สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2559 (มกราคม - มีนาคม 2559)(อุตสาหกรรมพลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2016 15:57 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 1 ปี 2559 ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.55 และดัชนีส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 1 และ 2) การส่งออกและการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.26 และ 9.60 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3 และ 4) ทั้งนี้ เนื่องจากภาคอสังหามทรัพย์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ รวมทั้งสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลให้มีการส่งออกและนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกกลุ่มเครื่องประกอบอาคาร เพื่อใช้ในก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มหลอดหรือท่อ และกลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ที่ใช้เพื่อการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ส่วนไตรมาส 2 ปี 2559 คาดว่าอุตสาหกรรมพลาสติกมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากการการค้าและการลงทุนเพิ่ม เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

การตลาดและการจำหน่าย

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) ไตรมาส 1 ปี 2559 มีปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 276,447.80 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.50 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสินค้าที่มีร้อยละของการเปลี่ยนแปลงปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ กลุ่มเครื่องสุขภัณฑ์ (3922) กลุ่มเครื่องประกอบอาคาร (3925) กลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบแบบเซลลูลาร์ (3921) และกลุ่มหลอดหรือท่อ (3917)

  • กลุ่มเครื่องสุขภัณฑ์ (3922) มีปริมาณการส่งออก 610.36 ตัน ลดลงร้อยละ 0.21 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.58 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เมียนมา นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และซาอุดิอาระเบีย คิดเป็นร้อยละ 17.99 10.27 8.51 8.40 และ 7.37 ตามลำดับ
  • กลุ่มเครื่องประกอบอาคาร (3925) มีปริมาณการส่งออก 2,781.03 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.30 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 31.65 16.06 และ 14.93 ตามลำดับ
  • กลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบแบบเซลลูลาร์ (3921) มีปริมาณการส่งออก 14,537.21 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.35 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และจีน คิดเป็นร้อยละ 17.29 8.93 และ 7.45 ตามลำดับ
  • กลุ่มหลอดหรือท่อ (3917) มีปริมาณการส่งออก 10,468.63 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.44 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.20 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา คิดเป็นร้อยละ 18.05 13.52 และ 10.22 ตามลำดับ
การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) ไตรมาส 1 ปี 2559 มีปริมาณการนำเข้ารวมทั้งสิ้นเท่ากับ 166,832.06 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.60 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสินค้าที่มีร้อยละของการเปลี่ยนแปลงปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ กลุ่มใยยาวเดี่ยว (3916) กลุ่มหลอดหรือท่อ (3917) กลุ่มเครื่องประกอบอาคาร (3925) และกลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920)

  • ใยยาวเดี่ยว (3916) มีปริมาณการนำเข้า 2,414.41 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.78 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.12 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน และสิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 52.22 และ 13.22 ตามลำดับ
  • หลอดหรือท่อ (3917) มีปริมาณการนำเข้า 11,294.68 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.56 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน และญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 39.79 และ 17.78 ตามลำดับ
  • เครื่องประกอบอาคาร (3925) มีปริมาณการนำเข้า 4,672.99 ตัน ลดลงร้อยละ 6.31 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.55 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย คิดเป็นร้อยละ 48.02 27.98 และ 9.18 ตามลำดับ
  • กลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) มีปริมาณการนำเข้า 40,770.52 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.55 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.77 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย คิดเป็นร้อยละ 25.64 19.71 และ 12.96 ตามลำดับ
นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ภาครัฐมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการเร่งรัดใช้จ่ายเงิน ประกอบกับแนวโน้มของการบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาคบังคับกับผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสอาหาร คาดว่าจะทำให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและการบริโภคพลาสติกภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ (Super Cluster) และนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมรูปแบบอื่นๆ เช่น New S-Curve, Spring Board ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐประกาศลดพื้นที่ทำการเกษตร เนื่องจากปริมาณน้ำสำรองลดน้อยลง ส่งผลให้มีการนำเข้าใยยาวเดี่ยว หลอดหรือท่อ และแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ที่ใช้เพื่อการเกษตรเพิ่มมากขึ้น

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพลาสติก และแนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2559

ภาวะอุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาสที่ 1 ปี 2559 พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของการผลิตพลาสติกแผ่นและบรรจุภัณฑ์พลาสติก ได้แก่ พลาสติกแผ่น แผ่นฟิล์มพลาสติก กระสอบ และถุงพลาสติก และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.55 ส่วนดัชนีส่งสินค้าของอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมลดลงร้อยละ 2.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.40 โดยเพิ่มขึ้นจากการส่งสินค้าประเภทกระสอบและถุงพลาสติก

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีปริมาณการส่งออกเท่ากับ 276,447.80 ตัน โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนปริมาณการส่งออกสำคัญ ได้แก่ กลุ่มของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923) กลุ่มแผ่นฟิล์ม ฟอยด์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) และกลุ่มของอื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) คิดเป็นร้อยละ 36.63 31.99 และ 9.87 ตามลำดับ ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด

การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีปริมาณการนำเข้าเท่ากับ 166,832.06 ตัน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนปริมาณการนำเข้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มแผ่นฟิล์ม ฟอยด์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) กลุ่มของอื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) กลุ่มของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923) และกลุ่มแผ่นฟิล์ม ฟอยด์ ที่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3921) คิดเป็นร้อยละ 24.44 17.68 17.44 และ 14.27 ตามลำดับ ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด

แนวโน้มไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อีกทั้งการท่องเที่ยวและการบริการที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างชัดเจน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ