สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2559 (เมษายน - มิถุนายน 2559)(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2016 14:54 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษกระดาษและสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 2 ปี 2559มีดัชนีผลผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ขยายตัว จากการใช้จ่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐสำหรับกระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตลดลง ตามความต้องการบริโภคที่ลดลง และความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งลดลง ตามลำดับ ด้านการส่งออก พบว่า เยื่อกระดาษ มีมูลค่าลดลง โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบจาก Brexit ส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และหนังสือและสิ่งพิมพ์ ขยายตัว จากการส่งออกผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์โฆษณาไปยังตลาดภูมิภาคเอเชียสำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษ และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ มีมูลค่าลดลง จากปริมาณสต๊อกมีเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศจึงไม่มีการนำเข้าส่วนสิ่งพิมพ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการนำเข้าภาพถ่ายและภาพพิมพ์ศิลปิน K-POP

การผลิต

ไตรมาส 2 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนพบว่าเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.28 12.51 และ4.68(ตารางที่ 1) โดยเป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ อาหาร เครื่องสำอาง ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ สำหรับกระดาษพิมพ์เขียนมีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 0.34 เนื่องจากความต้องการบริโภคลดลงเช่นเดียวกับกระดาษลูกฟูก ลดลง ร้อยละ 3.07 ตามความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งสินค้าเพื่อส่งออกของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหาร ลดลง

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และ กระดาษแข็ง มีดัชนีผลผลิต ลดลง ร้อยละ 6.10 1.99 และ 9.46 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังจากไตรมาส 1 ปี 2559 มีเพียงพอต่อความต้องการในไตรมาสนี้สำหรับกระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.69 และ 3.33 จากการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ไตรมาส2 ปี 2559มีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษขนาดใหญ่ขออนุญาตขยายกิจการ 1 แห่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยมีอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เข้มแข็ง ส่งผลให้ศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมกระดาษเพิ่มขึ้น สำหรับโรงงานผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษมีการจดทะเบียนประกอบกิจการ จำนวน 7 แห่งขยายกิจการ 1 แห่ง และยกเลิกกิจการ 3 แห่งในส่วนโรงงานประเภทโรงพิมพ์ มีการขออนุญาตประกอบกิจการ จำนวน 13แห่ง ขยายกิจการ 1 แห่ง และยกเลิกกิจการ 10 แห่งซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการขยายตัวเพื่อรองรับการพิมพ์ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

1.เยื่อกระดาษไตรมาส 2 ปี 2559มีมูลค่าการส่งออก 36.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 12.27และ 25.06เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ(ตารางที่ 2) เนื่องจากตลาดในสหภาพยุโรปเกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจจากกรณีที่อังกฤษ มีมติออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) ประกอบกับตลาดหลัก ได้แก่ ฝรั่งเศส มีแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2559 ส่งผลให้คำสั่งซื้อลดลง

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษไตรมาส2 ปี 2559มีมูลค่าการส่งออก426.80ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ2.00 และ 12.46ตามลำดับ จากการส่งออกกระดาษคราฟท์ และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ไปยังตลาดในอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

3.หนังสือและสิ่งพิมพ์ไตรมาส2 ปี 2559มีมูลค่าการส่งออก15.12ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.47 จากการส่งออกไปยัง อินโดนีเซีย ฮ่องกง ที่ขยายตัวเล็กน้อย โดยเป็นสิ่งพิมพ์ประเภท โฆษณาทางการค้า หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 11.73จากการส่งออกสิ่งพิมพ์ประเภทวารสารและนิตยสาร ไปยังตลาดสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น ลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว

การนำเข้า

1.เยื่อกระดาษและเศษกระดาษไตรมาส2 ปี 2559มีมูลค่าการนำเข้า149.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา (ตารางที่3) พบว่าลดลง ร้อยละ 11.87และ 10.99ตามลำดับ เนื่องจากการผลิต และปริมาณสต๊อกเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ

2.กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษไตรมาส2 ปี 2559 มีมูลค่าการนำเข้า346.83ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 8.19 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากการนำเข้ากระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์ และกระดาษแข็งลดลง เนื่องจากมีการใช้กระดาษที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้นประกอบกับค่าเงินบาทที่ผันผวนเป็นปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าลดลงหากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.47จากการนำเข้ากระดาษแข็ง ประเภทป้ายฉลากสินค้าสำหรับเครื่องประดับ เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องประดับเทียมนำเข้าป้ายสินค้ามาประกอบในกล่องบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นตามทิศทางการส่งออกเครื่องประดับเทียมที่เพิ่มขึ้น

3.สิ่งพิมพ์ไตรมาส2 ปี 2559 มีมูลค่าการนำเข้า82.01ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ53.43 และ4.08เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทภาพถ่ายและภาพพิมพ์ จากเกาหลีใต้ เนื่องจากมีการจัดแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินและนักร้องจากเกาหลีใต้ในประเทศไทยจำนวนมาก

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy)ซึ่งจะส่งผลให้รูปแบบการติดต่อสื่อสาร การผลิต การดำเนินธุรกิจและการอุปโภคบริโภค ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมไปสู่การทำกิจกรรมผ่านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลอย่างครบวงจรและปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในด้านต่างๆจากการแข่งขันเชิงราคาไปสู่การแข่งขันเชิงการสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ (Service lnnovation) ที่ผู้บริโภคพอใจสูงสุด ดังนั้นผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์จำเป็นต้องปรับตัวไปสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์สร้างสรรค์ที่ผสมผสานสิ่งพิมพ์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าด้วยกัน

มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs และมาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมกระดาษและบรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนขยายตัวตามไปด้วย

กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อร้องเรียนของสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทยที่ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีขาออกไม้ยูคาลิปตัสจากร้อยละ 0 เป็นเสียภาษีในอัตราที่เหมาะสม เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบ ภายหลังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไม้ยูคาลิปตัสที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษเนื่องจากมีกลุ่มเอกชนทำการ รับซื้อไม้ยูคาลิปตัสจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าจำหน่ายให้โรงงานผลิตเยื่อกระดาษในประเทศเพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ไตรมาส 2 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนพบว่าเยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ขยายตัว จากการใช้จ่ายภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ สำหรับกระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษลูกฟูก ลดลง ตามความต้องการบริโภคที่ลดลง และความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งลดลงแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาพบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษแข็ง มีดัชนีผลผลิต ลดลง เนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังจากไตรมาส 1 ปี 2559 มีเพียงพอต่อความต้องการในไตรมาสนี้สำหรับกระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก เพิ่มขึ้น จากการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

การส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า เยื่อกระดาษ มีมูลค่าลดลง เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป ที่ได้รับผลกระทบจาก Brexit และคู่ค้าหลักอย่างฝรั่งเศส มีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้คำสั่งซื้อเยื่อจากไทยลดลงสำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษมีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดในอาเซียนเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาจากการส่งออกกระดาษคราฟท์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ไปยังตลาดในอาเซียนเพิ่มขึ้นในส่วนหนังสือและสิ่งพิมพ์เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการส่งออกสิ่งพิมพ์โฆษณาทางการค้าไปยังประเทศอินโดนีเซีย และฮ่องกง แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มีมูลค่าลดลงจากการส่งออกวารสารและนิตยสาร ไปยังญี่ปุ่นลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว

การนำเข้า เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ มีมูลค่าลดลง จากปริมาณสต๊อกมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายใน สำหรับกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ มูลค่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากการใช้กระดาษที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้นประกอบกับค่าเงินบาทที่ผันผวนเป็นปัจจัยทำให้การนำเข้าลดลงแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการนำเข้าป้ายฉลากสินค้าสำหรับเครื่องประดับเทียมเพื่อนำมาประกอบในกล่องบรรจุภัณฑ์ตามทิศทางการส่งออกเครื่องประดับเทียมที่เพิ่มขึ้นในส่วนสิ่งพิมพ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา จากการนำเข้าภาพถ่ายและภาพพิมพ์ ของศิลปินและนักร้องเกาหลีใต้ที่เข้ามาจัดแสดงคอนเสิร์ตในไทย

แนวโน้มไตรมาส 3ปี 2559

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ไตรมาส 3ปี 2559คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษจะมีทิศทางที่ดีขึ้น จากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวและจะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคมที่จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ปริมาณการใช้กระดาษประเภทต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

การส่งออกเยื่อกระดาษและกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ คาดว่า จะชะลอตัว ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญได้แก่ จีน และสหภาพยุโรป ประกอบกับปัจจัยด้านราคากระดาษในตลาดสหภาพยุโรปลดลงทำให้คำสั่งซื้อจากภูมิภาคนี้ลดลงสำหรับหนังสือและสิ่งพิมพ์ คาดว่า จะขยายตัวจากการรับจ้างผลิตสิ่งพิมพ์โฆษณาทางการค้าให้กับฮ่องกง

การนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวทั้งกลุ่มเยื่อกระดาษและเศษกระดาษกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ซึ่งอาจเป็นผลมาจาก การนำเข้าเยื่อกระดาษ และผลิตภัณฑ์กระดาษประเภทต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการในช่วงปลายปี

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ