สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2559 (มกราคม - มีนาคม 2559)(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 23, 2016 14:01 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมการผลิตยาในภาพรวมหดตัวลงเนื่องจากตลาดยาในประเทศยังไม่ขยายตัว โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงร้านขายยายังมีความระมัดระวังในการสั่งซื้อเพื่อไม่ให้มียาคงเหลือในสต็อกมากเกินไป สำหรับการส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน 8 ประเทศ (ไม่รวมบรูไน) มีมูลค่าการจำหน่ายรวมทั้งสิ้น61.98ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 74.50 ของมูลค่าการส่งออกยาป้องกันและรักษาโรคทั้งหมดของไทยในไตรมาสนี้

การผลิต

การผลิตยาในประเทศในไตรมาสที่ 1ปี 2559 มีปริมาณรวม8,720.04ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขยายตัวร้อยละ 1.47ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หดตัวลงร้อยละ9.90 ในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตยายังอยู่ในภาวะชะลอตัวโดยมีปริมาณการผลิตยาเม็ด ยาน้ำ ยาฉีด และยาผง ลดลง ซึ่งการผลิตยาผงลดลงเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่บางรายหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงระบบการผลิต ในส่วนของการผลิตยาน้ำลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการถูกจำกัดปริมาณการจำหน่ายยาบางชนิดจึงต้องลดปริมาณการผลิตยาดังกล่าวลงสำหรับการผลิตยาเม็ดและยาฉีดลดลงเนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่บางรายย้ายสถานที่ตั้งโรงงานจึงมีการหยุดเดินเครื่องจักรในไตรมาสนี้

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 1ปี 2559มีปริมาณ 9,787.11 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.26 และ 11.56ตามลำดับ ในภาพรวมการจำหน่ายยาในประเทศปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 โดยเฉพาะในส่วนของยาน้ำ เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่บางรายมียาน้ำชนิดใหม่ออกสู่ตลาดเพื่อทดแทนยาชนิดเดิมที่ถูกจำกัดปริมาณการจำหน่าย ซึ่งได้รับผลการตอบรับที่ดีอย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังกังวลกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจในประเทศจึงยังไม่วางแผนเพิ่มปริมาณการผลิต เนื่องจากเกรงว่าตลาดอาจยังไม่ขยายตัวในไตรมาสต่อไป

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสที่ 1ปี 2559มีมูลค่า83.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.03และ15.39ตามลำดับ เนื่องจากตลาดส่งออกในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนามมีการขยายตัวที่ดี และผู้ประกอบการไทยหันมาให้ความสนใจในตลาดต่างประเทศมากขึ้นโดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ยังคงเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนทั้งสิ้นซึ่งได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ตามลำดับ โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม53.85ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ65.00ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีมูลค่า 374.02ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 4.75 ในขณะที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ14.90เนื่องจากตลาดยาในประเทศหดตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงปีที่ผ่านมาโดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอินเดีย ตามลำดับ มีมูลค่าการนำเข้ารวม 166.08ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 44.40 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สำหรับการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคจากอินเดียในไตรมาสนี้มีมูลค่าทั้งสิ้น24.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.44ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมดโดยยาบางชนิดเป็นยาที่ไทยยังไม่สามารถผลิตได้ ส่วนยาอีกบางชนิดถึงจะสามารถผลิตได้ในประเทศแต่ไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าทั้งในส่วนของค่าแรงและวัตถุดิบ (สารออกฤทธิ์สำคัญในยา ซึ่งไทยไม่มีการผลิตในประเทศเนื่องจากไม่คุ้มทุน) ทำให้ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ภาครัฐจึงควรมีมาตรการควบคุมการนำเข้ายาราคาถูกจากอินเดียเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการไทยเสียส่วนแบ่งตลาดในประเทศให้กับยาจากอินเดียมากกว่าที่เป็นอยู่ และควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยที่สามารถผลิตยาได้ตามมาตรฐาน PIC/S สามารถจำหน่ายยาให้กับโรงพยาบาลของรัฐซึ่งเป็นผู้ซื้อยารายใหญ่ที่สุดในประเทศได้มากขึ้นด้วย

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตยารักษาและป้องกันโรคในไตรมาสที่ 1 ปี 2559ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีปริมาณการผลิตยาเม็ด ยาน้ำ และยาผง ลดลงในส่วนของปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องมาหลายไตรมาส โดยเฉพาะในส่วนของยาน้ำที่เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ในภาพรวมอุตสาหกรรมยาในไตรมาสนี้หดตัวลง เนื่องจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศและกฎระเบียบข้อบังคับบางประการของภาครัฐ

สำหรับมูลค่าการส่งออกยาในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากตลาดยาในประเทศหดตัวทำให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมหันมาให้ความสำคัญกับการส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนซึ่งมีแนวโน้มเติบโตที่ดี ในส่วนของมูลค่าการนำเข้ายาในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ตลาดยาในประเทศหดตัวตาม

แนวโน้ม

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายยารักษาหรือป้องกันโรคในประเทศในไตรมาสที่ 2ปี 2559มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวตามโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท การเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างต่างๆ เพื่อกระจายเม็ดเงินสู่ภาคธุรกิจ รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์รวมการแพทย์ครบวงจรของอาเซียน

สำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ยาของไทยได้รับการยอมรับในตลาดหลายประเทศทั่วโลก ประกอบกับขณะนี้ผู้ประกอบการไทยหันมาสนใจที่จะขยายตลาดไปยังต่างประเทศมากขึ้นหลังจากที่ประสบปัญหาตลาดในประเทศหดตัวต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายไตรมาสติดต่อกัน

ในส่วนของการดำเนินการเรื่องมาตรฐาน PIC/S ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คาดว่าไทยจะได้รับการประกาศเป็นสมาชิกถาวรของPIC/Sอย่างช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 1 มกราคม 2560 ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถขยายการส่งออกไปยังต่างประเทศที่เป็นสมาชิก PIC/S ด้วยกันได้มากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ