ภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 136.50 ปัจจัยหลักเป็นผลจากการเข้าสู่ฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล และหากไม่รวมการผลิตน้ำตาลปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 7.29 และหากเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 5.95 จากปริมาณน้ำตาลที่ลดลง เนื่องจากภัยแล้งส่งผลให้วัตถุดิบลดลง แต่หากไม่รวมการผลิตน้ำตาลปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.41 เป็นผลจากการผลิตเพื่อรองรับผลผลิตออกสู่ตลาดของสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น สับปะรด มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มคำสั่งซื้อของสินค้าน้ำตาล และผักผลไม้จากประเทศผู้นำเข้า จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศยังคงชะลอตัว จึงต้องเฝ้าระวังปัจจัยลบ จากการพิจารณาการประกาศปรับระดับการค้าจากปัญหาในเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันไทยได้รับใบเตือนและต้องติดตามการประเมินการดำเนินการ ดังจะประกาศผลในเดือนพฤษภาคมนี้ จะเป็นตัวแปรในการพิจารณาการลดระดับทางการค้า รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การแข่งขันด้านราคาในตลาดโลก ผนวกกับระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน จะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ
ในช่วงไตรมาสที่1 ปี 2559 ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารคาดว่า จะปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.95 เนื่องจากการผลิตลดลงในกลุ่มสินค้าสำคัญ คือ ประมง และน้ำตาลทราย (ตารางที่ 1) แต่หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่าการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากร้อยละ 136.50 จากสินค้ากลุ่มน้ำตาล ธัญพืชและแป้ง ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์นม และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สำหรับภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญสรุปได้ดังนี้
กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.45 เนื่องจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศและการเปิดตลาดส่งออกเนื้อไก่ และระดับราคาที่เพิ่มตามไปด้วย หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 4.74 เนื่องจากผู้ผลิตปรับลดกำลังการผลิตจากอุปทานส่วนเกิน (Over Supply) ในช่วงที่ผ่านมา
กลุ่มแปรรูปประมง ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 12.14 และ 3.56 ตามลำดับ ผลจากการขาดแคลนวัตถุดิบเนื่องจากการยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และ การปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) จากสหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองแก่ไทย ประกอบกับตลาดส่งออกชะลอคำสั่งซื้อ
กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 27.26 และ 17.86 ตามลำดับ เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น รวมถึงสับปะรดที่อยู่ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด จึงเพิ่มปริมาณมากขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ผนวกกับการเพิ่มคำสั่งซื้อสับปะรดกระป๋อง จากประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ น้ำผลไม้ มีการเพิ่มคำสั่งจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปด้วย
กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ปริมาณการผลิตปรับตัว เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 9.41 และ 44.56 เนื่องจากการผลิตมันสำปะหลังมากขึ้นตามนโยบายการเพิ่มพื้นที่การปลูกแทนการปลูกข้าวนาปรังของภาครัฐ และเป็นการผลิตเพื่อรองรับฤดูกาลเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง เนื่องจากเป็นช่วงที่ มันสำปะหลังออกสู่ตลาดมากที่สุด ส่งผลให้การผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมามาก
กลุ่มน้ำตาล ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.34 เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง (เอลนิโญ) ทำให้ผลผลิตอ้อยและค่าความหวานลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากร้อยละ 381.54 เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อรองรับฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตอ้อยออกสู่ตลาดมากที่สุด
กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ปริมาณการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 17.81 และ 1.86 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตน้ำมันปาล์ม จากระดับราคาที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มตลาดล่วงหน้าของมาเลเซีย และการผลิตน้ำมันถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์นมการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 8.29 และ 4.52 ตามลำดับ ตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การผลิตอาหารสัตว์ช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันร้อยละ 3.31 เพื่อรองรับการเพาะเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้น (ไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร โคเนื้อ และกุ้ง) แต่หดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 0.15 จาก การปรับลดการเพราะเลี้ยงไก่เนื้อลง เพื่อลดอุปทานส่วนเกิน
หากพิจารณาข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร การประกอบกิจการในช่วง ไตรมาส 1 ปี 2559 พบว่ามีโรงงานปิดกิจการจำนวน 20 โรง แบ่งเป็นประเภท โรงสีข้าว กิจการผลิตมันเส้น กิจการผลิตเครื่องดื่มจากผักผลไม้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีการประกอบกิจการใหม่ จำนวน 111 โรง แบ่งเป็นประเภท โรงสีข้าว กิจการอบผลิตผลทางการเกษตร กิจการผลิตมันเส้น กิจการผลิตแป้งมันสำปะหลัง กิจการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ กิจการอาหารแปรรูป กิจการผลิตเครื่องดื่มน้ำผลไม้ เป็นต้น โดยปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจำนวนทั้งสิ้น 8,520 โรง
การตลาดและการจำหน่าย
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาล) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.64 (ตารางที่ 2) จากการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าสำคัญ เช่น ผักผลไม้ น้ำมันพืช ธัญพืชและแป้ง บะหมี่ กึ่งสำเร็จรูป ปศุสัตว์ อาหารสัตว์ และประมง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภาครัฐ รวมถึงราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 1.82 เป็นผลจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมที่ปรับลดลงจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นส่วนการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.11 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นมากร้อยละ 85.12 จากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น
การค้าระหว่างประเทศ
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 6,495.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปรับตัวเพิ่มจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยร้อยละ 2.46 (ตารางที่ 3) เนื่องจากการเพิ่มคำสั่งซื้อและราคาจากประเทศผู้นำเข้าในสินค้ากลุ่มผักผลไม้ แต่เมื่อเปรียบเทียบ
กับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 4.49 จากการส่งออกที่ลดลงในกลุ่มสินค้าประมง ผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืช อาหารอื่นๆ และปศุสัตว์โดยการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ สรุปได้ ดังนี้
กลุ่มประมง ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,226.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 7.50 และ 16.31 ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงในเกือบทุกกลุ่มสินค้า คือ อาหารทะเลกระป๋อง (ปลาทูน่ากระป๋องและปลาซาร์ดีนกระป๋อง) และอาหารทะเลแปรรูป (กุ้ง ปลาหมึก ปู และปลาแปรรูป) เนื่องจากตลาดส่งออกชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และผลกระทบจากการ IUU Fishing ที่กระทบตลาดสหภาพยุโรปอย่างมาก
กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกรวม 737.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 0.23 และ 3.17 ตามลำดับ แม้ว่าผลิตภัณฑ์ไก่ (เนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและเนื้อไก่ปรุงแต่ง) มีการขยายตัวทั้งในญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและอาเซียน แต่ด้วยการชะลอคำสั่งซื้อและการปรับลดราคาสินค้าปศุสัตว์กลุ่มไข่ไก่สด รวมถึงเนื้อและส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ที่บริโภคได้ ทำให้การส่งออกกลุ่ม ปศุสัตว์ปรับตัวลดลง
กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกรวม 926.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 14.29 และ 4.93 จากการส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มผลไม้กระป๋องและแปรรูป เช่น สับปะรดกระป๋อง และน้ำผลไม้ไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และได้รับปัจจัยบวกจากการลดพื้นที่การปลูกสับประรดกระป๋อง ของประเทศคู่แข่งอย่าง อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ทำให้การส่งออกรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น
กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกรวม 2,471.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 0.63 และ 5.23 เนื่องจากราคาและคำสั่งซื้อมันเส้นลดลง ซึ่งจีนเป็นประเทศคู่ค้าหลักชะลอการซื้อมันเส้น แต่กลับนำเข้าจากกัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ เนื่องจากราคาที่ต่ำกว่า
กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกรวม 713.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 29.30 และ 13.23 ตามลำดับ เนื่องจากการเพิ่มคำสั่งซื้อของอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดหลัก เพิ่มการนำเข้าจากไทยทดแทนการนำเข้าจากบราซิล จึงส่งผลให้การส่งออกน้ำตาลปรับตัวเพิ่มขึ้น
กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกรวม 421.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 1.10 และ 7.19 เป็นผลจากการส่งออกในกลุ่มสินค้าซุปและอาหารปรุงแต่ง โกโก้และของปรุงแต่ง และไอศกรีม
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีมูลค่าการนำเข้ารวม 3,386.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 11.81 และ 2.36 ตามลำดับ (ตารางที่ 4) โดยการนำเข้าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น คือ เมล็ดพืชน้ำมัน เนื่องจากความต้องการสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 1.63 เทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่สินค้าวัตุดิบอื่น มีการนำเข้าลดลง เช่น กากพืชน้ำมันเปลี่ยนไปเป็นนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมันแทน และปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง จากต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่วนการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อบริโภค เช่น นมและผลิตภัณฑ์ มีการนำเข้าลดลงมาก เป็นผลจากระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง
สรุปและแนวโน้ม
ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาร้อยละ 139.5 ปัจจัยหลักเป็นผลจากการเข้าสู่ฤดูหีบอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล และหากไม่รวมการผลิตน้ำตาลปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาเพียงร้อยละ 7.29 และหากเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 5.95 จากปริมาณน้ำตาลที่ลดลง เนื่องจากภัยแล้งส่งผลให้วัตถุดิบลดลง แต่หากไม่รวมการผลิตน้ำตาลปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.41 เป็นผลจากการผลิตเพื่อรองรับผลผลิตออกสู่ตลาดของสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น สับปะรด มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มคำสั่งซื้อของสินค้าผักผลไม้ จากประเทศผู้นำเข้า ส่วนมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.46 จากการประเทศคู่ค้าเพิ่มคำสั่งซื้อน้ำตาล และผักและผลไม้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาปรับตัวลดลงร้อยละ 4.49 เนื่องจากการส่งออกในกลุ่มประมง อาหารอื่นๆ ผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืช และปศุสัตว์ลดลง
การผลิตและการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารไตรมาส 2 ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.3 และ 0.5 ตามลำดับ แม้จะมีปัจจัยลบจากการพิจารณาการประกาศปรับระดับการค้าจากปัญหาในเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันไทยได้รับใบเตือนและต้องติดตามการประเมินการดำเนินการ ดังจะประกาศ ผลในเดือนพฤษภาคมนี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทย รวมทั้งอุปสงค์ ที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนและรัสเซีย รวมถึงระดับราคาส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ปรับตัวลดลงตามระดับราคาน้ำมัน แต่ด้วยปัจจัยบวกจากกลุ่มสินค้าหลัก เช่น กลุ่มปศุสัตว์ (เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น และไก่แปรรูป) ที่ประเทศคู่แข่งอย่างบราซิลและจีนจะลดการผลิตลง ส่งผลให้แนวโน้มราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศคู่แข่ง หลายประเทศยังคงประสบปัญหาไข้หวัดนก รวมทั้งสินค้าประมง เช่น กุ้ง คาดการณ์ผลผลิตกุ้งทั่วโลกจะมีปริมาณลดลง โดยเฉพาะคู่แข่งหลัก เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย จึงเป็นโอกาสดีของไทย เนื่องจากสถานการณ์การผลิตกุ้งไทยฟื้นตัวจากการปัญหาโรคกุ้งตายด่วน ประกอบกับสินค้าน้ำตาล ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง ทำให้ค่าความหวานของอ้อยลดลง ส่งผลให้ผลผลิตลดลงตามไปด้วย และทำให้ราคามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน เช่น มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน SMEs และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหารในประเทศ จึงส่งผลให้การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารเติบโตขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--