1. สถานการณ์ปัจจุบัน
ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีประมาณ 1,789,029 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.10 เนื่องจากตั้งแต่ช่วงหลังปีใหม่ราคาเหล็กในตลาดโลกได้ลดลง จึงทำให้ช่วงหนึ่งผู้ผลิตได้หยุดซื้อวัตถุดิบเพื่อรอราคาเหล็กให้นิ่งก่อน ขณะนี้ ราคาเหล็กได้ทรงตัวแล้ว จึงมีผลทำให้มีการสั่งซื้อเหล็กมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตขยายการผลิตเพิ่มขึ้น รองลงมาคือ เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.73 โดยเหล็กแผ่นเคลือบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.78 (เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 179.39) เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.32 และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.01 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.67 รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.38 รายละเอียดตามตารางที่ 1
ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีจำนวนประมาณ 4,281,171 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการใช้มากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.86 โดยเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เพิ่มขึ้น แต่เหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 5.6 เป็นผลมาจากโครงการก่อสร้างของภาคเอกชนที่ยังคงมีอยู่เล็กน้อย แต่ผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มทรงแบน ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.48 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 16.6 รองลงมาคือ เหล็กเคลือบสังกะสี ลดลง ร้อยละ 12.5
การนำเข้า- การส่งออก
มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีจำนวนประมาณ 1,412.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 26.66 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 31.06 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 39.69 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 30.39 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 15.48 โดยเหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 17.28 เหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 14.00 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้า เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.05 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้า เพิ่มขึ้น มากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 87.16 รองลงมาคือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.13 แต่เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 7.19 โดยท่อเหล็ก ลดลง ร้อยละ 27.30 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 11.54 รายละเอียดตามตารางที่ 2
การบริโภคเหล็กของไทยไตรมาส 1 ปี 2559 มีปริมาณ 4,281,171 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 1,789,029 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.90 โดยเป็นการผลิตเพิ่มขึ้นของเหล็กทรงยาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง การส่งออกมีมูลค่า 167.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 17.76 สำหรับการนำเข้า 1,412.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 26.66 เนื่องจากภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศยังคงทรงตัวอยู่ โดยในส่วนของอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้ที่สำคัญ เช่น
- อุตสาหกรรมก่อสร้าง ในส่วนของโครงการของภาคเอกชนพบว่าธุรกิจคอนโดมิเนียมที่เป็น High end ยังคงขยายตัวอยู่ เนื่องจากผู้บริโภคมีรสนิยมที่เปลี่ยนไป คือ จากเดิมที่นิยมซื้อบ้านขนาดขนาดใหญ่ที่อยู่นอกเมืองมาเป็นนิยมซื้อคอนโดมิเนียมในเมืองใหญ่ที่มีการคมนาคมสะดวก ในขณะที่คอนโดมิเนียมระดับกลางและล่างสำหรับตลาดผู้ซื้อระดับกลางและล่างยังคงทรงตัวเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งผลักดันให้เกิดโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่, โครงการรถไฟความเร็วสูง, โครงการปรับปรุงท่าอากาศยาน จ.ตาก และ จ.ยะลา พบว่าปัจจุบันยังไม่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง จึงส่งผลให้สถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างในส่วนของภาครัฐยังคงทรงตัวอยู่
- อุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การใช้เหล็กในประเทศสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลงด้วย
คาดการณ์การบริโภคเหล็กของไทยไตรมาส 2 ปี 2559 มีปริมาณ ประมาณ 3.87- 4.12 ล้านตัน โดยมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ความคืบหน้าของโครงการภาครัฐ ที่จะส่งผลให้การผลิตเหล็กเส้นในประเทศเพิ่มมากขึ้น ในส่วนของเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากคาดการณ์ว่าการผลิตยานยนต์จะเพิ่มขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--