สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2559 (เมษายน - มิถุนายน 2559)(อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2016 16:24 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การส่งออกรองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 2 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงในทุกผลิตภัณฑ์เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทยยังคงชะลอตัวทำให้กำลังซื้อลดลงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยประกอบกับขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงเนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำกว่า และมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนวัตถุดิบ

การผลิต

ไตรมาส 2 ปี 2559 ดัชนีอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนังจำแนกได้ดังนี้

1. การฟอกและการตกแต่งหนังฟอกดัชนีผลผลิตไตรมาส 2 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 43.60 และ 13.64 ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 38.49 และ 8.15 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกในตลาดหลักยังขยายตัวไม่มาก และทำให้ระดับสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.67 ส่งผลให้ผู้ประกอบการลดการผลิตลง แต่หากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 13.11 ตามลำดับ

2. การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลากดัชนีผลผลิตไตรมาส 2 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.03 เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีการส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.83 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.75 แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาการผลิตลดลงร้อยละ 14.21 สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่ลดลง ร้อยละ 10.54 และทำให้ระดับสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.76

3. การผลิตรองเท้าดัชนีผลผลิตไตรมาส 2 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 7.48 และ 8.06 ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งออกที่มีมูลค่าลดลงดัชนีการส่งสินค้า เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 12.79 และ 16.43 ตามลำดับ สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส เดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 2.68 และ 3.78 ตามลำดับ

ไตรมาส 2 ปี 2559 มีโรงงานตั้ง/ประกอบกิจการ จำนวน 4 แห่ง แบ่งเป็น โรงงานฟอกหนัง สัตว์ จำนวน 1 แห่ง โรงงานผลิตรองเท้าและชิ้นส่วน จำนวน 2 แห่ง โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากหนัง จำนวน 1 แห่ง อย่างไรก็ตาม มีโรงงานผลิตรองเท้าและชิ้นส่วน ขอยกเลิกกิจการ 2 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว ส่งผลต่อภาคการผลิตและความต้องการบริโภคสินค้า

การตลาดและการจำหน่าย

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

ไตรมาส 2 ปี 2559 อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนังมีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 423.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 9.87 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.59 ประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัดไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 185.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลง ร้อยละ 9.73 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ถุงมือหนัง และเครื่องแต่งกายและเข็มขัด ปรับตัวลดลง ร้อยละ 64.92 32.32 5.58 และ 26.16 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการของประเทศจีน ฮ่องกง และในกลุ่มอาเซียนที่ต้องการสินค้าจากไทยเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำไปยังตลาดอื่นชะลอตัวลงต่อเนื่อง สำหรับผลิตภัณฑ์หนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.79

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.33 เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์หนังโคกระบือฟอก ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง และหนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.22 11.46 และ 7.76 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ ถุงมือหนัง และเครื่องแต่งกายและเข็มขัด ปรับตัวลดลง ร้อยละ 18.34 และ 49.05 ตามลำดับ โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ได้แก่ เวียดนาม ฮ่องกง และจีน มีสัดส่วน ร้อยละ 23.20 16.82 และ 11.60 ตามลำดับ

2. เครื่องใช้สำหรับเดินทางไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 70.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 8.29 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือ ลดลง ร้อยละ 22.74 และ 24.89 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักที่สำคัญได้แก่สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และฮ่องกง ลดลง สำหรับผลิตภัณฑ์ กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.66 และ 10.14 ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทางขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.59 ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่น ๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.81 1.91 และ 21.71 ตามลำดับ สำหรับกระเป๋าเดินทาง ปรับตัวลดลง ร้อยละ 6.81 โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มเครื่องใช้สำหรับเดินทาง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วน ร้อยละ 30.25 10.62 และ 9.49 ตามลำดับ

3. รองเท้าและชิ้นส่วนไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 167.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 10.68 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ลดลงได้แก่ รองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง และรองเท้าอื่น ๆ ลดลง ร้อยละ 32.73 17.71 11.18 และ 5.57 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ส่วนประกอบรองเท้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.78 ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อมูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วนที่ปรับตัวลดลง เกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.90 ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้ากีฬา รองเท้าหนัง รองเท้าอื่น ๆ และส่วนประกอบของรองเท้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.68 22.45 10.26 และ 12.39 ตามลำดับ สำหรับรองเท้าแตะ ลดลง ร้อยละ 2.59 โดยตลาดคู่ค้าสำคัญของกลุ่มรองเท้าและชิ้นส่วน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเมียนมาร์ มีสัดส่วน ร้อยละ 15.46 8.60 และ 8.52 ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 2 ปี 2559 อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนังมีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 392.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.39 และ 8.97 ตามลำดับ ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้

1. หนังดิบและหนังฟอกไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่าการนำเข้า 187.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.92 และ 15.56 ตามลำดับ เพื่อสต๊อกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวของปริมาณความต้องการภายในประเทศที่ครอบคลุมทั้งความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มสินค้ารองเท้าและเครื่องหนังและยังครอบคลุมถึงการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้หนังในกระบวนการผลิต เช่น เบาะรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ โดยแหล่งนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกที่สำคัญ ได้แก่สหรัฐอเมริกาอาร์เจนตินา และบราซิล มีสัดส่วน ร้อยละ 16.78 11.58 และ 10.18 ตามลำดับ

2. กระเป๋าไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่าการนำเข้า 107.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.73 และ 4.26 ตามลำดับ เป็นไปตามทิศทางของการขยายตัวของการท่องเที่ยวทั้งการท่องเที่ยวขาเข้า และการท่องเที่ยวขาออกที่ทำให้เกิดอุปสงค์ของกระเป๋าภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน อิตาลี และฝรั่งเศส มีสัดส่วน ร้อยละ 44.07 19.41 และ 12.77 ตามลำดับ

3. รองเท้าไตรมาส 2 ปี 2559 มีมูลค่าการนำเข้า 97.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.97 และ 2.74 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นที่เริ่มปรากฎผลให้เห็นชัดเจนขึ้น โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีสัดส่วน ร้อยละ 40.38 22.17 และ 10.19 ตามลำดับ

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

นโยบายการส่งเสริม SMEs ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลที่ออกมาช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับ SMEs โดยมีแนวทางในการปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่เน้นปัจจัยการผลิตเดิม (Factor Driven Growth) ประเภทที่ดิน แรงงาน และทุน ไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่การสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มเป็นปัจจัยขับเคลื่อน หรือการพัฒนาทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยกระดับให้ SMEs ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และตั้งเป้าหมายในปี 2558 เพิ่มสัดส่วนรายได้ของ SMEs ทั้งระบบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในปี 2559 หรือคิดเป็นมูลค่า 300,000 ล้านบาทซึ่งอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ส่วนใหญ่เป็น SMEs จึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะได้รับการส่งเสริม

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 2 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การฟอกและตกแต่งหนังฟอก และการผลิตรองเท้า ปรับตัวลดลง ร้อยละ 43.60 และ 7.48 ตามลำดับ เนื่องจากในไตรมาส 2 มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง ทำให้กำลังการผลิตลดลง อีกทั้งยังสะท้อนความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดสำคัญของไทยรวมทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่มีสูงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการต้องมีความระมัดระวังในการวางแผนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดอีกทั้งพัฒนาการของตลาดเครื่องหนังและรองเท้าที่มีแนวโน้มไปสู่การตลาดที่ต้องสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์มากขึ้นพฤติกรรมของผู้บริโภคมีความชัดเจนถึงความต้องการใช้งานตามหน้าที่เฉพาะของสินค้านั้น เช่น รองเท้าใส่ทำงาน รองเท้าสำหรับเล่นกีฬาแต่ละประเภท เป็นต้น ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการเครื่องหนังและรองเท้ามากขึ้น แต่เป็นความต้องการที่หลากหลายขึ้น การปรับเปลี่ยนของผู้บริโภคดังกล่าวในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ซึ่งจะแปรผันตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมทาให้อุปสงค์มีความผันผวนมากขึ้น ส่งผลต่อการผลิต ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องวางแผนธุรกิจเพื่อรองรับความเสี่ยงทางธุรกิจจากการผันผวนของอุปสงค์ที่เกิดขึ้น สำหรับการผลิตกระเป๋าเดินทาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.03 เพื่อสต๊อกสินค้าไว้รองรับช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา

การส่งออก ไตรมาส 2 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ได้แก่ หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด เครื่องใช้สำหรับเดินทางและรองเท้าและชิ้นส่วน ลดลง ร้อยละ 9.73 8.29 และ 10.68 ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการส่งออกเกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักของไทยยังคงชะลอตัวทำให้กำลังซื้อลดลงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยประกอบกับขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง เนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันทางด้านราคาที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำกว่า และมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนวัตถุดิบนอกจากนั้นผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนังของไทยส่วนหนึ่งอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันด้านราคาสูงเช่น กลุ่มที่รับจ้างผลิต ทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้า

การนำเข้า ไตรมาส 2 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์หนังดิบและหนังฟอก มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.92 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐ ขณะที่สินค้าสำเร็จรูป อาทิ กระเป๋า รองเท้า มีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ร้อยละ 24.73 และ 16.97 ตามลำดับ เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคสินค้าหรูที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

แนวโน้ม

แนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2559 การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนังคาดว่าจะชะลอตัว เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจคู่ค้า เช่น สหภาพยุโรป และจีน อาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มรองเท้าและเครื่องหนังแต่หากพิจารณาภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชาสปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) อีกทั้งการขับเคลื่อนของนโยบายภาครัฐ และการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการบริโภคโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้ยังเป็นระดับต่ำกว่าปกติตามการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก อาจเป็นปัจจัยเสริมที่จะส่งผลให้การผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนังขยายตัวได้

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ