อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภาพรวมยังขยายตัวได้ดีเนื่องจากภาคก่อสร้างในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากการเร่งลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐซึ่งขณะนี้มีการเซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างแล้วในหลายโครงการ สำหรับมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ในภาพรวมหดตัวลงเนื่องจากเมียนมาร์และอินโดนีเซียปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงในไตรมาสนี้อย่างไรก็ตามคาดว่าในไตรมาสหน้าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะปรับตัวดีขึ้นอีกเนื่องจากการก่อสร้างโครงการของภาครัฐอีกหลายโครงการจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้กับภาคเอกชนได้ต่อไป
การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.98 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.89 ล้านตันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนการผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 7.57ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ23.78 สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีปริมาณลดลงร้อยละ 7.63 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.34 ในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ขยายตัวจากการเร่งลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของภาครัฐ ซึ่งหลายโครงการได้มีการเซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างแล้วในไตรมาสนี้
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 9.38 ล้านตันแบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.10 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.28 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 7.31 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.54 เนื่องจากภาคก่อสร้างของไทยมีการขยายตัวที่ดีจากการเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทั้งในส่วนของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง รถไฟทางคู่ท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงท่าอากาศยานในบางพื้นที่ด้วย
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออกปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีปริมาณการส่งออกรวม 3.50 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 164.12ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 1.46 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า44.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดลดลงร้อยละ 0.68และร้อยละ3.16 ตามลำดับ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.97 และร้อยละ13.46 ตามลำดับ ในส่วนของการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณ 2.04 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 119.13ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 12.06และร้อยละ 10.95ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 11.68และร้อยละ 14.38 ตามลำดับ ในภาพรวมการส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) หดตัวลงเนื่องจากเมียนมาร์และอินโดนีเซียปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงอย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทยในไตรมาสนี้ยังคงเป็นเมียนมาร์ ตามด้วย กัมพูชา บังคลาเทศ ลาวและฟิลิปปินส์ ตามลำดับ
การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีปริมาณรวม 5,198.47 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 1.80 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าทรงตัวที่ระดับเดิม และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.85ในขณะที่มูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ5.18โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ดจำนวน 102.18 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน5,096.29 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งส่วนมากเป็นการนำเข้าเพื่อทดสอบ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าปูนซีเมนต์ขาวชนิดพิเศษและอะลูมินัสซีเมนต์ที่ไม่มีการผลิตในประเทศโดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทยในไตรมาสนี้ได้แก่เนเธอร์แลนด์จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดียและอียิปต์ตามลำดับ
1. กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ปรับลดราคาขายหน้าโรงงานลง ทำให้ราคาขายปลีกของปูนซีเมนต์เกือบทุกตราสินค้าลดลงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี 2558ที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับกิจกรรมส่งเสริมการขายอื่นๆ ของแต่ละบริษัทแล้ว ราคาจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงกว่าร้อยละ 10 เป็นระยะเวลาติดต่อกันกว่าครึ่งปีอย่างไรก็ตามแนวโน้มความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงขึ้นจากการขยายตัวของภาคก่อสร้างในประเทศอาจทำให้ราคาปูนซีเมนต์ปรับตัวสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป
2. รัฐบาลเร่งลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีทั้งในส่วนของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายพัทยา-มาบตาพุด สายบางปะอิน-โคราช และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และช่วงฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตงและแม่สอด รวมถึงโครงการสุวรรณภูมิ เฟส 2
สรุปและแนวโน้ม
ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2559ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งก่อสร้างโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหดตัวลงเนื่องจากไตรมาสนี้เป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวและเป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่ฤดูฝน มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ภาคก่อสร้างชะลอตัว และมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลง
ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 2ปี 2559ลดลง เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยทั้งเมียนมาร์และอินโดนีเซียปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงในขณะเดียวกับที่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศสูงขึ้นจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของภาครัฐทำให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยสำรองปูนซีเมนต์ไว้ใช้ในประเทศมากขึ้น
การผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2559คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2โดยมีการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกันเนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยหลายแห่งโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มที่จะต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--