สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2559 (เมษายน - มิถุนายน 2559)(อุตสาหกรรมอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2016 14:17 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีประมาณ 2,421,806 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 92.23 ในขณะที่การขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่ได้เพิ่มเท่านั้น โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 7.0 และการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร ขยายตัวร้อยละ 0.9 สำหรับเหล็กทรงแบน มีการผลิตลดลง ร้อยละ 1.61 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 17.89 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 16.57 ซึ่งสาเหตุที่การผลิตลดลงในกลุ่มเหล็กทรงแบน ส่วนหนึ่งมาจากราคาผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มทรงแบนที่ผ่านมาลดลง เช่น ราคา ณ East Asia lmport ในเดือนมิถุนายนของเหล็กแท่งแบน ปรับตัวลดลง จาก 388 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็น 355 เหรียญสหรัฐต่อตัน, เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ปรับตัวลดลง จาก 354 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็น 333 เหรียญสหรัฐต่อตันจึงส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศบางส่วนชะลอการผลิตลงเพื่อรอการนิ่งของราคา

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีประมาณ 4,210,835 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 55.95 เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.60 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 48.63 รายละเอียดตามตารางที่ 1

ความต้องการใช้ในประเทศ

ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีจำนวนประมาณ 5,644,107 เมตริกตันเพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.20 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นคือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 70.99 ทั้งที่ความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องไม่ได้เพิ่มเท่านั้นโดยส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าไว้ โดยข้อมูลดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในส่วนของเหล็กเส้นเดือนมิถุนายน 2559 เพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 188.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับกลุ่มเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.52 ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีจำนวนประมาณ 9,925,278 เมตริกตันเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.01 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กทรงยาวมีความต้องการใช้ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.97 และเหล็กทรงแบน มีความต้องการใช้ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.57

การนำเข้า- การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีจำนวนประมาณ 2,010.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 110.79 เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง จึงทำให้มีการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น เพื่อเก็บเป็นสต๊อก โดยเหล็กกึ่งสำเร็จรูป ชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 388.19 รองลงมาคือ เหล็กแท่งเล็ก billet เพิ่มขึ้น ร้อยละ 74.92 สำหรับเหล็กทรงแบน มีมูลค่านำเข้าลดลง ร้อยละ 7.01 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น ชนิด carbon steel ลดลง ร้อยละ 25.86 เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดกัดกรดเคลือบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 22.02 สำหรับเหล็กทรงยาว มูลค่าการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 6.74 โดยเหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 13.05 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.33 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป (Semi-finished products) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 92.97 สำหรับเหล็กทรงแบน มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.99 แต่เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 3.64

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีจำนวนประมาณ 3,423.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 5.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 19.69 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น ชนิด carbon steel ลดลง ร้อยละ 41.79 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยวิธีไฟฟ้าลดลง ร้อยละ 26.94 และเหล็กเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน ลดลง ร้อยละ 25.60 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 11.41 โดยเหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 13.56 เหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 11.32 รายละเอียดตามตารางที่ 2

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีจำนวนประมาณ 202.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 50.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 57.81 โดยเหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 48.32 รองลงมาคือ เหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 19.73 สำหรับเหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 53.04 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากในช่วงนี้ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 98.89 เหล็กแผ่นหนารีดร้อน ลดลง ร้อยละ 66.56 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกขยายตัว ร้อยละ 20.79 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนได้แก่เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.68 ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 36.05 เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 13.34 โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 96.77 เหล็กแผ่นหนารีดร้อน ลดลง ร้อยละ 84.54 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.68 โดยเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.72

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีจำนวนประมาณ 370.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 39.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 16.73 สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 113.50 เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.15 รายละเอียดตามตารางที่ 3

2. สรุป

การผลิตเหล็กของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีปริมาณ 2,421,806 เมตริกตันเพิ่มขึ้น ร้อยละ 45.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 5,644,107 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.20 ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อสต๊อกสินค้าไว้ สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กในไตรมาสที่ 2ปี 2559 มีมูลค่า 2,010.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ขณะที่มูลค่าการส่งออกมีประมาณ 200.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 50.44

การผลิตเหล็กของไทยในครึ่งแรกของปี 2559 มีปริมาณ 4,210,835 เมตริกตันเพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 9,925,278 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.01 สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กในครึ่งแรกของปี 2559 มีมูลค่าประมาณ 3,423.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 5.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 19.69 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็นชนิด carbon steel ลดลง ร้อยละ 41.79 เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 11.41 โดยเหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 13.56

3.แนวโน้ม

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2559 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้เหล็กในประเทศ จะขยายตัวขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ความคืบหน้าของโครงการภาครัฐ ที่จะส่งผลให้การผลิตเหล็กเส้นในประเทศเพิ่มมากขึ้นในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากคาดการณ์ว่าการผลิตยานยนต์จะเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ