ในไตรมาส 3 ปี 2559 เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังไม่มีเสถียรภาพการส่งออกในหลาย ๆ ประเทศหดตัว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศจีน สหภาพยุโรป ประเทศญี่ปุ่น อัตราการว่างงานของสหภาพยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูง
ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 3 ปี 2559 อยู่ที่ 43.4 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2558 อยู่ที่ 49.9 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคามีแนวโน้มลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม (ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2559) อยู่ที่ 44.07 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้าเล็กน้อย เนื่องจากอุปทานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่ม OPEC ยังไม่สามารถตกลงเรื่องการปรับลดปริมาณการผลิต อีกทั้งจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯในเดือนกันยายนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
หรือ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 โดยปัจจัยที่ทำให้ขยายตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 คือ การปรับตัวดีขึ้นของการผลิตในภาคเกษตรเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มผ่อนคลายและราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น
ภาคนอกเกษตรขยายตัวตามการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัว สาขาก่อสร้างขยายตัวดีต่อเนื่องตามการขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐ ส่วนภาคบริการต่าง ๆ ยังคงขยายตัวได้ดีในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2.0 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ที่หดตัวร้อยละ 0.2 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ที่หดตัวร้อยละ 0.2 การที่ GDP สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ (โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ) ยาสูบ และยานยนต์ เป็นต้น
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.0-3.5 เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8
สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากมูลค่าการส่งออกขยายตัวขึ้นร้อยละ 1.14 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่การนำเข้ายังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเข้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.21 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 3 มีมูลค่าทั้งสิ้น 105,144.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 55,330.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 49,814.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 นั้น มูลค่าการส่งออกและมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.84 และร้อยละ 5.80 ตามลำดับ สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 3 นี้อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้า โดยมีมูลค่า 5,516.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทยการลงทุนสุทธิในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมีมูลค่ารวม -31,384.1 ล้านบาท แสดงว่ามีการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าเงินลงทุนที่เข้ามาจากต่างประเทศซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่า -31,178.1 ล้านบาท
สำหรับเดือนสิงหาคมมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ -206.0 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 12,584.1 ล้านบาทและในเดือนสิงหาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 18,939.0 ล้านบาทโดยการลงทุนรวมในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 31,523.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 196.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 10,644.84 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนสิงหาคมของปีก่อนมีการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าเงินลงทุนที่เข้ามาจากต่างประเทศค่อนข้างสูง
สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOl) พบว่าในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOl มีจำนวนทั้งสิ้น 476 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 515 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 3 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 379,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 252,940 ล้านบาท โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 176 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 38,320 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ จำนวน 120 โครงการ เป็นเงินลงทุน 236,810 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 180 โครงการ เป็นเงินลงทุน 104,800 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนพบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 153,720 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดเคมีภัณฑ์ พลาสติกและกระดาษมีเงินลงทุน 112,300 ล้านบาท และหมวดเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตรมีเงินลงทุน 54,890 ล้านบาท
สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 84 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 43,945 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 15 โครงการ มีเงินลงทุน 17,143 ล้านบาท ประเทศสหรัฐอเมริกามีจำนวน 8 โครงการที่ได้รับอนุมัติซึ่งมีเงินลงทุน 16,507 ล้านบาท และประเทศจีนมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 34 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 15,471 ล้านบาท
ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา
เหล็กและเหล็กกล้า การผลิตเหล็กของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีปริมาณ 1,587,432 เมตริกตันลดลง ร้อยละ 17.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 4,500,131 เมตริกตันลดลง ร้อยละ 4.20 สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีมูลค่า 1,620.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 16.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 48.38 ขณะที่มูลค่าการส่งออกมีประมาณ 229.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 54.02 โดยผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15,072.90
สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2559 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้เหล็กในประเทศ จะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเหล็กทรงยาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง คาดการณ์ว่าจะลดลง สถานการณ์เหล็กโดยรวมคาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย ในส่วนของเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากคาดการณ์ว่าการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2559(ก.ค.-ก.ย.)มีปริมาณการผลิตรถยนต์483,356คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 496,508 คัน ลดลงร้อยละ 2.65 โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 218,890และ 10,371 คัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.46 และ 9.87 ตามลำดับ แต่การผลิตรถปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 254,095 คัน ลดลงร้อยละ 14.11 สำหรับปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก 308,829 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.89 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดโดยแบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 137,211คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.43และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ 171,618คันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.57หากพิจารณาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ0.65 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ5.79และ 18.87ตามลำดับแต่การผลิตรถยนต์ปิกอัพ 1 ตันและอนุพันธ์ ลดลงร้อยละ 6.20
สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาสำหรับประมาณการของอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2559 จากการคาดการณ์โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1,950,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ1.97 โดยแบ่งเป็น การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 750,000 คัน ลดลงร้อยละ 6.21และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,200,000 คัน ลดลงร้อยละ 0.41
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3/2559 ลดลงร้อยละ 0.52 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้าไปตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ผลิตเครื่องซักผ้าบางรายมีการขยายกำลังการผลิต โดยเริ่มผลิตและส่งออกตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อีกทั้งการส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกาขยายตัวอย่างมาก สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ Monolithic lC Other lC และ HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.57, 7.31 และ 4.74 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก lC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นโดยการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
และ HDD ส่งออกไปตลาดหลักเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 4/2559 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแยกเป็นอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.50 เนื่องจากเครื่องปรับอากาศและเครื่องซักผ้าสามารถขยายตัวได้ทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลักทั้งหมด
รวมถึงเครื่องซักผ้ามีการขยายกำลังการผลิต สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก lC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น และ HDD ส่งออกไปตลาดหลักเริ่มฟื้นตัวเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาส 3 ของปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกที่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะจีน และประเทศสหรัฐอเมริกาในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากการใช้จ่ายของภาครัฐการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนและรายได้เกษตรกรที่ทยอยปรับดีขึ้นหลังผลของภัยแล้งคลี่คลาย
สำหรับไตรมาส 4 ของปี 2559 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์คาดว่าจะมีแนวโน้มการใช้เคมีภัณฑ์ภายในประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของปริมาณการใช้ภายในประเทศ
พลาสติก อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 3 ปี 2559 ดัชนีผลผลิตและดัชนีส่งสินค้าลดลงร้อยละ 11.33 และ 2.92 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกและการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.07 และ 12.91ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาคเอกชนที่ส่งผลให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น และการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมอาหาร ส่งผลให้มีการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เกี่ยวกับกลุ่มดังกล่าวมากขึ้นรวมถึงตลาด CLMV ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญยังขยายตัวได้ดี
แนวโน้ม 3 เดือนที่เหลือของปี 2559 (ไตรมาสที่ 4) คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้นและมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากแนวโน้มการทรงตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกความต่อเนื่องและความชัดเจนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่อการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อการก่อสร้างรวมถึงการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวตามช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ปิโตรเคมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไตรมาส 3 ปี 2559 มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าและส่งออกที่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าเกิดจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ผลิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักรวมทั้งการปรับตัวของระดับราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในช่วงขาลง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาและจีน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยปี 2559 คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ลดลง เมื่อเทียบกับปี 2558 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญคาดว่ามาจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยได้แก่ ประเทศจีน และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้รวมถึงการปรับตัวของระดับราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในช่วงขาลงอย่างไรก็ตามสภาวะทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริการวมทั้งภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมต้องติดตาม ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อม โดยการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลก และลดความเสี่ยงโดยการพัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าปิโตรเคมีเกรดพิเศษให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมปลายทางเพิ่มมากขึ้น
เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ สถานการณ์อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ไตรมาส 3 ปี 2559 พบว่า เยื่อกระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัว รวมถึงผลิตเพื่อรองรับการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มขยายตัวสำหรับกระดาษพิมพ์เขียน มีดัชนีผลผลิตลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการบริโภคที่ลดลงประกอบกับมีการนำเข้ากระดาษราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทดแทน
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ช่วงที่เหลือของปี 2559 คาดว่า การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูกจะขยายตัวเพื่อรองรับเทศกาลสำคัญช่วงปลายปีที่มีความต้องการบัตรอวยพร หีบห่อ บรรจุภัณฑ์ และกระดาษห่อของขวัญ
เซรามิก การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2559 ในภาพรวมปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนตามความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในช่วงฤดูฝนและภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนักส่งผลให้การเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ลดลงในขณะที่ผู้บริโภคเองก็มีปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้กำลังซื้อลดลงรวมทั้งไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์จากธนาคารได้สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2559 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนตามการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริกาในการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสุขภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และของชำร่วยเครื่องประดับ ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2559 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนในการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่นได้แก่อิฐทนไฟเป็นสำคัญ
การผลิตเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2559 ในภาพรวมคาดว่า การผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ จะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มจะขยายตัวตามโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐสำหรับการจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2559คาดว่าตลาดกระเบื้องปูพื้น บุผนัง จะยังคงชะลอตัว เนื่องจากต้องแข่งขันอย่างรุนแรงกับสินค้านำเข้า ในขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคก็ลดลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงสำหรับการจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์คาดว่ามีแนวโน้มจะขยายตัวได้ดีจากตลาดในประเทศ
ปูนซีเมนต์ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของภาครัฐ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหดตัวลงเนื่องจากมีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศตลอดทั้งไตรมาส ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัวดีนักทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลงส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวและมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง
การผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 คาดว่าจะทรงตัวในระดับเดียวกับไตรมาสที่ 3 โดยมีการเร่งก่อสร้างในโครงการต่างๆของภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะทรงตัวเช่นกันเนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยบางแห่งโดยเฉพาะเมียนมาและอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกลุ่มสิ่งทอการผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ไตรมาส 3 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 5.65 สอดคล้องกับการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.94 เช่นเดียวกับการผลิตเส้นด้าย เพิ่มขึ้นทั้งภาคการผลิตและการจำหน่ายในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัวมากขึ้นตามแนวโน้มตลาดในช่วงปลายปี
สำหรับผ้าผืน หดตัวทั้งการผลิต และการจำหน่ายในประเทศ
และการส่งออก กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงทั้งเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอ ร้อยละ 3.01 และ 16.18 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นในส่วนเสื้อผ้าถัก
ตามคำสั่งซื้อทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อผลิตเตรียมไว้และจำหน่ายในช่วงปลายปี ซึ่งคาดว่าจะมีอากาศหนาวเย็นกว่าทุกปี สำหรับการส่งออกลดลงโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย เส้นใยประดิษฐ์ ไหม และเสื้อผ้าเด็กอ่อน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวต่อเนื่องประกอบกับการย้ายและขยายฐานการผลิตไปในกลุ่มประเทศอาเซียนในส่วนการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีนเวียดนาม กัมพูชา และบังคลาเทศ ในผลิตภัณฑ์เสื้อเชิ้ต/เบลาส์ แจ็กแก็ตและเสื้อเบลเซอร์ กางเกง กระโปรงและเครื่องแต่งตัว และชุดชั้นในและเสื้อคลุม
ภาพรวมการผลิต การจำหน่ายในประเทศผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 4 ปี 2559 คาดว่า จะขยายตัวค่อนข้างมาก โดยมีปัจจัยมาจากการสั่งผลิตเสื้อผ้าชุดดำของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภคในประเทศเพื่อสวมใส่ถวายความอาลัยของพสกนิกรทั่วประเทศ ซึ่งหลายโรงงานต้องเร่งการผลิตอย่างมาก เพื่อให้ทันตามความต้องการของลูกค้าในส่วนภาพรวมการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องนุ่งห่มคาดว่า จะขยายตัวจากไตรมาส 3 ปี 2559 โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน นอกจากนี้ตลาดคู่ค้าอื่น ๆ จะสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น อาทิ ตลาดสหภาพยุโรป จากความต้องการบริโภคที่คาดว่าจะขยายตัวในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
ไม้และเครื่องเรือนการผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ไตรมาส 3 ปี 2559 ในภาพรวมการผลิตเติบโตเพิ่มขึ้นจากตลาดส่งออกที่สามารถขยายตัวได้ดีในขณะที่การจำหน่ายในประเทศหดตัวตามกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจและการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศสำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไตรมาส 3 ปี 2559 ขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียนจีน สหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย และประเทศในแถบตะวันออกกลางในส่วนของการนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไตรมาส 3 ปี 2559 ลดลงจากการนำเข้าวัตถุดิบไม้โดยเฉพาะไม้ซุงที่มีมูลค่านำเข้าลดลงอย่างต่อเนื่อง
การผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ไตรมาส 4 ปี 2559 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากตลาดส่งออกที่สามารถขยายตัวได้ดีในขณะที่การจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศไตรมาส 4 ปี 2559 ตลาดมีแนวโน้มหดตัวแม้จะเป็นช่วงปลายปีซึ่งเป็นเทศกาลที่ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าตกแต่งบ้านก็ตาม ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้มากนักในขณะที่ผู้บริโภคเองก็ยังมีปัญหาภาระค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงสำหรับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไตรมาส 4 ปี 2559 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับการการนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไตรมาส 4 ปี 2559 ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการนำวัตถุดิบมาผลิตเพื่อส่งออก
ปริมาณการผลิตยารักษาและป้องกันโรคในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของยา ปีก่อน ขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากมีปริมาณการผลิตยาเกือบทุกชนิดเพิ่มขึ้น ยกเว้นในส่วนของยาแคปซูลและยาผงสำหรับปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในส่วนของตลาดยาน้ำที่มีทิศทางการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาในภาพรวมอุตสาหกรรมยาในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ดีเนื่องจากตลาดยาในประเทศเริ่มฟื้นตัวประกอบกับตลาดต่างประเทศมีการขยายตัวที่ดีขึ้น
ปริมาณการผลิตยารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากตลาดยาทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีประกอบกับบริษัทผู้ผลิตยาบางรายน่าจะสามารถระบายสต็อกและกลับมาผลิตยาได้ตามปกติเช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายยารักษาหรือป้องกันโรคในประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาส 3 โดยเฉพาะในส่วนของยาน้ำและยาเม็ดที่มีการตอบรับที่ดีจากทั้งตลาดโรงพยาบาลของรัฐและร้านขายยา
ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้อต่อการกรีดยางมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศจึงมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลงสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางล้อเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีปริมาณลดลงยกเว้นยางนอกรถยนต์นั่ง/รถกระบะและยางหล่อดอกและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณการผลิตลดลงยกเว้นยางหล่อดอกซึ่งขยายตัวจากการที่ผู้บริโภคหันไปหล่อดอกยางมากกว่าซื้อยางใหม่ในส่วนของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทยทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมีการขยายตัวที่ดี
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางล้อในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวตามอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศและแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดสหรัฐอเมริการวมถึงประเทศคู่ค้าที่สำคัญอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ในส่วนของถุงมือยาง/ถุงมือตรวจคาดว่าจะยังขยายตัวได้เช่นกันเนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้ในทางการแพทย์การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและในครัวเรือน
รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การผลิตผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 3 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทุกผลิตภัณฑ์ปรับตัวลดลง ได้แก่ การฟอกและตกแต่งหนังฟอก การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และการผลิตรองเท้า ลดลง ร้อยละ 17.58 11.99 และ 9.27 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวและเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักได้แก่ สหภาพยุโรป และ จีนที่ยังคงชะลอตัว
แนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2559 คาดว่าการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์รองเท้าและเครื่องหนังจะเพิ่มขึ้น จากการปรับการผลิตเข้าสู่ภาวะปกติ และการผลิตเพื่อทดแทนสินค้าคงคลังที่ลดลงในช่วงที่มีการผลิตลดลงในไตรมาสที่ผ่านมาในส่วนของการผลิตกระเป๋าและกระเป๋าเดินทางยังคงขยายตัวได้ตามการเติบโตของอุปสงค์จากการเดินทางท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งการเดินทางภายในประเทศ และการเดินทางระหว่างประเทศ โดยแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวและนักเดินทางภายในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญให้คาดการณ์ได้ว่าการผลิตกระเป๋าและกระเป๋าเดินทางจะยังคงขยายตัวได้แต่จะเป็นการขยายตัวในอัตราไม่สูงมากเพราะยังคงมีข้อจำกัดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และของโลกที่ยังมีปัจจัยจำกัดการเติบโตหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญ ของไทย ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าการผลิตในภาพรวมของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2559
อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 3 ปี 2559 ภาคการผลิตและการจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.62 และ 14.65 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นผลจากการได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ประกอบกับมีช่วงเทศกาลวันแม่ในเดือนสิงหาคม
แนวโน้มการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไตรมาส 4 ปี 2559 คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับคำสั่งซื้อและความต้องการในช่วงเทศกาลวันคริสต์มาสและวันปีใหม่ และผลิตทดแทนสต๊อกสินค้าเดิมที่นำออกจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา
อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.07 เนื่องจากสินค้าสำคัญ เช่น กลุ่มธัญพืชและแป้ง จากปริมาณมันสำปะหลังที่เข้าสู่โรงงานแปรรูปแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น สินค้าผักและผลไม้จากการผลิตน้ำผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ และปศุสัตว์ จากการผลิตเนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็นที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศส่วนการส่งออกในภาพรวมปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.6 เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น น้ำตาล จากการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้าและสินค้ากลุ่มข้าวและธัญพืช เช่น ข้าว และมันเส้น ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชะลอคำสั่งซื้อจากประเทศผู้นำเข้า และระดับราคาที่ปรับลดลง รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
คาดการณ์แนวโน้มการผลิตและการส่งออกในภาพรวมของปี 2559 คาดว่าจะชะลอตัวเล็กน้อยจากปีก่อนแม้จะมีปัจจัยบวกในหลายสินค้าได้แก่สินค้าไก่แปรรูปที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นและการกลับมาได้รับสิทธินำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากเกาหลีใต้สินค้าประมงที่ได้รับผลดีจากสหรัฐฯที่ปรับระดับการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้นจาก Tier 3 เป็น Tier 2รวมถึงสินค้ากุ้งที่สถานการณ์การผลิตกุ้งไทยฟื้นตัวจากโรค EMS ประกอบกับรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วนมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับSMEs และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษรูปแบบต่างๆรวมถึงการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อการบริโภคอาหารในประเทศ แต่ด้วยปัจจัยลบอย่าง ภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวในทิศทางที่ชะลอตัวจากผลกระทบจาก Brexit ซึ่งกลุ่มยุโรปได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งด้านการค้าและความเชื่อมั่นขณะที่สหรัฐฯและญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากค่าเงิน อีกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก อย่างญี่ปุ่นและจีน รวมถึงกลุ่มข้าวและธัญพืช ที่ได้รับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ค่าเงินบาท ระดับราคาส่งออกข้าวที่ปรับลดลงอย่างมาก เนื่องจากการแข่งขันด้านราคา และการชะลอคำสั่งซื้อเพื่อรอข้าวใหม่ที่จะออกมา และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นรวมทั้งสินค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้น) ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการระบายสต๊อกข้าวโพดและการสิ้นสุดแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบสำคัญ
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--