สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2559 (เมษายน - มิถุนายน 2559)(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2016 16:20 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาวะอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางยานพาหนะยังขยายตัวได้ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศสำหรับตลาดถุงมือยาง/ถุงมือตรวจภายในประเทศขยายตัวได้ดีตามกระแสความวิตกกังวลด้านสุขภาพอนามัย ในส่วนของมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางปรับตัวลดลง ถึงแม้ว่าปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางปรับตัวลดลงอย่างมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย สำหรับมูลค่าการส่งออกถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ชะลอตัวลง และส่วนหนึ่งมาจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preference : GSP) จากสหภาพยุโรปที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญไป

การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปริมาณการผลิตลดลง ร้อยละ 4.10 เนื่องจากในช่วงต้นของไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ หยุดพักกรีดยาง จึงทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.59 และสำหรับในช่วงครึ่งปีแรก ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ10.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อ ซึ่งประกอบด้วยยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยานรวมทั้งยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปริมาณการผลิตลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ยกเว้นยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คิดเป็น ร้อยละ 0.30 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ร้อยละ 7.44 ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ร้อยละ 1.19 และยางหล่อดอก ร้อยละ 1.07 ยกเว้นยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 6.52 และ 1.91 ตามลำดับ

ในช่วงครึ่งปีแรกปริมาณการผลิตในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อกลุ่มยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน รวมทั้งยางหล่อดอกปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับในส่วนของปริมาณการผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ และยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.97 และ 1.75 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ

สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 0.92 และ 9.43 ตามลำดับและในช่วงครึ่งปีแรก ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 9.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจที่ลดลงนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปชะลอตัว ประกอบกับไทยถูกตัด GSP จากสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 โดยถุงมือยาง/ถุงมือตรวจของไทยเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการใช้สิทธิ GSP สูง

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 14.60 เนื่องจากในช่วงต้นของไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงฤดูยางผลัดใบหยุดพักกรีดยาง จึงทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการจำหน่ายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.72 และในช่วงครึ่งปีแรกปริมาณการจำหน่ายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในส่วนของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางล้อในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์/จักรยานรวมทั้งยางหล่อดอก เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ยกเว้นยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ และยางหล่อดอกซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.19 และ 1.02 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปริมาณการจำหน่ายในประเทศของยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ยางในรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางหล่อดอก ปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ ยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 24.55 14.63 และ 2.33 ตามลำดับ โดยในส่วนของยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะ ขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

ในช่วงครึ่งปีแรกปริมาณการจำหน่ายในประเทศกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นยางนอกรถบรรทุก/รถโดยสาร/รถแทรกเตอร์ และยางในรถบรรทุก/รถโดยสาร ปรับตัวลดลง ร้อยละ 13.96 และ 4.94 ตามลำดับ

สำหรับการจำหน่ายถุงมือยาง/ถุงมือตรวจในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.36 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.72 และในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกทั้งกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคจากโรคระบาด

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 1,050.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.77 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.42 สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น 2,061.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.72 ซึ่งแม้ว่าปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางปรับตัวลดลงมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วย โดยตลาดส่งออกยางพาราที่สำคัญ คือ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ ยางคอมพาวด์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,628.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.26 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 13.02 สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางมีมูลค่า 3,146.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.77 โดยเฉพาะในส่วนของยางยานพาหนะ ถึงแม้ว่ามูลค่าการส่งออกในตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐอเมริกา ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต่ออายุการให้ GSP แก่สินค้าไทยออกไปอีก 4 ปี 5 เดือนโดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ซึ่งจะมีผลหลังจากลงนามแล้ว 30 วัน และผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิการคืนภาษีย้อนหลัง 2 ปีจากการต่ออายุ GSP ครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการของตลาดที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น อาเซียน และสหภาพยุโรปปรับตัวลดลง ทำให้มูลค่าการส่งออกยางยานพาหนะในภาพรวมปรับตัวลดลง

ในส่วนของมูลค่าการส่งออกถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ปรับตัวลดลงจากปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปชะลอตัว รวมทั้งการถูกตัด GSP จากสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญไป

สำหรับผลิตภัณฑ์ยางคอมพาวด์ มีมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลง เนื่องจากจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางคอมพาวด์ของไทยได้ออกประกาศปรับปรุงมาตรฐานการผลิตยางคอมพาวด์โดยให้ใช้ยางธรรมชาติในการผลิตได้ไม่เกินร้อยละ 88 และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 12 ให้เป็นส่วนผสมของเขม่าดำ (Carbon Black) และสารเคมีอื่นๆแทนสัดส่วนการผลิตเดิมที่มียางธรรมชาติไม่เกินร้อยละ 95.00 - 99.50 ส่งผลให้บริษัทผลิตยางล้อในจีนเริ่มกังวลต่อการนำเข้ายางคอมพาวด์จากไทยจึงชะลอการสั่งซื้อยางคอมพาวด์ออกไป

การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 การนำเข้ายางและเศษยางมีมูลค่า 220.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.50 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.36 และในช่วงครึ่งปีแรก มีมูลค่าการนำเข้า 432.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.42

สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ ประกอบด้วย ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ยางรถยนต์ กระเบื้องปูพื้น/ปิดผนัง ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่า 296.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.10 และ 2.91 ตามลำดับ โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้ายางรถยนต์ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกมีมูลค่าการนำเข้า 559.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.77

ราคาสินค้า

ราคายางไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยบวกคือ ปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูยางผลัดใบ หยุดพักกรีดยาง อย่างไรก็ตาม อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อราคายาง รวมทั้งปริมาณการผลิตที่มีมากกว่าความต้องการใช้จากพื้นที่ปลูกใหม่เริ่มมีผลผลิตทยอยออกสู่ตลาด

ในปีงบประมาณพ.ศ. 2559 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัยและโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการดังกล่าวคือ สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบยางผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและได้มาตรฐานสากลซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 อุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อโดยเฉพาะในส่วนของยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะยังขยายตัวได้ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ชะลอตัวลงตามการส่งออกที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดในประเทศ ยังขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนอีกทั้งกระแสความวิตกกังวลจากโรคระบาดทำให้มีการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยาง ปรับตัวลดลง โดยในส่วนของยางแปรรูปขั้นต้นถึงแม้ว่าปริมาณการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น แต่ราคายางปรับตัวลดลงมาก จึงทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงตามไปด้วยในส่วนของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางปรับตัวลดลง โดยในส่วนของยางยานพาหนะถึงแม้ว่าในตลาดส่งออกหลักที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต่ออายุการให้ GSP แก่สินค้าไทยออกไปอีก 4 ปี 5 เดือน โดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 ซึ่งจะมีผลหลังจาก ลงนามแล้ว 30 วัน และผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิการคืนภาษีย้อนหลัง 2 ปีจากการต่ออายุ GSP ครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการของตลาดที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น อาเซียน และสหภาพยุโรปปรับตัวลดลง ทำให้มูลค่าการส่งออกยางยานพาหนะในภาพรวมปรับตัวลดลง สำหรับมูลค่าการส่งออกถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการถูกตัด GSP จากสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญไปและในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางคอมพาวด์จีนได้ออกประกาศปรับปรุงมาตรฐานการผลิตยางคอมพาวด์โดยให้ใช้ยางธรรมชาติในการผลิตได้ไม่เกินร้อยละ 88 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 12 ให้เป็นส่วนผสมของเขม่าดำ (Carbon Black) และสารเคมีอื่นๆส่งผลให้บริษัทผลิตยางล้อในจีนเริ่มกังวลต่อการนำเข้ายางคอมพาวด์จากไทยจึงชะลอการสั่งซื้อยางคอมพาวด์ออกไป

แนวโน้ม

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมยางยานพาหนะในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ สำหรับการส่งออกในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต่ออายุการให้ GSP แก่สินค้าไทยออกไปในส่วนของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักจะชะลอตัว รวมทั้งการถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป แต่อุตสาหกรรมถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ เริ่มปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน อีกทั้งกระแสความวิตกกังวลจากโรคระบาดทำให้มีการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

สำหรับแนวโน้มด้านราคายางพาราในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีแนวโน้มชะลอตัวลงเนื่องจากผลผลิตยางพาราเริ่มออกสู่ตลาดอีกครั้ง ประกอบกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อราคายางพาราในอนาคต

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ