สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2559 (มกราคม - มีนาคม 2559)(อุตสาหกรรมยานยนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2016 15:54 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 มีปริมาณการผลิตชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงจากความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว

สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559(ม.ค.-มี.ค.) สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 1ของปี 2559 มีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวม 14โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวมกว่า 3,217.20ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้น 1,984คนในจำนวนนี้มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนมากกว่า 500 ล้านบาท จำนวน2โครงการ คือ1) โครงการของนายสมพงษ์ เผอิญโชคได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น ตัวถังรถยนต์ และชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์เป็นต้น มีเงินลงทุน 722.50 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 689 คน และ 2) โครงการของบริษัท โรเบิร์ต บ๊อซ ออโตโมทีฟ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัดได้รับการส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น ELETRONIC FUEL INJECTOR เป็นต้น มีเงินลงทุน 1,754.10 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 188 คน(รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.boi.go.th)

อุตสาหกรรมรถยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 (ม.ค.-มี.ค.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์ 496,508 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 523,775คัน ลดลงร้อยละ 5.21 โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 191,232 คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 295,837 คัน ลดลงร้อยละ8.69 และ 3.51 ตามลำดับ แต่การผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 9,440 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.81

สำหรับปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก 314,628 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.07 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดโดยแบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 111,416 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.41 และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 203,212 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.59 หากพิจารณาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.17 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.72, 0.17 และ 12.78 ตามลำดับ

การจำหน่าย ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 (ม.ค.-มี.ค.)มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ 181,560 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ 197,787คัน ลดลงร้อยละ 8.20 โดยเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 57,973 คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน 81,396 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 10,907 คัน ลดลงร้อยละ 26.59, 4.05 และ 8.65 ตามลำดับ แต่การจำหน่ายรถยนต์ PPV (รวมรถยนต์ SUV) 31,284คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.90เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่1 ของปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงร้อยละ 26.14โดยมีการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตันรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ PPV(รวมรถยนต์ SUV) ลดลงร้อยละ36.20, 11.95, 12.68 และ 37.42 ตามลำดับ

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 (ม.ค.-มี.ค.) มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ (CBU) จำนวน 307,760คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการส่งออกรถยนต์ 328,232คัน ลดลงร้อยละ 6.24โดยมีมูลค่าการส่งออก 163,553.42ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์ 146,884.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.35 หากพิจารณาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75 และเมื่อคิดเป็นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.57

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 มีมูลค่า2,967.79 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.00 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถยนต์นั่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์และซาอุดิอาระเบีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 21.20, 17.01 และ 7.15 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถยนต์นั่งไปออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์และซาอุดิอาระเบีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 80.05, 115.91 และ 748.23 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกรถแวนของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559มีมูลค่า 3.87 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 96.38 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถแวน ได้แก่ ตรินิแดดและโตเบโก (ประเทศในแถบอเมริกาเหนือ) พม่า และกัมพูชาคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 36.35, 20.52 และ 7.27ตามลำดับ โดยการส่งออกรถแวนไปตรินิแดดและโตเบโก และพม่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.01 และ 269.18 ตามลำดับ แต่การส่งออกรถแวนไปกัมพูชา ลดลงร้อยละ 21.45 ส่วนมูลค่าการส่งออกรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559มีมูลค่า 1,647.04ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 42.67ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกได้แก่ ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย และมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ35.55, 9.36 และ 6.61 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกไปออสเตรเลีย และซาอุดิอาระเบีย มีมูลค่าลดลงร้อยละ 11.37 และ 64.42 ตามลำดับ แต่การส่งออกรถปิกอัพ รถบัสและรถบรรทุกไปมาเลเซีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ15.61

การนำเข้า จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่าการนำเข้ารถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559(ม.ค.มี.ค.) มีการนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก คิดเป็นมูลค่า 180.00และ 240.60ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน พบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่ง ลดลงร้อยละ 17.19 แต่การนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.45หากพิจารณาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่งลดลงร้อยละ 3.33 แต่รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 267.61

แหล่งนำเข้ารถยนต์นั่งที่สำคัญในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559ได้แก่ญี่ปุ่น เยอรมนี และมาเลเซียคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 27.03, 25.39 และ 20.57 ตามลำดับโดยการนำเข้ารถยนต์นั่งจากญี่ปุ่น และเยอรมนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.85 และ 4.77 แต่การนำเข้ารถยนต์นั่งจากมาเลเซียลดลงร้อยละ 30.11 ส่วนแหล่งนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกที่สำคัญได้แก่สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 56.00, 10.90 และ 7.69 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกจากสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 513.07 และ 7,099.37 ตามลำดับแต่การนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกจากอินโดนีเซียลดลงร้อยละ 31.91

สรุปและแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่ 1ของปี 2559 มีปริมาณการผลิตชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงจากความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 คาดว่าจะขยายตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประมาณการในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 490,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 (ม.ค.-มี.ค.)มีจำนวน 461,350คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ 536,903คัน ลดลงร้อยละ 14.07 โดยแบ่งเป็นการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 334,939คัน ลดลงร้อยละ 20.93 แต่การผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 126,411คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.59หากพิจารณาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.37โดยมีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ตเพิ่มขึ้นร้อยละ2.10และ 29.40 ตามลำดับ

การจำหน่าย ตลาดรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 (ม.ค.-มี.ค.) มีจำนวน 280,517คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 478,945คัน ลดลงร้อยละ 41.43แบ่งเป็นการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 138,594 คันลดลงร้อยละ 42.72การจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์ 98,821 คัน ลดลงร้อยละ 42.41 และการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 43,102 คัน ลดลงร้อยละ 34.09 หากพิจารณาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 22.69 โดยมีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว รถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์ และรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต ลดลงร้อยละ 23.97, 26.74และ 5.61 ตามลำดับ

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) ของประเทศไทย ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 (ม.ค.-มี.ค.)จำนวน 246,473คัน (เป็นการส่งออก CBU จำนวน 83,160 คัน และ CKD จำนวน 163,313 ชุด) เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ 264,276 คัน ลดลงร้อยละ 6.74 หากคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ 17,065.42 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 14,053.45ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.43หากพิจารณาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.72 หากคิดเป็นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.86

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559มีมูลค่า 321.56 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 17.70 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถจักรยานยนต์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาสหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 21.65, 15.01 และ 11.65 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถจักรยานยนต์ไปสหรัฐอเมริกาสหราชอาณาจักร มีมูลค่าลดลงร้อยละ 0.89 และ 12.25 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกรถจักรยานยนต์ไปเนเธอร์แลนด์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.13

การนำเข้า จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการนำเข้ารถจักรยานยนต์ของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559(ม.ค.-มี.ค.) มีการนำเข้ารถจักรยานยนต์ มูลค่า 40.14ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการนำเข้ารถจักรยานยนต์ 48.05ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 16.46หากพิจารณาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าการนำเข้ารถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 31.48 แหล่งนำเข้ารถจักรยานยนต์ที่สำคัญในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559ได้แก่ อินโดนีเซียเวียดนาม และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า ร้อยละ 43.52, 21.24 และ 14.14 ตามลำดับ โดยมีการนำเข้ารถจักรยานยนต์จากเวียดนาม ลดลงร้อยละ 55.65 แต่การนำเข้ารถจักรยานยนต์อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.40 และ 0.85 ตามลำดับ

สรุปและแนวโน้ม รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 การผลิตรถจักรยานยนต์ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนโดยเป็นการชะลอตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ไตรมาสที่2 ของปี 2559 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาโดยข้อมูลจากการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประมาณการว่าในไตรมาสที่2 ปี 2559 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 400,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 80 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 20

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559(ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 43,813.33ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.24 การส่งออกเครื่องยนต์ มีมูลค่า 11,424.19 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับ ปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.67และการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ 6,048.62ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.25 หากพิจารณาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) เครื่องยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.44 และ 13.01 ตามลำดับ แต่มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ลดลงร้อยละ 3.18

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559(ม.ค.มี.ค.)มีมูลค่า 2,043.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ1.98ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ได้แก่ ญี่ปุ่นมาเลเซียและอินโดนีเซียคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 12.34, 9.84 และ 8.55 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ไปญี่ปุ่น มาเลเซียและอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 0.80, 19.37 และ 20.79 ตามลำดับ

การส่งออกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559(ม.ค.-มี.ค.)มีมูลค่า 669.54ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ36.03การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีมูลค่า 258.97 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 18.98หากพิจารณาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) และชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.78 และ17.97 ตามลำดับ

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ของไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559(ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 159.00 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 8.31 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ได้แก่กัมพูชา อินโดนีเซียและเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ29.95,9.89 และ 7.14 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ไปกัมพูชา เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.45 แต่การส่งออกไปอินโดนีเซียและเวียดนามลดลงร้อยละ 1.45 และ 5.10 ตามลำดับ

การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559(ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 2,367.35 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับ ปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ3.35หากพิจารณาในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ ลดลงร้อยละ 16.57แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 37.88, 21.28 และ 6.31 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์จากญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 8.24 แต่การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์จากจีนและอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.47 และ 9.55 ตามลำดับ

การนำเข้าชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ฯ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559(ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 142.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ7.86 หากพิจารณาในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.95แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 23.39, 19.50 และ 10.50 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯจากญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 12.47 แต่การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯจากจีน และไต้หวันเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.50 และ 6.66 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 เรื่อง โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ส่วนงบประมาณในการดำเนินการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) อนุมัติให้ อก. ดำเนินการโครงการฯ เพื่อรองรับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 21 รายการ วงเงิน 3,705.70 ล้านบาท ให้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2563 (เฟส 1 และ 2)

2) อนุมัติงบกลางจำนวน 233.30 ล้านบาท เพื่อชดเชยพื้นที่และค่าปลูกป่า รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษา

3) การทดสอบมาตรฐานที่ยังไม่กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ (เฟส 3) ให้ อก. พิจารณาแนวทางที่เหมาะสมและเสนอ ครม. อีกครั้ง

4) ให้ สศช. บรรจุโครงการฯ ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) (ที่มา :www.thaigov.go.th)

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ