อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2559 มีดัชนีผลผลิต เยื่อกระดาษ และกระดาษในภาพรวมเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากความต้องการภายในประเทศของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้นตามการบริโภคในประเทศที่ขยายตัว สำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษ และหนังสือและสิ่งพิมพ์ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกเยื่อกระดาษที่สำคัญ ได้แก่ ฝรั่งเศส ส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ มีมูลค่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา อาจเป็นผลจากการขยายกำลังการผลิตของโรงงานกระดาษต่างชาติในเวียดนามส่งผลให้คำสั่งซื้อมายังไทยลดลง ส่วนการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ มีมูลค่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการเลือกใช้สินค้าภายในประเทศมากขึ้น ด้านการนำเข้าสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการนำเข้าธนบัตร (ที่ยังไม่ใช้เป็นเงินตรา) และหนังสือเรียน ตำราเรียน ส่วนสิ่งพิมพ์ประเภทอื่น เช่น โบรชัว ภาพถ่าย อยู่ในภาวะทรงตัว
ไตรมาส 1 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.84 2.95 25.38 และ 2.83 (ตารางที่ 1) โดยเป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง ซึ่งมีการบริโภคขยายตัวในช่วงไตรมาส 1 ปี 2559 สำหรับกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 5.19 เนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังเพียงพอต่อความต้องการ
เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.86 8.24 และ 2.62 ตามลำดับ เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนกระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก ลดลง ร้อยละ 3.40 และ 3.84 ตามลำดับ เป็นผลมาจากคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า เช่น เวียดนาม ลดลง
ไตรมาส 1 ปี 2559 ไม่มีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษที่ขออนุญาตประกอบกิจการ ขยาย และยกเลิกกิจการ สำหรับโรงงานผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษ มีการจดทะเบียนประกอบกิจการ จำนวน 7 แห่ง (โรงงานขนาดเล็ก) ขยายกิจการ 1 แห่ง (โรงงานขนาดกลาง) และยกเลิกกิจการ 8 แห่ง (โรงงานขนาดเล็ก) ในส่วนโรงงานประเภทโรงพิมพ์ มีการขออนุญาตประกอบกิจการ จำนวน 10 แห่ง (โดยแบ่งเป็นโรงงานขนาดเล็ก 1 แห่ง ขนาดกลาง 2 แห่ง และขนาดใหญ่ 7 แห่ง) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการขยายตัวเพื่อรองรับการพิมพ์ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต
การตลาดและการจำหน่าย
การค้าระหว่างประเทศ
1.เยื่อกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 48.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.69 และ 15.85 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ (ตารางที่ 2) จากการส่งออกไปยังโรงงานผลิตกระดาษรายใหญ่ของไทยในฝรั่งเศส โดยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 7.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่ขยายตัวสูงสุด โดยเยื่อไม้เคมีที่เป็นเยื่อโซดาหรือเยื่อซัลเฟต มีการส่งออกมากที่สุด
2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 379.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า ลดลง ร้อยละ 5.89 และ 3.12 ตามลำดับ จากการส่งออกกระดาษคราฟท์ กระดาษแข็ง และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ลดลง โดยตลาดส่งออกสำคัญ โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม มีมูลค่าการส่งออกลดลงประมาณ 3.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการขยายกำลังการผลิตของโรงงานกระดาษต่างชาติในเวียดนามส่งผลให้คำสั่งซื้อมายังไทยลดลง
3.หนังสือและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 17.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.48 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฮ่องกง โดยสิ่งพิมพ์ที่มีการส่งออกขยายตัว ได้แก่ สิ่งพิมพ์ประเภทโฆษณาทางการค้า แคตตาล๊อก และรูปลอก เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงการส่งออกสติกเกอร์รอยสักไปยังจีน ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นตั้งแต่ช่วงต้นปี หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 15.66 จากการส่งออกสิ่งพิมพ์ประเภทรูปภาพ ภาพดีไซน์ ภาพถ่าย และหนังสือ วารสารและนิตยสาร ไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น ลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว
1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่าการนำเข้า 165.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา (ตารางที่ 3) พบว่า ลดลง ร้อยละ 3.39 และ 8.94 ตามลำดับ เนื่องจากการผลิตภายในประเทศมีความหลากหลาย และเพียงพอต่อความต้องการ
2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่าการนำเข้า 351.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 8.52 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้ากระดาษแข็งลดลง เนื่องจากมีการใช้กระดาษในประเทศมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่ผันผวนเป็นปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าลดลง หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.56 จากการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียน เนื่องจากความต้องการเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนของนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในเดือนพฤษภาคม
3.สิ่งพิมพ์ ไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่าการนำเข้า 78.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.70 และ 49.54 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าธนบัตร (ที่ยังไม่ใช้เป็นเงินตรา) และหนังสือเรียน ตำราเรียน ส่วนสิ่งพิมพ์ประเภทอื่น เช่น โบรชัว ภาพถ่าย อยู่ในภาวะทรงตัว
นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ซึ่งจะส่งผลให้รูปแบบการติดต่อสื่อสาร การผลิต การดำเนินธุรกิจ และการอุปโภคบริโภค ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมไปสู่การทำกิจกรรมผ่านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร โดยรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลอย่างครบวงจร และปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในด้านต่าง ๆ จากการแข่งขันเชิงราคา ไปสู่การแข่งขันเชิงการสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ (Service Innovation) ที่ผู้บริโภคพอใจสูงสุด ดังนั้น ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์จำเป็นต้องปรับตัวไปสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์สร้างสรรค์ที่ผสมผสานสิ่งพิมพ์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าด้วยกัน
มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs และมาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนขยายตัวตามไปด้วย
กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อร้องเรียนของสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย ที่ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีขาออกไม้ยูคาลิปตัสจาก ร้อยละ 0 เป็นเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบ ภายหลังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไม้ยูคาลิปตัส ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ เนื่องจากมีกลุ่มเอกชนทำการ รับซื้อไม้ยูคาลิปตัสจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าจำหน่ายให้โรงงานผลิตเยื่อกระดาษในประเทศ เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น
สรุปและแนวโน้ม
ไตรมาส 1 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้นตามการบริโภคที่ขยายตัว สำหรับกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง เนื่องจากสินค้าคงคลังเพียงพอต่อความต้องการ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาบรรจุภัณฑ์กระดาษ ส่วนกระดาษแข็ง และกระดาษลูกฟูก ลดลง ร้อยละ เป็นผลมาจากคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลง
การส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า เยื่อกระดาษ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกเยื่อกระดาษไปยังโรงงานผลิตกระดาษรายใหญ่ของไทยในฝรั่งเศส ส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ มีมูลค่าการส่งออกลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการขยายกำลังการผลิตของโรงงานกระดาษต่างชาติในเวียดนามส่งผลให้คำสั่งซื้อมายังไทยลดลง สำหรับหนังสือและสิ่งพิมพ์ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า เพิ่มขึ้นจากการส่งออกสิ่งพิมพ์ประเภทโฆษณาทางการค้า แคตตาล๊อก และรูปลอก เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงการส่งออกสติกเกอร์รอยสักไปยังจีน ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า ลดลง จากการส่งออกรูปภาพ ภาพดีไซน์ ภาพถ่าย และหนังสือ วารสารและนิตยสาร ไปยังตลาด ญี่ปุ่น ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว
การนำเข้า เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ลดลงเนื่องจากการผลิตภายในประเทศมีความหลากหลาย และเพียงพอต่อความต้องการ ส่วนสิ่งพิมพ์ พบว่า เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา จากการนำเข้าธนบัตร (ที่ยังไม่ใช้เป็นเงินตรา) และหนังสือเรียน ตำราเรียน สำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา จากการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียน เนื่องจากความต้องการเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนของนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในเดือนพฤษภาคม
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2559 คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษจะมีทิศทางที่ดีขึ้น จากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัว
การส่งออกเยื่อกระดาษ และหนังสือและสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะขยายตัวจากการส่งออกไปยังโรงงานกระดาษของผู้ประกอบการไทยในฝรั่งเศส สำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะชะลอตัวจากปัจจัยด้านราคากระดาษในตลาดยุโรปลดลง ทำให้คำสั่งซื้อจากคู่ค้าในภูมิภาคยุโรปลดลง
การนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ คาดว่า จะขยายตัวจากการนำเข้าเยื่อกระดาษใยยาวซึ่งมีราคาลดลงเข้ามาสต็อกไว้ ส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะลดลงจากการผลิตในประเทศที่เพียงพอต่อความต้องการ
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--