สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2559 (กรกฎาคม – กันยายน 2559)(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 26, 2016 16:49 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีประมาณ 1,587,432 เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 17.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้คือ เหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 35.75 เนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุนโครงการก่อสร้างของภาคเอกชน (ทั้งโครงการที่อยู่อาศัยที่ตั้งในกรุงเทพ ปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด) ในขณะที่การลงทุนโครงการภาครัฐยังคงทรงตัวอยู่ สำหรับเหล็กทรงแบน มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.85 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.14 ส่วนหนึ่งเป็นผลทางด้านราคา เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 1 ราคาเหล็กเพิ่มสูงขึ้น แต่ไตรมาสที่ 2 ราคาเหล็กกลับลดลง จนถึงในช่วงเริ่มไตรมาสที่ 3 ราคากลับมาดีขึ้น จึงเป็นเหตุผลทางจิตวิทยาที่ผู้ซื้อเริ่มคิดว่าราคาเริ่มนิ่งแล้ว จึงกลับมาซื้อสินค้าอีกส่วนหนึ่งเพื่อเก็บเป็นสต๊อก เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.84

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในช่วง 9 เดือนของปี 2559 มีประมาณ 5,798,267 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้คือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.14 เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.01 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.68 รายละเอียดตาม

ความต้องการใช้ในประเทศ

ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีจำนวนประมาณ 4,500,131 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 4.20 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการใช้ลดลงคือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 24.41 ซึ่งสาเหตุที่ความต้องการใช้เหล็กในประเทศลดลง ส่วนหนึ่งมาจากราคาเหล็กต่างประเทศที่ผ่านมามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่มเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.28

ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วง 9 เดือนของปี 2559 มีจำนวนประมาณ 14,425,409 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.65 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กทรงยาวมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.64 และเหล็กทรงแบน มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.82

การนำเข้า- การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีจำนวนประมาณ 1,620.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 16.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 48.38 เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีการนำเข้าวัตถุดิบลดลง โดยเหล็กแท่งเล็ก billet ลดลง ร้อยละ 77.89 รองลงมาคือเหล็กแท่งแบน Slab ลดลง ร้อยละ 33.70 สำหรับเหล็กทรงแบน มีมูลค่านำเข้าลดลง ร้อยละ 9.60 โดยเหล็กแผ่น รีดร้อน ลดลง ร้อยละ 16.23 เหล็กแผ่นเคลือบ ลดลง ร้อยละ 6.59 สำหรับเหล็กทรงยาว มูลค่าการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 8.98 โดยเหล็กเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 51.65 เหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 13.56 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 19.39 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 58.36 โดยเหล็กแท่งเล็ก billet ลดลง ร้อยละ 81.15 ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่น ลดลง ร้อยละ 52.08 เหล็กทรงแบน มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.22 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.36 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.86

มูลค่าการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในช่วง 9 เดือนของปี 2559 มีจำนวนประมาณ 5,044.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 9.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 16.39 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 22.16 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบ ลดลง ร้อยละ 16.28 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 10.62 โดยเหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 13.56 เหล็กเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 11.03 รายละเอียดตาม

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีจำนวนประมาณ 229.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 54.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15,072.90 โดยเหล็กแท่งแบน Slab เพิ่มขึ้น ร้อยละ 43,793.93รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11,773.77 สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.13 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.26 (เหล็กเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 200.92) เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33.90 โดยเหล็กแผ่นบางรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 81.90 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมูลค่าการส่งออกขยายตัว ร้อยละ 13.28 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1,684.36 โดยผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1,161.80 สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.61 โดยเหล็กแผ่นเคลือบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 52.25 เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 18.53 โดยเหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 37.59 เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 10.53

มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในช่วง 9 เดือนของปี 2559 มีจำนวนประมาณ 599.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 21.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 6,665.92(มูลค่าการส่งออก 29.23 ล้านเหรียญสหรัฐ) เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 22.00 โดยเหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 36.89 สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.61 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.84 รายละเอียดตาม

2. สรุป

การผลิตเหล็กของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีปริมาณ 1,587,432 เมตริกตันลดลง ร้อยละ 17.75 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 4,500,131 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 4.20 สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีมูลค่า 1,620.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 16.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 48.38 ขณะที่มูลค่าการส่งออกมีประมาณ 229.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 54.02 โดยผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15,072.90

การผลิตเหล็กของไทยใน 9 เดือนของปี 2559 มีปริมาณ 5,798,267 เมตริกตันเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีปริมาณ 14,425,409 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.65 สำหรับการนำเข้า มีมูลค่าประมาณ 5,044.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 9.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กทรงแบน ลดลง ร้อยละ 16.39 โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 22.16 การส่งออกมีมูลค่า 599.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 21.26 โดยผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 6,665.92

3.แนวโน้ม

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2559 คาดการณ์ว่าความต้องการใช้เหล็กในประเทศ จะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมเหล็กทรงยาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง คาดการณ์ว่าจะลดลง สถานการณ์เหล็กโดยรวมคาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย ในส่วนของเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากคาดการณ์ว่าการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ