สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2559 (มกราคม - มีนาคม 2559)(อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2016 15:51 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

Highlight

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2559 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 107.08เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงได้แก่ HDD Semiconductor และ Monolithic IC ปรับตัวลดลง ร้อยละ 18.43 18.21 และ 5.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลลดลงและหันไปใช้แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนมากขึ้น ประกอบกับความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2559 มีมูลค่า 12,931.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.41เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ยกเว้นสหภาพยุโรปที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

ในไตรมาส 2/2559 คาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแยกเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.49 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.09

การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 1/2559 (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 1) มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 107.08 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.17เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มาจากเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต พัดลมตามบ้าน ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.82 62.40 56.23 6.33 และ 11.14 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นทั้งหมด ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รวมถึงการส่งออกพัดลมตามบ้านปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ ยกเว้นสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปที่ปรับตัวลดลง สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.95 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สำหรับสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ Semiconductor Monolithic IC Other IC HDD และPrinter ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.79 5.95 4.32 11.26 และ 3.67 ตามลำดับ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต พัดลมตามบ้าน ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ และหม้อหุงข้าว ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.23 11.11 16.70 0.89 10.44 และ 12.40 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงถึงร้อยละ 64.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 1/2559 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวลงทุกตัว ได้แก่ Printer HDD Semiconductor และ Monolithic IC ปรับตัวลดลงร้อยละ 18.70 18.43 18.21 และ 5.36 ตามลำดับ เพราะความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลกลดลง ซึ่ง Gartner 1 รายงานว่าการจำหน่ายคอมพิวเตอร์ PC ทั่วโลกใน ไตรมาส 1/2559 มีการจำหน่ายอยู่ที่ 64.8 ล้านเครื่อง ลดลงร้อยละ 9.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง ประกอบกับความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

โดย Semiconductor Industry Association 2 (SIA) รายงานว่า การจำหน่าย Semiconductor ไตรมาส 1/2559 มีมูลค่า 78.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 5.50 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.80 และ 9.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนญี่ปุ่น และจีนมีการขยายตัวร้อยละ 1.80 และ 1.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การจำหน่ายในประเทศ

ภาวะการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในไตรมาส 1/2559 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เกือบทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิตเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิตคอมเพรสเซอร์ พัดลม เครื่องซักผ้า และตู้เย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 114.77 113.44 4.77 47.60 8.66 และ 11.72 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนเตาไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และสายไฟฟ้าลดลงร้อยละ 44.48 26.41 3.28 และ 23.51 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

ภาวะการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิตเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิตคอมเพรสเซอร์ พัดลม เครื่องซักผ้า ตู้เย็น กระติกน้ำร้อน และหม้อหุงข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.36 3.48 7.57 21.62 17.49 2.32 7.60 และ 18.11 ตามลำดับ ส่วนเตาไมโครเวฟ และสายไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 28.25 และ 24.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 2)

การส่งออก

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2559 มีมูลค่า 12,931.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.41 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวลดลงร้อยละ 5.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปตลาดหลักลดลงเกือบทั้งหมด ได้แก่ อาเซียน จีน สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ยกเว้นสหภาพยุโรปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 3)

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 1/2559 มีมูลค่า 5,560.33 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยตลาดหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.72 4.72 และ 4.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนสหรัฐอเมริกาและจีนปรับตัวลดลงร้อยละ 13.61 และ 6.01 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 4.79 โดยการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และอาเซียน ลดลงร้อยละ 18.59 5.99 และ 0.84 ตามลำดับ ยกเว้นสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.58 และ 0.71 ตามลำดับ โดยเครื่องใช้ ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าการส่งออก 1,222.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปอาเซียน และสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.98 และ 18.29 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การส่งออกไปจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 39.39 8.08 และ 21.01 ตามลำดับ 2) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับ ตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม (ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก socket) มีมูลค่า 630.95 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.52 และ 13.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 3) ตู้เย็นใช้ตามบ้านเรือน มีมูลค่าการส่งออก 383.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดหลักปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งหมด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.09 22.63 11.39 8.96 และ 0.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2559 มีมูลค่า 7,371.33 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.38 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งตลาดหลักเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกาสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 30.19 8.25 5.82 และ 4.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามลำดับ ยกเว้นอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สำหรับการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 5.38 เนื่องจากตลาดหลักปรับตัวลดลงทั้งหมด ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 17.92 13.59 6.15 3.05 และ 0.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1) อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าการส่งออก 4,101.23 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปสหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 4.28 28.59 7.54 และ 2.64 ตามลำดับ 2) วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี มีมูลค่าการส่งออก 1,748.28 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปจีนและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.79 และ 1.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ 3) ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ มีมูลค่าการส่งออก 319.31 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปอาเซียน สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.99 77.39 และ 1,413.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

การนำเข้า

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2559 มีมูลค่า 10,933.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.66 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 2.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้าในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (รายละเอียดแสดงในตารางที่ 4)

การนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 1/2559 คิดเป็นมูลค่า 4,426.61 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 7.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้าจากสหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.46 11.26 และ 38.44 ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าจากอาเซียนและญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 8.55 และ 14.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม (ฟิวส์ สวิตช์ ปลั๊ก socket) มีมูลค่าการนำเข้า 898.61 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากแหล่งนำเข้าปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 9.21 7.20 และ 20.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ 2) มอเตอร์เล็ก (กำลังไม่เกิน 750 W) มีมูลค่าการนำเข้า 414.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.24 151.91 และ 23.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ 3) สายไฟ ชุดสายไฟ มีมูลค่าการนำเข้า 323.02 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แหล่งนำเข้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 8.59 และ 42.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่แหล่งนำเข้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน จีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.26 5.43 และ 47.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การนำเข้าอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2559 มีมูลค่า 6,506.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง ร้อยละ 6.31 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวลดลงร้อยละ 4.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าหลัก ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 0.63 2.71 12.21 และ 10.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สินค้านำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก 1) วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี มีมูลค่า 2,144.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 4.65 12.58 10.08 และ 1.74 ตามลำดับ 2) อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าการนำเข้า 1,530.11 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 7.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนำเข้าจากสหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 19.32 11.42 51.35 และ 14.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ตามลำดับ 3) เครื่อง โทรศัพท์สำหรับเครือข่ายเซลลูลาร์ มีมูลค่า 1,056.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้าจากจีน และสหรัฐอเมริกา ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.89 และ 69.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ แหล่งนำเข้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.12 462.22 และ 40.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 1/2559

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2559 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 107.08 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น และการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงได้แก่ HDD Semiconductor และ Monolithic IC ปรับตัวลดลง ร้อยละ 18.43 18.21 และ 5.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและโน้ตบุ๊คลดลง โดยนิยมใช้แท็บเล็ตและสมาร์ทโฟนมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง โดยภาพรวมการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1/2559 มีมูลค่า 12,931.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.41เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 5.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ยกเว้นสหภาพยุโรปที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 2/2559

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2559 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.49 เนื่องจากเครื่องปรับอากาศสามารถขยายตัวได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลักบางตลาดเช่น อาเซียน และสหภาพยุโรป สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ