประมาณการแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงร้อยละ 3.2-4.2 (ข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 14/2559 วันที่ 28 มกราคม 2559)ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตาม คือ การปรับตัวของระดับราคาน้ำมันดิบ ภาวะเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาค และภาวะเศรษฐกิจโลกรวมถึงภาวะความมั่นคงทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตในตะวันออกกลาง

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้นตามการบริโภคที่ขยายตัว สำหรับกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง เนื่องจากสินค้าคงคลังเพียงพอต่อความต้องการ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น จากความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษ ส่วนกระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก ลดลง ร้อยละ เป็นผลมาจากคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลง

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2559 คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษจะมีทิศทางที่ดีขึ้น จากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัว

เซรามิก การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ในไตรมาส 1 ปี 2559 ในภาพรวมเติบโตเพิ่มขึ้นตามตลาดในช่วงฤดูกาลขาย โดยเครื่องสุขภัณฑ์มีทิศทางการเติบโตที่ดีกว่ากระเบื้องปูพื้น บุผนังสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2559 ในภาพรวมลดลง แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐอเมริกา ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 1 ปี 2559 ลดลงตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2559 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ แม้จะเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 2 ปี 2559 ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามตลาดในประเทศ

ปูนซีเมนต์ ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ของทุกปีเป็นฤดูกาลก่อสร้างของไทย ประกอบกับภาคก่อสร้างในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยสังเกตได้จากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในไตรมาสต่อไป

การผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศและภาคก่อสร้าง ในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกันเนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักของไทยหลายแห่งมีแนวโน้มที่จะต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงทั้งกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ยกเว้นเพียงผลิตภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ยังขยายตัวได้ทั้งภาคการผลิต การจำหน่ายในประเทศ รวมถึงการส่งออก ส่วนผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่น ๆ ยังมีปัญหาจากการใช้จ่ายลดลงสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย ผู้ประกอบการหลายรายที่ทยอยปิดตัวลงและยกเลิกกิจการ เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดการ และการแข่งขันจากต่างประเทศที่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลายประเทศ เริ่มหันมาแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม

ไตรมาส 2 ปี 2559 ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความ ผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้ง การระมัดระวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศ ต้นทุนประกอบการปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศลดลงจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อยอดคำสั่งซื้อสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ทั้งภาคการผลิตและการจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตเส้นใย และได้เปรียบคู่แข่งในอาเซียนในอุตสาหกรรมต้นน้ำ สำหรับเครื่องนุ่งห่มจะนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่นต่าง ๆ ตามความต้องการสินค้าแฟชั่นของผู้บริโภคในประเทศ

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนไม้ ไตรมาส 1 ปี 2559 ในภาพรวมลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ แต่ยังไม่สามารถทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตสามารถขยายตัวได้จากการส่งออก สำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 1 ปี 2559 เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของตลาดหลัก ในส่วนของการนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 1 ปี 2559 ลดลงตามภาวะการจำหน่ายในประเทศ

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนไม้ ไตรมาส 2 ปี 2559 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาค่าครองชีพและหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง สำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 2 ปี 2559 มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากความต้องการสินค้าในตลาดหลักที่เริ่มฟื้นตัว ในส่วนของการนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ไตรมาส 2 ปี 2559 มีแนวโน้มลดลงในทิศทางเดียวกับการจำหน่ายในประเทศ

ยา ปริมาณการผลิตยารักษาและป้องกันโรคในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณการผลิตยาเม็ด ยาน้ำ และยาผง ลดลงในส่วนของปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมาหลายไตรมาส โดยเฉพาะในส่วนของยาน้ำที่เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ในภาพรวมอุตสาหกรรมยาในไตรมาสนี้หดตัวลง เนื่องจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศและกฎระเบียบข้อบังคับบางประการของภาครัฐ

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายยารักษาหรือป้องกันโรคในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวตามโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท การเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างต่างๆ เพื่อกระจายเม็ดเงินสู่ภาคธุรกิจ รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์รวมการแพทย์ครบวงจรของอาเซียน

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 อุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ โดยเฉพาะในส่วนของยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยังขยายตัวได้ ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยังคงขยายตัวได้ โดยเริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกทั้งกระแสความวิตกกังวลจากโรคระบาดทำให้มีการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมยางยานพาหนะในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้ ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับการส่งออกในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต่ออายุการให้ GSP แก่สินค้าไทยออกไปอีก 4 ปี 5 เดือน โดยได้มีการลงนาม เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ซึ่งจะมีผลหลังจากลงนามแล้ว 30 วัน และผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิการคืนภาษีย้อนหลัง 2 ปีจากการต่ออายุ GSP ครั้งนี้ ในส่วนของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักจะชะลอตัว รวมทั้งการถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป แต่มูลค่าการส่งออก ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกทั้งกระแสความวิตกกังวลจากโรคระบาด ทำให้มีการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 1 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตการฟอกและตกแต่งหนังฟอก การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และการผลิตรองเท้า ปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศลดลงตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักที่ชะลอตัว

การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 2 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่า การฟอกและตกแต่งหนังฟอก ปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศลดลงตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักที่ชะลอตัว สำหรับการผลิตกระเป๋าเดินทางและรองเท้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เพื่อสต๊อกสินค้าไว้รองรับช่วงเปิดเทอม

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 1 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ภาคการผลิต ปรับตัวลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.40 เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นการส่งออกสินค้าในสต็อกทดแทนการผลิตสินค้าใหม่ ส่วนภาคการจำหน่ายขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลตรุษจีน และวันวาเลนไทน์

แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 2 ปี 2559 คาดว่า จะปรับตัวลดลงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการยังคงเน้นการส่งออกสินค้าในสต๊อกทดแทนการผลิตใหม่

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 139.5 ปัจจัยหลักเป็นผลจากการเข้าสู่ฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล และหากไม่รวมการผลิตน้ำตาลปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 7.29 และหากเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 5.95 จากปริมาณน้ำตาลที่ลดลง เนื่องจากภัยแล้งส่งผลให้วัตถุดิบลดลง แต่หากไม่รวมการผลิตน้ำตาลปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.41 เป็นผลจากการผลิตเพื่อรองรับผลผลิตออกสู่ตลาดของสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น สับปะรด มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มคำสั่งซื้อของสินค้าผักผลไม้ จากประเทศผู้นำเข้า ส่วนมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.46 จากการประเทศคู่ค้าเพิ่มคำสั่งซื้อน้ำตาล และผักและผลไม้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 4.49 เนื่องจากการส่งออกในกลุ่มประมง อาหารอื่นๆ ผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืช และปศุสัตว์ลดลง

การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาส 2 ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.3 และ 0.5 ตามลำดับ แม้จะมีปัจจัยลบจากการพิจารณาการประกาศปรับระดับการค้าจากปัญหาในเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันไทยได้รับใบเตือนและต้องติดตามการประเมินการดำเนินการ ดังจะประกาศ ผลในเดือนพฤษภาคมนี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทย รวมทั้งอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนและรัสเซีย รวมถึงระดับราคาส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ปรับตัวลดลงตามระดับราคาน้ำมัน แต่ด้วยปัจจัยบวกจากกลุ่มสินค้าหลัก เช่น กลุ่มปศุสัตว์ (เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น และไก่แปรรูป) ที่ประเทศคู่แข่งอย่างบราซิลและจีนจะลดการผลิตลง ส่งผลให้แนวโน้มราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศคู่แข่งหลายประเทศยังคงประสบปัญหาไข้หวัดนก รวมทั้งสินค้าประมง เช่น กุ้ง คาดการณ์ผลผลิตกุ้งทั่วโลกจะมีปริมาณลดลง โดยเฉพาะคู่แข่งหลัก เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย จึงเป็นโอกาสดีของไทย เนื่องจากสถานการณ์การผลิตกุ้งไทยฟื้นตัวจากการปัญหาโรคกุ้งตายด่วน ประกอบกับสินค้าน้ำตาลที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ค่าความหวานของอ้อยลดลง ส่งผลให้ผลผลิตลดลงตามไปด้วย และทำให้ราคามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน เช่น มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน SMEs และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหารในประเทศ จึงส่งผลให้การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารเติบโตขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ