สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงทั้งกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ยกเว้นเพียงผลิตภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ยังขยายตัวได้ทั้งภาคการผลิต การจำหน่ายในประเทศ รวมถึงการส่งออก ส่วนผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่น ๆ ยังมีปัญหาจากการใช้จ่ายลดลงสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย ผู้ประกอบการหลายรายที่ทยอยปิดตัวลงและยกเลิกกิจการ เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดการ และการแข่งขันจากต่างประเทศที่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลายประเทศ เริ่มหันมาแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม
กลุ่มสิ่งทอ ไตรมาส 1 ปี 2559 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.10 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 2.78 ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อตอบสนองผู้ผลิตในประเทศ สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.50 และ 4.93 ตามลำดับ ในส่วนการผลิตเส้นด้ายดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง ร้อยละ 6.91 และ 3.28 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ ไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ในขณะที่ดัชนีการส่งสินค้าหดตัวเล็กน้อย ร้อยละ 0.06 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.28 ส่วนใหญ่ขยายตัวจากการจำหน่ายในประเทศ สำหรับการทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) มีการผลิตลดลง ร้อยละ 10.90 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.82 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ตามความต้องการที่ขยายตัวเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องและตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย ในส่วนการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.91 และ 3.83 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ จากการจำหน่ายในประเทศ (ตารางที่ 1 และ 2)
กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1 ปี 2559 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าถัก) ลดลง ร้อยละ 6.14 ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลง ร้อยละ 7.89 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบไตรมาสที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.38 สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.71 เป็นผลจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายชั้นนอกทั้งบุรุษและสตรี เสื้อกันหนาว มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่เย็นลงช่วงปลายปีต่อเนื่องต้นปีที่ผ่านมา กิจกรรม Bike for Dad และการส่งเสริมยอดขายที่มีการกระตุ้นตลาดของ แบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ ประกอบกับการส่งเสริมให้ไทยเป็น Sport hub เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กลางด้านกีฬาในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในช่วงภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกที่ชะลอตัว ในส่วนการผลิตเครื่องแต่งกาย ยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าทอ) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง ร้อยละ 25.41 และ 3.04 เมื่อเปรียบ เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของตลาดส่งออกหลัก สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลง ร้อยละ 1.80 แต่หากเปรียบเทียบไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.21 ในผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายอื่น ๆ ของบุรุษและเด็กชาย จากการจำหน่ายในประเทศ (ตารางที่ 1 และ 2)
หากพิจารณาข้อมูลโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การประกอบกิจการไตรมาส 1 ปี 2559 พบว่า มีโรงงานประกอบกิจการใหม่ จำนวน 15 โรงงาน กว่าร้อยละ 53.33 เป็นโรงงานประกอบกิจการสิ่งทอ มีเงินลงทุนรวม 588.27 ล้านบาท และจ้างแรงงานรวม 802 คน นอกจากนี้มีโรงงานขอขยายกิจการ จำนวน 3 โรงงาน เป็นโรงงานประกอบกิจการการทอหรือการเตรียมเส้นด้ายยืนสำหรับการทอ จำนวน 2 โรงงาน และกิจการฟอกย้อมสี หรือแต่งสำเร็จด้ายหรือสิ่งทอ จำนวน 1 โรงงาน มีเงินทุนรวม 266.78 ล้านบาท สำหรับโรงงานที่ขอยกเลิกกิจการ จำนวน 58 โรงงาน เป็นโรงงานประกอบกิจการเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวน 36 โรงงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 62.07 ของโรงงานที่ขอยกเลิกกิจการ
การตลาด
การค้าระหว่างประเทศ
ไตรมาส 1 ปี 2559 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 1,586.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.64 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดหลัก ได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป แต่เพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่น และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การส่งออกลดลงในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่
1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 980.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.19 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าปักและผ้าลูกไม้ ตาข่ายจับปลา และผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อ และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 3.63 โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 61.79 ของการส่งออก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้
1) ผ้าผืนและด้าย ไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 494.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 10.59 และ 4.74 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเวียดนามและจีน ลดการนำเข้า เนื่องจากเวียดนามมีการพัฒนาการผลิตในส่วนอุตสาหกรรมกลางน้ำ เช่น ปั่นด้าย เพิ่มขึ้น จากการเข้าไปลงทุนของจีน และไต้หวัน โดยในส่วนของ ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออก 316.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ มีมูลค่าการส่งออก 178.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าการส่งออกผ้าผืนและด้าย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 50.47 ของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสิ่งทอ โดยมีประเทศบังคลาเทศ เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น เมียนมาร์ และบังคลาเทศ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ
2) เคหะสิ่งทอ ไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 66.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.93 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 1.69 เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ลดการนำเข้าจากไทย ร้อยละ 25.61และ 19.98 ตามลำดับ ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกเคหะสิ่งทอปรับลดลง โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย
3) เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 171.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.24 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.82 ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศเป็นหลัก ทำให้สัดส่วนการส่งออกลดลง ในตลาดอินโดนีเซีย อินเดีย บังคลาเทศ และสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 31.78 29.59 15.95 และ 14.76 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ตุรกี เวียดนาม และปากีสถาน
4) สิ่งทออื่นๆ ไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 157.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.70 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 7.94 โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม และอินเดีย
2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 606.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 7.32 และ 7.26 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.21 ของมูลค่าการส่งออก สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ
1) เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 529.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.12 และ 6.08 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ลดลง ร้อยละ 9.11 1.99 5.28 และ 8.41 ตามลำดับ โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย ใยประดิษฐ์ ไหม และเสื้อผ้าจากวัตถุทออื่นๆ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
2) เครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบ มีมูลค่าการส่งออก 53.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 11.81 และ 10.05 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตาม ลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร แคนาดา และไต้หวัน
ไตรมาส 1 ปี 2559 มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่า 1,088.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.94 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.24 (ตารางที่ 4) โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 81 จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 885.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.47 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.37 เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเพิ่มขึ้น เส้นใยที่ใช้ในการทอ ด้ายทอผ้าและด้ายเส้นเล็ก โดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่ม สิ่งทอคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 81.40 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้
1) เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่าการนำเข้า 175.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 8.92 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.53 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯ ที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล จีน ออสเตรเลีย และอินเดีย
2) ด้ายทอผ้าและเส้นด้าย มีมูลค่าการนำเข้า 169.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 12.12 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.62 เนื่องจากการผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อการบริโภค ประกอบกับราคาที่นำเข้าถูกกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม และอินเดีย
3) ผ้าผืน มีมูลค่าการนำเข้า 394.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 3.83 และ 4.63 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตภายในของอุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลงมาก และมีโรงงานทอเส้นด้ายและทอผ้า ปิดกิจการในไตรมาสนี้จำนวน 6 โรงงาน ในขณะเดียวกันมีโรงงานขอขยายกิจการจำนวน 7 โรงงาน ซึ่งอาจต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และเวียดนาม
4) ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่าการนำเข้า 100.73 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 5.48 และ 15.08 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้
2. กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 202.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.91 และ 5.25 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ซึ่งเป็นการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน บังคลาเทศ ตุรกี และกัมพูชา เพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 18.60 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ในผลิตภัณฑ์เชิ้ต/เบลาส์ กางเกง กระโปรงและเครื่องแต่งตัวทั้งบุรุษและสตรี และชุดนอนสตรีและเด็กหญิง
สหภาพยุโรปได้ออกระเบียบปรับปรุงรายการสินค้าอุตสาหกรรมที่ได้รับยกเว้นและลดหย่อนภาษี ซึ่งสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในสินค้าอุตสาหกรรมที่จะได้รับการยกเว้น โดยระยะเวลาในการได้รับยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าส่วนใหญ่กำหนดไว้ 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึง 31 ธันวาคม 2561 ซึ่งจะเป็นการยกเว้นภาษีฝ่ายเดียวเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเป็นรายการสินค้าที่มีการผลิตในสหภาพยุโรป แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมภายใน ดังนั้น การยกเว้นภาษีดังกล่าวจึงถือเป็นการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าวัตถุดิบที่ขาดแคลนในสหภาพยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ SMEs ของสหภาพยุโรป ให้มีศักยภาพในการแข่งขัน มีการจ้างงาน และปรับโครงสร้างการผลิตให้ทันสมัย
สรุปและแนวโน้ม
กลุ่มสิ่งทอ การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาส 1 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.10 สอดคล้องกับการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.50 ในส่วนการผลิตเส้นด้าย ลดลงทั้งภาคการผลิตและการจำหน่าย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรม ต่อเนื่องภายในหดตัว สำหรับผ้าผืน การผลิตลดลง ร้อยละ 10.90 แต่การจำหน่ายเริ่มขยายตัวได้ดี
กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตและการจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถัก ลดลง เมื่อเปรียบ เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนการจำหน่ายเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น กิจกรรม Bike for Dad การส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านกีฬาในภูมิภาคอาเซียน และการส่งเสริมยอดขายที่มีการกระตุ้นตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าทอ การผลิตและการจำหน่ายลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่การจำหน่ายยังขยายตัวได้เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสที่ผ่านมา สำหรับการส่งออกลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในตลาดคู่ค้าหลัก
ไตรมาส 2 ปี 2559 ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความ ผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้ง การระมัดระวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศ ต้นทุนประกอบการปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศลดลงจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อยอดคำสั่งซื้อสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ทั้งภาคการผลิตและการจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตเส้นใย และได้เปรียบคู่แข่งในอาเซียนในอุตสาหกรรมต้นน้ำ สำหรับเครื่องนุ่งห่มจะนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่นต่าง ๆ ตามความต้องการสินค้าแฟชั่นของผู้บริโภคในประเทศ
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--