สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2559 (เมษายน - มิถุนายน 2559)(อุตสาหกรรมพลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2016 14:44 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 2 ปี 2559 ดัชนีผลผลิตและดัชนีส่งสินค้าลดลงร้อยละ 8.08 และ 3.84 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกและการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.88 และ 10.66 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ส่งผลให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกกลุ่มเครื่องประกอบอาคารและเครื่องใช้ในครัวเรือนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องลดลงส่งผลให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อสต็อกสินค้า ส่วนครึ่งหลัง ปี 2559 คาดว่าอุตสาหกรรมพลาสติกมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากการการค้าและการลงทุนเพิ่ม

การตลาดและการจำหน่าย

การส่งออก

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) ไตรมาส 2 ปี 2559 มีปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 275,460.68 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และลดลงร้อยละ 0.36 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน กลุ่มสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ได้แก่ กลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบแบบเซลลูลาร์ (3921) กลุ่มเครื่องประกอบอาคาร (3925) และกลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบชนิดยึดติดในตัว (3919)

  • กลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบแบบเซลลูลาร์ (3921) มีปริมาณการส่งออก 14,002.86 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.13 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 3.68 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 16.80 8.29 และ 8.04 ตามลำดับ
  • กลุ่มเครื่องประกอบอาคาร (3925) มีปริมาณการส่งออก 2,476.92 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.03 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 10.94 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 34.73 13.54 และ 10.94 ตามลำดับ
  • กลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบชนิดยึดติดในตัว (3919) มีปริมาณการส่งออก 5,545.96 ตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.19 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.49 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 11.96 9.88 และ 9.86
การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926) ไตรมาส 2 ปี 2559 มีปริมาณการนำเข้ารวมทั้งสิ้นเท่ากับ 175,870.77 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.66 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยสินค้าทุกกลุ่มมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ยกเว้น กลุ่มเครื่องสุขภัณฑ์ (3922) ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนได้แก่กลุ่มใยยาวเดี่ยว (3916) กลุ่มเครื่องประกอบอาคาร (3925) กลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบชนิดยึดติดในตัว (3919) และกลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน (3924)

  • ใยยาวเดี่ยว (3916) มีปริมาณการนำเข้า 3,632.09 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.79 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.43 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ จีน และสิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 61.88 และ 11.58 ตามลำดับ - เครื่องประกอบอาคาร (3925) มีปริมาณการนำเข้า 5,686.86 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.96 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.70 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ จีน และญี่ปุ่น คิดเป็นร้อยละ 45.70 และ 30.45 ตามลำดับ - กลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบชนิดยึดติดในตัว (3919) มีปริมาณการนำเข้า 15,421.62 ตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.31 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.47 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 28.38 18.62 และ 14.99 ตามลำดับ
  • กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) มีปริมาณการนำเข้า 7,256.00 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.56 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.92 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ จีน คิดเป็นร้อยละ 72.82
นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ภาครัฐมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการเร่งรัดใช้จ่ายเงินประกอบกับแนวโน้มของการบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาคบังคับกับผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารคาดว่าจะทำให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและการบริโภคพลาสติกภายในประเทศเพิ่มขึ้นรวมทั้งนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ (Super Cluster) และนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมรูปแบบอื่นๆ เช่น New S-Curve, Spring Board ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์

สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและแนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมพลาสติกครึ่งปีแรกของ ปี 2559 พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมลดลงร้อยละ 1.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ลดลงของประเทศคู่ค้า โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง ได้แก่ แผ่นฟิล์มพลาสติก เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ ถุงพลาสติก และพลาสติกแผ่น ลดลงร้อยละ 6.86 5.33 3.79 และ 0.22 ตามลำดับ ส่วนดัชนีส่งสินค้าของอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยเพิ่มขึ้นจาการส่งสินค้าประเภทกระสอบพลาสติก เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.91

การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกครึ่งปีแรกของ ปี 2559 มีปริมาณการส่งออกเท่ากับ 551,908.48 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกได้แก่ กลุ่มแผ่นฟิล์ม ฟอยด์ ที่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3921) กลุ่มเครื่องประกอบอาคาร (3925) และกลุ่มเครื่องสุขภัณฑ์ (3922) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.74 17.67 และ 13.78 ตามลำดับ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนปริมาณการส่งออกสำคัญ ได้แก่ กลุ่มของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923) กลุ่มแผ่นฟิล์ม ฟอยด์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) และกลุ่มของอื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) คิดเป็นร้อยละ 35.71 32.94 และ 10.11 ตามลำดับ ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด

การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกครึ่งปีแรกของ ปี 2559 มีปริมาณการนำเข้ารวมทั้งสิ้นเท่ากับ 342,702.83 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อการนำเข้าในช่วงครึ่งปีแรกได้แก่กลุ่มใยยาวเดี่ยว (3916) กลุ่มเครื่องประกอบอาคาร (3925) กลุ่มหลอดหรือท่อ (3917) และกลุ่มแผ่นฟิล์ม ฟอยด์ ชนิดยึดติดในตัว (3919) เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.94 24.50 19.90 และ 18.41 ตามลำดับ และผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนปริมาณการนำเข้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มแผ่นฟิล์ม ฟอยด์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) กลุ่มของอื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) กลุ่มของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923) และกลุ่มแผ่นฟิล์ม ฟอยด์ ที่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3921) คิดเป็นร้อยละ 24.13 17.76 17.17 และ 12.71 ตามลำดับ ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด

แนวโน้มครึ่งหลังของปี 2559 คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐรวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน อีกทั้งการท่องเที่ยวและการบริการที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างชัดเจน

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ