สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 2 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงทั้งกลุ่มสิ่งทอและกลุ่มเครื่องนุ่งห่มยกเว้นผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ยังขยายตัวได้ทั้งภาคการผลิตและการจำหน่ายในประเทศซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย ประกอบกับผู้ประกอบการหลายรายทยอยปิดตัวลงและยกเลิกกิจการ และมีบางส่วนขยายฐานไปในประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น สิทธิพิเศษทางด้านภาษีลดลง ส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดการและการแข่งขันจากต่างประเทศที่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลายประเทศเริ่มหันมาแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม
กลุ่มสิ่งทอ ไตรมาส 2 ปี 2559เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.32 และ 3.78 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อตอบสนองผู้ผลิตในประเทศสอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.55 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลงร้อยละ2.64 ในส่วนการผลิตเส้นด้ายดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อย ร้อยละ0.65 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.76 ในขณะที่ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.61 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากการจำหน่ายในประเทศขยายตัวแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาทรงตัวร้อยละ 0.17 สำหรับการทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) มีการผลิตลดลง ร้อยละ 13.88 และ 12.15 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลงตามความต้องการใช้ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องร้อยละ 2.53 และ 12.32 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ ประกอบกับมีโรงงานบางส่วนได้ปิดกิจการเนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 2 ปี 2559เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์(เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าถัก) ลดลง ร้อยละ 5.31เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.57 อย่างไรก็ตาม ดัชนีการส่งสินค้าลดลง ร้อยละ 2.86และ 4.60 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ เนื่องจากผู้ผลิตบางส่วนได้ขยายฐานการผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียนประกอบกับเศรษฐกิจภายในยังชะลอตัวในผลิตภัณฑ์ผ้าถักเครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชายเครื่องแต่งกายชั้นนอกและชั้นในสตรีและเด็กหญิงในส่วนการผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าทอ) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง ร้อยละ 26.89 และ 6.92 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของตลาดส่งออกหลักสอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลง ร้อยละ 4.73 และ 5.54 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ ในผลิตภัณฑ์ผ้าทอเครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชายเครื่องแต่งกายชั้นนอกและชั้นในสตรีและเด็กหญิงประกอบกับผู้ผลิตบางส่วนได้ขยายฐานการผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียนเช่นเดียวกับกลุ่มผ้าถัก
หากพิจารณาข้อมูลโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การประกอบกิจการไตรมาส 2 ปี 2559 พบว่า มีโรงงานประกอบกิจการใหม่ จำนวน 25 โรงงาน กว่าร้อยละ 60เป็นโรงงานประกอบกิจการสิ่งทอ มีเงินลงทุนรวม 1,645.70 ล้านบาท และจ้างแรงงานรวม 3,015 คน นอกจากนี้มีโรงงานขอขยายกิจการ จำนวน 4 โรงงาน เป็นโรงงานประกอบกิจการเส้นใย จำนวน 3 โรงงาน และเครื่องนุ่งห่ม จำนวน 1 โรงงาน มีเงินลงทุนรวม 696.50 ล้านบาท สำหรับโรงงานที่ขอยกเลิกกิจการ จำนวน 5โรงงาน เป็นโรงงานประกอบกิจการการทอหรือการเตรียมเส้นด้ายยืนสำหรับการทอ จำนวน 2 โรงงาน การฟอกย้อมสี หรือแต่งสำเร็จด้ายหรือสิ่งทอ จำนวน 1 โรงงาน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวน 2 โรงงาน
การตลาด
การค้าระหว่างประเทศ
ไตรมาส 2 ปี 2559อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าการส่งออก 1,621.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 6.48 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน(ตารางที่ 3) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดหลักได้แก่อาเซียนสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.16 ในตลาดหลักได้แก่อาเซียนสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่
1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 1,002.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ5.00 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนในผลิตภัณฑ์ผ้าผืนด้ายและเส้นใยประดิษฐ์เคหะสิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์ผ้าปักและผ้าลูกไม้แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.20โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 61.81 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้
1) ผ้าผืนและด้ายไตรมาส 2 ปี 2559มีมูลค่าการส่งออก 508.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 6.23 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเวียดนามและจีน ลดการนำเข้า เนื่องจากเวียดนามมีการพัฒนาการผลิตในส่วนอุตสาหกรรมกลางน้ำ เช่น ปั่นด้าย เพิ่มขึ้น จากการเข้าไปลงทุนของจีนและไต้หวันโดยในส่วนของผ้าผืนมีมูลค่าการส่งออก 319.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯด้ายและเส้นใยประดิษฐ์มีมูลค่าการส่งออก 188.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งมูลค่าการส่งออกในกลุ่มผ้าผืนและด้าย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 50.69 ของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสิ่งทอ โดยมีประเทศเวียดนาม จีน เมียนมาร์ ญี่ปุ่น และบังคลาเทศ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.66 ในตลาดเวียดนามจีน เกาหลีใต้ และตุรกี
2) เคหะสิ่งทอ ไตรมาส 2 ปี 2559มีมูลค่าการส่งออก 62.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ10.71 และ 5.41 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ลดการนำเข้าจากไทย ร้อยละ 25.61และ 18.96 ตามลำดับ ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกเคหะสิ่งทอปรับลดลงโดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย และอินเดีย
3) เส้นใยประดิษฐ์ไตรมาส 2 ปี 2559มีมูลค่าการส่งออก 170.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 5.28 และ 0.81 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับจากมูลค่าการส่งออกที่ลดลงในตลาดคู่ค้า อาทิ อินโดนีเซีย ปากีสถาน อินเดีย และสหรัฐอเมริกามีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 30.81 30.35 15.95และ37.85 ตามลำดับ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซียเวียดนาม จีนตุรกี และปากีสถาน
4) สิ่งทออื่นๆไตรมาส 2 ปี 2559มีมูลค่าการส่งออก 169.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.61 และ 7.64 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับโดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีนอินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดีย
2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 2 ปี 2559มีมูลค่าการส่งออก 619.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 8.79เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.10 โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 38.19 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ
1) เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 535.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 9.44 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.19 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกในตลาดคู่ค้าสำคัญได้แก่ อาเซียนสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ลดลงร้อยละ 23.95 4.57และ 4.43 ตามลำดับ โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย เส้นใยประดิษฐ์ ไหม และเสื้อผ้าจากวัตถุทออื่นๆ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง
2) เครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบ มีมูลค่าการส่งออก 56.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.40เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.97 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดคู่ค้าสำคัญได้แก่สหรัฐอเมริกาฝรั่งเศสสหราชอาณาจักร ไต้หวัน และฮ่องกง เป็นต้น
ไตรมาส 2 ปี 2559มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่า 1,096.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 2.12 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.77 (ตารางที่ 4) โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 82.37 จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 903.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 5.95เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.98 เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มสิ่งทอคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 82.37 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้
1) เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่าการนำเข้า 159.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ22.52 และ 8.95 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่สหรัฐอเมริกาบราซิลออสเตรเลีย จีน และอินเดีย
2) ด้ายทอผ้าและเส้นด้าย มีมูลค่าการนำเข้า177.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.04 และ 5.04 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องจากมีโรงงานปิดกิจการในไตรมาสนี้จำนวน 2 โรงงานส่งผลให้การผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงต้องมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคานำเข้าถูกกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เวียดนามไต้หวัน และอินโดนีเซีย
3) ผ้าผืน มีมูลค่าการนำเข้า 413.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.60เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.80 ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตภายในของอุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลงมาก และมีโรงงานทอเส้นด้ายและทอผ้า ปิดกิจการในไตรมาสนี้อย่างไรก็ตามมีโรงงานขอประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการจำนวนหนึ่งซึ่งอาจต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่จีน ไต้หวันญี่ปุ่นเกาหลีใต้และเวียดนาม
4) ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่าการนำเข้า 103.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.14เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.40 โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวันสหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้
2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่สำคัญได้แก่เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 193.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.87 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 4.50 ซึ่งเป็นการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน บังคลาเทศ อิตาลีตุรกี และฮ่องกงคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ17.63 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ในผลิตภัณฑ์สูท เชิ้ต/เบลาส์ แจ็กแก็ตและเสื้อเบลเซอร์ กางเกง กระโปรงและเครื่องแต่งตัว
- กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดตั้งศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand lndustrial Design Center) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยเฉพาะช่วยเหลือSMEsและOTOP เพื่อเป็นศูนย์กลางการออกแบบระดับชาติช่วยยกระดับการออกแบบของไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้นลดต้นทุนระยะเวลาและความเสี่ยงในการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้และยกระดับการออกแบบของไทยให้เป็นศูนย์กลางการออกแบบในอาเซียนโดยให้ศูนย์ฯจัดทำแผนพัฒนาผู้ประกอบการภายใน 1-2 เดือนปัจจุบันสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องคัดเลือกสินค้าOTOP หรือสินค้าผู้ประกอบการSMEsมาพัฒนาออกแบบดีไซน์ปี2559 นี้ ประมาณ 1,000 ราย หลังจากมีศูนย์ฯ คาดว่า จะพัฒนาผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ราย
สรุปและแนวโน้ม
กลุ่มสิ่งทอการผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ไตรมาส 2 ปี 2559เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.32สอดคล้องกับการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.55 ในส่วนการผลิตเส้นด้ายลดลงทั้งภาคการผลิตและการจำหน่าย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในหดตัวสำหรับผ้าผืนหดตัวทั้งการผลิตและการจำหน่ายในประเทศและการส่งออก
กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตและการจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผ้าถักและจากผ้าทอลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา สอดคล้องกับภาคการส่งออกที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวในกลุ่มสิ่งทอ ร้อยละ 2.20 และกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ2.10เป็นผลจากความต้องการของ ผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป นำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.21 6.56 และ 14.42 ตามลำดับ
ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในไตรมาส 3ปี 2559คาดว่าการผลิตจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นจากตลาดคู่ค้าหลัก เพื่อใช้บริโภคในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ส่วนการจำหน่ายในประเทศ คาดว่า จะขยายตัวมากกว่าไตรมาสที่ผ่านมาเนื่องจากมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น การกระตุ้นตลาดโดยการลดราคาสินค้ารวมถึงมีโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อดึงดูดผู้ซื้อในส่วนการส่งออกภาครัฐได้มีการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการส่งออกแบรนด์สินค้าไปในอาเซียนเพิ่มขึ้นทั้งเพิ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและการจัดตั้งเขตพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ให้สิทธิประโยชน์หลายด้านสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนนอกจากนี้สินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการในอาเซียนและสินค้าไทยได้เปรียบคู่แข่งในอาเซียนโดยเฉพาะเรื่องคุณภาพทำให้มีการเจาะกลุ่มลูกค้าใน CLMV มากขึ้นสำหรับการนำเข้าคาดว่า จะนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเสื้อผ้าแฟชั่นต่าง ๆ ตามความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในประเทศ
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--