สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2559 (มกราคม - มีนาคม 2559)(เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2016 10:24 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส ที่ 4 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 โดยปัจจัยที่ทำให้ชะลอตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 คือ การส่งออกสินค้าที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักยังชะลอตัว และราคาสินค้าส่งออกลดลงตามราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก รวมทั้งภาคเกษตรหดตัว เนื่องจากได้รับกระทบจากภัยแล้ง ด้านอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวสูงขึ้นในด้านการก่อสร้าง รวมทั้งการขยายตัวของการใช้จ่ายครัวเรือน การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนที่มีการขยายตัวในด้านเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรเพิ่มขึ้นเพื่อมาติดตั้งในโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อสร้างใหม่ อย่างไรก็ตามการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะเงินกู้เพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่กลับมาขยายตัว นอกจากนี้นโยบายยกเว้นภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของรัฐบาลในช่วงปลายปีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือน ด้านการส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการสุทธิลดลงซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ประกอบกับอุปสงค์ในตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) สามารถขยายตัวในเกณฑ์ดี

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.8 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 และชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 โดยเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยีชะลอตัวลง เนื่องจากการผลิตยานยนต์ชะลอตัวลงในหมวดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ถึงแม้ว่าในหมวด รถยนต์นั่งขนาดกลางและขนาดใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากความต้องการในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นก่อนการปรับภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งที่จะประกาศใช้ในเดือนมกราคม 2559 การผลิตอุตสาหกรรมเบาหดตัวโดยเฉพาะในกลุ่มสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันของไทยและความต้องการของต่างประเทศลดลง ในส่วนของอุตสาหกรรมวัตถุดิบขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลจากการผลิตอุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อกระดาษที่ขยายตัวตามความต้องการของประเทศคู่ค้า

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ซึ่งขยายตัวจากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 และเศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 - 3.8

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี 2559 พบว่า มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิต การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2558 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมมีค่าเท่ากับไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 โดยมูลค่าการส่งออกในภาพรวม (ม.ค. - มี.ค. 59) ขยายตัวร้อยละ 0.9 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 112.1 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (106.1) ร้อยละ 5.6 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (113.3) ร้อยละ 1.1

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ น้ำตาล ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า บุหรี่ การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 112.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (107.5) ร้อยละ 4.7 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (111.1) ร้อยละ 1.3

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องประดับเพชรพลอย ผลิตภัณฑ์พลาสติก ชุดสายไฟสำหรับรถยนต์และจักรยานยนต์ น้ำมันพืช เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน (ตารางที่ 1) ใน ไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 120.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (116.6) ร้อยละ 2.9 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (119.5) ร้อยละ 0.4

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศ สบู่และผงซักฟอก เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด น้ำตาล เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ได้แก่ สบู่และผงซักฟอก เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม น้ำมันพืช เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ (ตารางที่ 1) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 67.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 63.4) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (ร้อยละ 68.6)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ น้ำตาล ส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับประกอบยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ได้แก่ ยานยนต์ หลอดอิเล็กทรอิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องปรับอากาศ การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยมีค่า 74.6 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (74.7) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (79.1) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ดัชนีทั้ง 3 มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2558 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเป็นรายเดือน จะเห็นว่า ดัชนีในเดือนมีนาคม 2559 ปรับตัวลดลงทุกรายการ เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาวะภัยแล้งเริ่มมีปัญหารุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการหดตัวของการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวต่ำโดยเฉพาะราคายางพาราและข้าว ทำให้กำลังซื้อในประเทศยังฟื้นตัวไม่มากนัก

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 มีค่า 63.5 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (63.6) และไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (68.4) และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมไม่สูงมากนัก เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวัลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 มีค่า 69.6 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (69.7) และไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (73.1) และอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวการณ์จ้างงานโดยรวม โดยเห็นว่าโอกาสในการหางานทำจะไม่ดีตามภาวะเศรษฐกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 มีค่า 90.6 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (90.9) และไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (95.7) และอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคเห็นว่ารายได้ในอนาคตของตนจะปรับตัวแย่ลงหรืออยู่ในระดับที่ไม่ดี เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้ามากขึ้น ทำให้มีความมั่นใจการหารายได้ในอนาคตของตนน้อยลง

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 มีค่าเท่ากับ 49.4 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (49.7) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (50.3) โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ดัชนีโดยรวมมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความกังวลต่ออุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอตัวลง กอปรกับผู้ประกอบการในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบทางการเกษตรอันเนื่องจากปัญหาภัยแล้งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 86.0 เท่ากับไตรมาสที่ผ่านมา (86.0) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (89.2) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นเป็นรายเดือน จะเห็นว่าดัชนีในเดือนมีนาคม 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากปรับลดติดต่อกัน 2 เดือน ปัจจัยที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนภาครัฐเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัสดุก่อสร้างมียอดคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกันปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแสะต่อภาครัฐ ได้แก่ ขอให้เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุนในโครงการที่รัฐบาลได้อนุมัติไปแล้ว เร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเพื่อขยายตลาด ลดอุปสรรคทางการค้าและมาตรการกีดกันสินค้าที่มิใช่ภาษี สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนขยายกิจการในต่างประเทศเพื่อใช้สิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ส่งเสริมการใช้สินค้าภายในประเทศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย และป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพเข้ามาในประเทศ และเร่งดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 157.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ร้อยละ 0.8 ที่ระดับ 155.9 ตามการขยายตัวของเงินทุนจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง ณ ราคาคงที่ และดัชนีส่วนกลับราคาน้ำมัน (โอมาน)

สำหรับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 มีค่าเฉลี่ย 156.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.67 จากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ย 154.1 ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 128.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ร้อยละ 0.7 ที่ระดับ 127.3 ตามการขยายตัวของการนำเข้า ณ ราคาคงที่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 มีค่าเฉลี่ย 127.7 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.4 จากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ย 128.3

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 5) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 อยู่ที่ระดับ 113.2 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 118.4 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ที่ระดับ 111.0 ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าในครัวเรือน กิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ ปริมาณการจำหน่ายเบียร์ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ รถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ พบว่า ไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวม อยู่ที่ระดับ 122.5 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 123.2 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ที่ระดับ 120.5

หากแยกตามรายการสินค้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายใน ประเทศ ณ ราคาคงที่ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ส่วน การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 105.7 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 106.1 และไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ที่ระดับ 106.2 การที่ราคาผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากการลดลงของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มตามราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สัตว์น้ำแปรรูป ผักและผลไม้ อาหารสำเร็จรูป รวมทั้งการลดลงของราคาไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่าง

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 อยุ่ที่ระดับ 100 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 101.7 และไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ที่ระดับ 102.8 โดยราคาผลผลิตเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์จากเหมือง ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2558

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2559 (ข้อมูลเดือนมีนาคม 2559) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.352 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 37.610 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.06 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.39 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.04)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่หนึ่งของปี 2559 มีจำนวน 6.225 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 16.55 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

มูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 มีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ประกอบกับความต้องการภายในประเทศลดลง ส่งผลให้การนำเข้ามีมูลค่าลดลง ส่วนการส่งออกกลับมาขยายตัวเล็กน้อย สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 นี้ เกินดุลการค้าเป็นมูลค่า 8,189.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 หดตัวลงเนื่องจากการนำเข้าที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่งจากความต้องการภายในประเทศที่ลดลง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งการนำเข้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 11.99 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการส่งออกกลับมาขยายตัวเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 0.90 โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าทั้งสิ้น 99,469.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 53,829.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 45,640.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 นั้น มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.89 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 6.75 สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 1 นี้ อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้า โดยมีมูลค่า 8,189.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงในเดือนมกราคม และกลับมาขยายตัวทั้งในเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม โดยมูลค่าการส่งออกของเดือนมกราคมมีมูลค่า 15,711.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.91 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์การส่งออกมีมูลค่า 18,993.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.27 และการส่งออกในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.30 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 19,124.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า 43,599.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 80.99) ซึ่งเป็นหมวดสินค้าที่มี การส่งออกมากที่สุด รองลงมาคือสินค้าเกษตรกรรม 4,735.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 8.80) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 4,203.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.81) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออก 1,289.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.40)

เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่าการส่งออกในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.98 และสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.95 สำหรับสินค้าแร่ และเชื้อเพลิง และสินค้าเกษตรกรรมยังคงมีมูลค่าการส่งออกลดลง โดยการส่งออกสินค้าแร่ และเชื้อเพลิงมีมูลค่าลดลงร้อยละ 37.13 และสินค้าเกษตรกรรมมีมูลค่าลดลงร้อยละ 5.68

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 10 รายการหลัก ได้แก่ สินค้ายานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบมีมูลค่าการส่งออก 8,283.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 19.00 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม) เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ 7,588.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 17.40) เครื่องใช้ไฟฟ้า 5,396.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 12.38) อัญมณี และเครื่องประดับ 4,722.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 10.83) เม็ดพลาสติก 1,878.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.31) เครื่องจักรกล และส่วนประกอบของเครื่อง 1,798.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.12) สิ่งทอ 1,587.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็น ร้อยละ 3.64) ผลิตภัณฑ์ยาง 1,517.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.48) เคมีภัณฑ์ 1,424.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.27) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออก 1,187.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.72) โดยมูลค่าการส่งออกทั้ง 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 35,383.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 81.16 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด

ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ซึ่งได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีนมีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็น ร้อยละ 66.69 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ยกเว้นการส่งออกไปยังประเทศจีน และสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.37 และ 3.21 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกไปยังญี่ปุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.66 การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.85 และการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 เป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 17,514.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 38.37) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน โดยมีมูลค่า 14,022.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 30.72) สินค้าอุปโภคบริโภค 6,139.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 13.45)สินค้าเชื้อเพลิง 4,836.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 10.60) สินค้าหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง 3,043.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.67) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ 83.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.18)

โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าในหมวดสำคัญส่วนใหญ่มีมูลค่าลดลง โดยการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงมี มูลค่าลดลงร้อยละ 36.96 เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 17.96 การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าลดลงร้อยละ 15.73 และการนำเข้าสินค้าทุนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.27 สำหรับการนำเข้าสินค้ายานพาหนะ และอุปกรณ์ และสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.92 และ 2.35 ตามลำดับ

แหล่งนำเข้า

ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 51.80 เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการนำเข้าสินค้าจากแหล่งนำเข้าสำคัญมีมูลค่าลดลง โดยการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกามีมูลค่าลดลงร้อยละ 14.55 การนำเข้าจากกลุ่มประเทศในอาเซียนลดลงร้อยละ 12.17 การนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 11.40 และ 8.50 ตามลำดับ

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีมูลค่ารวม 86,844.6 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนมกราคมมีมูลค่า 46,729.5 ล้านบาท สำหรับเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 40,115.1 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนมกราคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 34,547.7 ล้านบาท และในเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 23,545.1 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 58,092.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 51,549.5 ล้านบาท

ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ปี 2559 การลงทุนในกิจกรรมการผลิต หรือสาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 58,092.8 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารมากที่สุดซึ่งมีมูลค่าลงทุนสุทธิ 17,274.0 ล้านบาท รองลงมาคือการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วง มีมูลค่าลงทุนสุทธิ 11,987.6 ล้านบาท การผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ มีมูลค่าลงทุนสุทธิ 9,083.1 ล้านบาท และการผลิตเคมีภัณฑ์มีมูลค่าลงทุนสุทธิ 6,187.1 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในกิจกรรมรองลงมาคือกิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัยซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 14,974.8 ล้านบาท

ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2559 คือประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีเงินลงทุนสุทธิ 32,316.5 ล้านบาท รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่นและประเทศเยอรมนีโดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 31,882.0 ล้านบาท และ 9,875.3 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ปี 2559 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 249 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 462 โครงการ โดยใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 79,890 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 115,260 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 80 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 23,360 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ จำนวน 61 โครงการ เป็นเงินลงทุน 25,800 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 108 โครงการ เป็นเงินลงทุน 30,730 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนพบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตรมีเงินลงทุน 20,810 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์มีเงินลงทุน 14,640 ล้านบาท และหมวดกิจการบริการ และสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 13,170 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ปี 2559 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 179 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 58,439 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 19 โครงการ มีเงินลงทุน 21,948 ล้านบาท ประเทศไต้หวันมีจำนวน 22 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 11,850 ล้านบาท และประเทศสิงคโปร์มีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 32 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 6,770 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ