สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2559 (เมษายน - มิถุนายน 2559)(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2016 15:15 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ในขณะที่การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดจีน สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์

การผลิต

การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 2 ปี 2559 มีปริมาณ 1.23 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 6.11 และ 10.87 ตามลำดับ สำหรับการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีปริมาณ 2.54 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 6.62 ซึ่งการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศและการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้ง ผู้บริโภคยังมีปัญหาไม่ผ่านการขอสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้มีผลต่อเนื่องต่อความต้องการใช้เครื่องเรือนในการตกแต่งบ้านที่ไม่สามารถขยายตัวได้

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ไตรมาส 2 ปี 2559 มีปริมาณ 0.29 ล้านชิ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนอยู่ในภาวะทรงตัวแต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 14.71 สำหรับการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีปริมาณ 0.58 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 20.55 ทั้งนี้ การจาหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้หดตัวตามกำลังซื้อของผู้บริโภค ที่มีปัญหาภาระค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ปัญหาภัยแล้งและรายได้ภาคเกษตรตกต่ำ ทำให้ผู้บริโภคสินค้าในตลาดระดับล่างระมัดระวังการใช้จ่ายและเลือกที่จะจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็นมากกว่า

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ แบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ประกอบด้วย 1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของมูลค่าส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ทั้งหมด ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร 2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ของมูลค่าส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ทั้งหมด ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร และ 3) กลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67 ของมูลค่าส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ทั้งหมด ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และญี่ปุ่น

การส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่ารวม 810.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.17 และ 4.40 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีมูลค่ารวม 1,604.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.80 ซึ่งการส่งออกสามารถขยายตัวได้ดีในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับ อิมิเรตส์ โดยผลิตภัณฑ์สำคัญที่ทำให้การส่งออกขยายตัว ได้แก่ ชิ้นส่วนเครื่องเรือน และอุปกรณ์ก่อสร้างไม้ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาและไม้แปรรูปขยายตัวในตลาดจีนและสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ การนำเข้า

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ ได้แก่ ไม้แปรรูป ไม้อัดและไม้วีเนียร์ และไม้ซุง มาผลิตเป็นสินค้าต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเครื่องเรือน โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย สหรัฐอเมริกา ลาว และนิวซีแลนด์ ไม้อัดและไม้วีเนียร์ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม ไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศคองโก และสหรัฐอเมริกา

การนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่ารวม 127.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.30 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ9.89 สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีมูลค่ารวม 238.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 11.85

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ไตรมาส 2 ปี 2559 ในภาพรวมตลาดยังคงหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ประกอบกับภาระค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง รวมทั้งรายได้ภาคเกษตรตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ขยายตัวสำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไตรมาส 2 ปี 2559 เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของตลาดหลัก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ในส่วนของการนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไตรมาส 2 ปี 2559 ลดลงตามภาวะการผลิตเครื่องเรือนไม้ในประเทศ

แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ไตรมาส 3 ปี 2559 คาดว่ามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปัญหาค่าครองชีพและหนี้สินครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลงโดยเฉพาะสินค้าในตลาดระดับล่างสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนไตรมาส 3 ปี 2559 คาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และความต้องการของตลาดใหม่ในแถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูงสำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือนไตรมาส 3 ปี 2559 คาดว่ามีแนวโน้มลดลงตามทิศทางการผลิตเครื่องเรือนในประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ