สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2559 (เมษายน - มิถุนายน 2559)(เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2016 14:47 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาส 2 ปี 2559 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เศรษฐกิจโลกยังคงมีความผันผวนเนื่องจากการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ 42.9 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 อยู่ที่ 61.4 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มราคาลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนกันยายน (ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2559) อยู่ที่ 41.8 USD/Barrel เนื่องจากสต็อกของประเทศผู้ใช้น้ำมันโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีนยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งปริมาณการผลิตของแคนาดา ไนจีเรียและลิเบีย ที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ราคาน้ำมันยังคงทรงตัว

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ปี 2559 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวและการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว การจ้างงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 การบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 การลงทุนภาคเอกชน

ไตรมาส 2 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 3.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 94.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 96.2

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 104.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 103.7

การส่งออกและนำเข้า การส่งออก ไตรมาส 2 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 6.0 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 5.6 การนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 4.9 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 4.4

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ ร้อยละ -0.04 อัตราการว่างงานไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.3 อัตราการว่างงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.50 ทั้งนี้ Fed ยังคงดูแลอัตราเงินเฟ้อเพื่อให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2

เศรษฐกิจจีน

เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ปี 2559 ยังคงขยายตัว เนื่องจากการขยายตัวของมูลค่าการค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่ยังคงขยายตัว

ภาวะเศรษฐกิจของจีน ในไตรมาส 2 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 มูลค่าการค้าปลีกในไตรมาส 2 ปี 2559 เท่ากับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 10.2 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาส 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 9.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 101.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 107.7

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2559 ขยายตัวเท่ากับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.1

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 4.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 2 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 2.2 การนำเข้า ไตรมาส 2 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 6.7 หดตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 13.6

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.4 อัตราการว่างงานไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.0

สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China) ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี อยู่ที่ร้อยละ 4.35 ธนาคารกลางจีนยังคงดำเนินนโยบายที่มีความยืดหยุ่นเพื่อรักษาสภาพคล่อง เช่น โครงการเงินกู้ระยะสั้น (SLF) และโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF)

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 1 ปี 255 9 ขยายตัวเล็กน้อย อันเป็นผลมาจากการลงทุนในภาคก่อสร้าง และในไตรมาส 2 ปี 2559 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวเล็กน้อย

ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในไตรมาส 1 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 0.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 1.0 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 0.4 หดตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 4.1 การลงทุนในภาคก่อสร้างไตรมาส 1 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 15.4 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 41.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 41.6

การผลิตภาคอุตสาหกรรมดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 96.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.0

การส่งออกและนำเข้า การส่งออก ไตรมาส 2 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 9.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 การนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 18.8 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 5.3

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2559 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.4 ลดลงเมื่อเทียบกับ ไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.4 อัตราการว่างงานไตรมาส 2 ปี 2559 เท่ากับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.2

สถานการณ์ด้านการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ -0.1 และใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาด และธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นเข้าซื้อกองทุนรวม ETF ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ปีละประมาณ 6 ล้านล้านเยน

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป

เศรษฐกิจสหภาพยุโรปไตรมาส 1 ปี 2559 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการบริโภคและการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงและไตรมาส 2 ปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ในไตรมาส 1 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 การบริโภคไตรมาส 1 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 1.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.7

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 107.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 105.5 สำหรับดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายนและพฤษภาคม อยู่ที่ระดับ 108.3 และ 107.2 ตามลำดับ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 4.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 สำหรับการส่งออกในเดือนเมษายนและพฤษภาคม หดตัวร้อยละ5.7 และหดตัวร้อยละ 2.2 ตามลำดับ การนำเข้าไตรมาส 1 ปี 2559 หดตัวร้อยละ 4.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 สำหรับการนำเข้าในเดือนเมษายนและพฤษภาคม หดตัวร้อยละ 4.0 และ หดตัวร้อยละ 2.7 ตามลำดับ

อัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ -0.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.2 อัตราการว่างงานในไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 8.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9.5 อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง

สถานการณ์ด้านการเงิน มติที่ประชุมของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.05 และยังคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ประมาณ 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน

เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญในเอเชีย

เศรษฐกิจฮ่องกง

เศรษฐกิจฮ่องกง ในไตรมาส 1 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 0.8 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากการบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวในอัตราชะลอลง ขณะที่ภาคการลงทุน การส่งออกสินค้าที่แท้จริง และภาคการท่องเที่ยวหดตัว

ภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกง ใน ไตรมาส 1 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 0.8 ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากภาคการส่งออกสินค้าที่แท้จริงลดลงตามอุปสงค์จากตลาดโลก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนรวมที่หดตัวตามการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ขณะที่การบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

การผลิตภาคอุตสาหกรรมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 86.6 หดตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 86.8

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่า 128,398 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.5 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 3.6 การส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นไตรมาสแรกหลังจากหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2558 จากการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของฮ่องกง (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.0 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของฮ่องกง) กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.6 หลังจากที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ยังคงหดตัวร้อยละ 5.3 และ 7.6 ตามลำดับ ด้านการนำเข้าไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่า 132,389 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 6.1 ภาพรวมการค้าฮ่องกงขาดดุลการค้า 3,991 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ฮ่องกงเป็นประเทศที่ขาดดุลการค้ามาโดยตลอด

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากราคาอาหาร และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ในไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.2 อัตราการว่างงานของฮ่องกงยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามความต้องการแรงงานในอนาคตมีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการแรงงานในภาคการท่องเที่ยว และภาคการค้า

เศรษฐกิจเกาหลีใต้

ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ในไตรมาส 2 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนในภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว

ภาวะเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในไตรมาส 2 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการลงทุนในภาคการก่อสร้างที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว

การผลิตภาคอุตสาหกรรมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 110.0 ขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 108.8 โดยดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่า 126,197 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.6 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งหดตัวร้อยละ 7.3 การส่งออกของเกาหลีใต้หดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2558 จากการส่งออกไปตลาดสำคัญอันดับหนึ่งอย่างจีน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.6 ของการส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้) หดตัวร้อยละ 12.4 ขณะที่การส่งออกไป สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 4.4 ด้านการนำเข้า ในไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่า 98,863 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 10.5 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 15.6 ภาพรวมการค้าเกาหลีใต้เกินดุลการค้า 27,334 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง อัตราเงินเฟ้อเกาหลีใต้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาลในไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.8

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 1.25 ภายหลังจากเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิมร้อยละ 1.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.25 เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย รวมถึงรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาและทางด้านการเงิน

เศรษฐกิจสิงคโปร์

เศรษฐกิจสิงคโปร์ ในไตรมาส 2 ปี 2559 ตัวเลข GDP คาดการณ์ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากภาคการผลิตที่กลับมาขยายตัวเป็นไตรมาสแรกหลังจากหดตัวต่อเนื่องนานหกไตรมาส อย่างไรก็ตามภาคการก่อสร้าง 8และภาคการบริการขยายตัวในอัตราชะลอลง

ภาวะเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในไตรมาส 2 ปี 2559 ตัวเลข GDP คาดการณ์ขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากภาคการผลิตที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.8 หลังจากหดตัวต่อเนื่องนานหกไตรมาส โดยการผลิตในกลุ่มไบโอเมดิคอล และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามภาคการก่อสร้าง และภาคการบริการมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง

การผลิตภาคอุตสาหกรรมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 102.9 ขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 101.8

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่า 75,115 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 14.4 หดตัวเร่งขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 13.0 โดยการส่งออกไปตลาดหลักหดตัวในหลายตลาด อาทิจีน ฮ่องกง มาเลเซีย และอินโดนีเซีย หดตัวร้อยละ 17.0 9.6 13.2 และ 17.8 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2559 หดตัวร้อยละ 8.2 และ 4.6 ตามลำดับ ด้านการนำเข้า ในไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่า 65,323 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 10.3 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 21.5 สำหรับการนำเข้าในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2559 หดตัวร้อยละ 12.1 และ 3.4 ตามลำดับ ภาพรวมการค้าในช่วงเมษายน และพฤษภาคม 2559 สิงคโปร์เกินดุลการค้า 8,712 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2559 ติดลบร้อยละ 0.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.4 ทั้งนี้สิงคโปร์เผชิญภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2557 โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2559 ติดลบร้อยละ 0.7 จากราคาเชื้อเพลิง ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย รวมถึงราคาค่าขนส่งที่ยังคงปรับตัวลดลง ด้านอัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.9

เศรษฐกิจอินโดนีเซีย

เศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ในไตรมาส 2 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.2 จากการบริโภคของภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ในไตรมาส 2 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.2 เร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 เศรษฐกิจอินโดนีเซียได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภายใน ประเทศทั้งการบริโภคของภาคเอกชนและการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

การผลิตภาคอุตสาหกรรมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 128.3 ขยายตัวร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 122.8 ทั้งนี้ดัชนีฯ ในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 130.4 และ 132.3 ตามลำดับ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่า 35,907 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.8 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 11.6 การส่งออกหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2557 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่า 33,971 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.7 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 20.3 ภาพรวมการค้าอินโดนีเซียเกินดุลการค้า 1,936 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.1 อัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2558 จากความต้องการสินค้าภายในประเทศยังมีจำกัด รวมถึงค่าเงินรูเปียมีทิศทางแข็งค่า ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 จากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 20-21 กรกฎาคม 2559 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 6.50 ภายหลังจากเมื่อวันที่ 15-16 มิถุนายน 2559 มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิมร้อยละ 6.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.50 เพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจมาเลเซีย

เศรษฐกิจมาเลเซีย ในไตรมาส 1 ปี 255 9 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุปสงค์ภายในประเทศ การใช้จ่ายของภาครัฐ และการบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น รวมทั้งดุลการค้าเกินดุล

ภาวะเศรษฐกิจของมาเลเซีย ในไตรมาส 1 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 4.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐ และการบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาคบริการหดตัว ถึงแม้ในส่วนของการส่งออกและนำเข้าจะหดตัวลงแต่มูลค่าการส่งออกยังคงมากกว่ามูลค่าการนำเข้าอยู่

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ

122.0 ขยายตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่อยู่ที่ระดับ 118.1 โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ในส่วนของการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน หดตัวร้อยละ 0.3 ทั้งนี้ดัชนีฯ ในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 121.4 และ 125.7 ตามลำดับ

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่า 44,214 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 12.6 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 11.2 จากตลาดส่งออกสำคัญที่มีการหดตัว ได้แก่ สิงค์โปร์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ไทย และฮ่องกง ที่หดตัวร้อยละ 11.2 2.2 31.4 12.2 8.4 และ 16.2 ตามลำดับ ส่วนตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้แก่ เยอรมันนี และเวียดนาม ขยายตัวร้อยละ 7.9 และ 8.7 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกในเดือนเมษายน 2559 หดตัวร้อยละ 5.3 ด้านการนำเข้าไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่า 38,458 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 สำหรับการนำเข้าเดือนเมษายน 2559 หดตัวร้อยละ 8.9 ภาพรวมการค้าในไตรมาส 1 ปี 2559 มาเลเซียเกินดุลการค้า 5,756 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาส 2 ปี 2559 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ระดับ 114.6 ขยายตัวร้อยละ 2.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2559 ที่อยู่ที่ระดับ 114.3 โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอลล์ ขยายตัวร้อยละ 4.1 ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ค่าไฟฟ้าและเชื้อเพลิง ขยายตัวร้อยละ 2.5 ค่าใช้จ่ายในสินค้าและบริการ ขยายตัวร้อยละ 2.4 ส่วนค่าใช้จ่ายด้านการคมนาคมขนส่งหดตัวร้อยละ 6.8

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ธนาคารกลางมาเลเซียมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.00 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นการปรับลดเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ตั้งแต่ปี 2552 ของธนาคารกลางมาเลเซีย เนื่องจากธนาคารกลางกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ปัญหาการส่งออกที่ซบเซา ผลกระทบจากการที่อังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit)

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ในไตรมาส 1 ปี 255 9 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.7เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 เป็นผลมาจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน การใช้จ่ายของภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัว

ภาวะเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ในไตรมาส 1 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 โดยการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 6.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 การใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัวร้อยละ 9.4 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 8.3 ในขณะที่ภาคเกษตรหดตัวร้อยละ 4.5

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 179.4 ขยายตัวร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบไตรมาส 1 ปี 2558 ที่อยู่ที่ระดับ 160.1 โดยดัชนีฯ ในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 176.5 และ 163.9 ตามลำดับ ขยายตัวร้อยละ 8.3 และ หดตัวร้อยละ 4.8 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกและนำเข้า การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่า 13,109 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 โดยการส่งออกไปตลาดสำคัญหดตัวได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และสิงคโปร์ ที่หดตัวร้อยละ 2.1 8.3 14.7 และ 2.0 ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดฮ่องกงขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 ด้านการนำเข้าในไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่า 18,597 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 โดยนำเข้าหลักจากประเทศจีน ญี่ปุ่น ไทย และเกาหลีใต้ ที่ขยายตัวร้อยละ 31.8 65.3 73.8 และ 21.7 ตามลำดับ ภาพรวมการค้าในไตรมาส 1 ปี 2559 ฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้า 5,488 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ในไตรมาส 2 ปี 2559 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ระดับ 143.4 ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2558 โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอลล์ ขยายตัวร้อยละ 2.3 ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวร้อยละ 2.3 ส่วนค่าใช้จ่ายภายในบ้าน เช่น ไฟฟ้าและประปา หดตัว ร้อยละ 1.0

สถานการณ์ด้านการเงิน ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทข้ามคืนไว้ที่ร้อยละ 4.0 โดยขณะนี้ธนาคารกลางฯคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 4.0 มาตั้งแต่ ต.ค. 2557

เศรษฐกิจอินเดีย

เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาส 1 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 7.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 เป็นผลมาจากนโยบายสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาล

ภาวะเศรษฐกิจของอินเดีย ในไตรมาส 1 ปี 2559 GDP ขยายตัวร้อยละ 7.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 เป็นผลมาจากนโยบายสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาล การใช้จ่ายของภาครัฐและภาคครัวเรือนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

การผลิตภาคอุตสาหกรรมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 189.8 ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบไตรมาส 1 ปี 2558 ที่อยู่ที่ระดับ 189.4 โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนภาคการผลิตอาหารและเครื่องดื่มลดลง

การส่งออกและนำเข้าการส่งออกไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่า 64,733 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบไตรมาส 1 ปี 2558 จากการส่งออกที่หดตัวในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาด สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง สหราชอาณาจักร จีน และสิงคโปร์ ที่หดตัวร้อยละ 3.5 2.2 2.9 24.8 และ 5.2 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อยละ 0.6 สำหรับการส่งออกในเดือนเมษายน และ พฤษภาคม 2559 หดตัวร้อยละ 6.6 และ 1.9 ตามลำดับ ด้านการนำเข้าในไตรมาส 1 ปี 2559 มีมูลค่า 83,384 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบไตรมาส 1 ปี 2558 สำหรับการนำเข้าในเดือนเมษายน และ พฤษภาคม 2559 หดตัวร้อยละ 24.1 และ 14.8 ตามลำดับ ภาพรวมการค้าในไตรมาส 1 ปี 2559 อินเดียขาดดุลการค้า 18,651 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 2 ปี 2559 ดัชนีราคาผู้บริโภค อยู่ที่ระดับ 128.7 ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบไตรมาส 2 ปี 2558 (ไตรมาส 1 ปี 2559 อยู่ที่ระดับ 126.1) โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่ แอลกอฮอลล์ ค่าใช้จ่ายด้านเครื่องนุ่งห่ม ค่าไฟฟ้า เชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายภายในบ้านขยายตัวในทุกรายการ

สถานการณ์ด้านการเงิน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ธนาคารกลางอินเดียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 6.5 ภายหลังจากที่แนวโน้มเงินเฟ้อของอินเดียยังไม่มีความแน่นอน ดังนั้น ทางธนาคารกลางจึงยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ แต่จุดยืนด้านนโยบายการเงินจะยังคงอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ