อุตสาหกรรมพลาสติกไตรมาส 3ปี 2559ดัชนีผลผลิตและดัชนีส่งสินค้าลดลงร้อยละ 11.33และ2.92ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน(ตารางที่ 1และ 2)การส่งออกและการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.07และ 12.91ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3 และ 4) ทั้งนี้ เนื่องจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาคเอกชนที่ส่งผลให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น และการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมอาหาร ส่งผลให้มีการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เกี่ยวกับกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น รวมถึงตลาด CLMV ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญยังขยายตัวได้ดี ส่วนไตรมาสสุดท้ายปี 2559 คาดว่าอุตสาหกรรมพลาสติกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากความต่อเนื่องและความชัดเจนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวตามช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
การตลาดและการจำหน่าย
การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926)ไตรมาส 3 ปี 2559มีปริมาณการส่งออกรวมทั้งสิ้นเท่ากับ 283,808.26 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.07 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558และเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.03 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนกลุ่มสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558ได้แก่ กลุ่มเครื่องประกอบอาคาร (3925) กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) กลุ่มของอื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) และกลุ่มของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923)
- กลุ่มเครื่องประกอบอาคาร (3925) มีปริมาณการส่งออก 2,079.38 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.92 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 16.05 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 38.83 11.58 และ 10.20 ตามลำดับ
- เครื่องใช้ในครัวเรือน (3924)มีปริมาณการส่งออก 14,340.82 ตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.72 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย คิดเป็นร้อยละ 10.51 9.98 และ 9.50 ตามลำดับ
- กลุ่มของอื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) มีปริมาณการส่งออก 39,665.04 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.23 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.54 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และอเมริกา คิดเป็นร้อยละ 21.22 9.18 และ 6.95
- กลุ่มของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923)มีปริมาณการส่งออก 105,185.75 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.93 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น อเมริกา และออสเตรเลีย คิดเป็นร้อยละ 27.73 18.50 และ 9.20
การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก (3916-3926)ไตรมาส 3 ปี 2559มีปริมาณการนำเข้ารวมทั้งสิ้นเท่ากับ 175,571.16 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.91 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558และลดลงร้อยละ 0.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนโดยสินค้าเกือบทุกกลุ่มมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ยกเว้น กลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบที่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3921) และกลุ่มหลอดหรือท่อ (3917) ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ กลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) กลุ่มใยยาวเดี่ยว (3916) และกลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบชนิดยึดติดในตัว (3919)
- กลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) มีปริมาณการนำเข้า 44,801.94 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.26 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.58 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซีย คิดเป็นร้อยละ 29.66 19.24 และ 12.31 ตามลำดับ ซึ่งปีที่ผ่านมา ไตรมาสที่ 1 และ 2ปี 2559มีการนำเข้าจากจีนและญี่ปุ่นเป็นหลักกว่าร้อยละ 80 แต่ในไตรมาส3นี้มีปริมาณการนำเข้าจากมาเลเซียเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้าจากจีนและญี่ปุ่น
- กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน (3924)มีปริมาณการนำเข้า 7,364.87 ตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.50 โดยตลาดนำเข้าหลักที่สำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ จีน คิดเป็นร้อยละ 71.79
- กลุ่มใยยาวเดี่ยว (3916)มีปริมาณการนำเข้า 2,872.28 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.18 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 20.92 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ จีน และสิงคโปร์ คิดเป็นร้อยละ 61.62 และ 9.51 ตามลำดับ ได้แก่
- กลุ่มแผ่น ฟิล์ม ฟอยล์ แถบชนิดยึดติดในตัว (3919) มีปริมาณการนำเข้า 13,483.67 ตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.31 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 12.57 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกาคิดเป็นร้อยละ 28.31 23.61 และ 13.96 ตามลำดับ
ภาครัฐมีนโยบายการบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมภาคบังคับกับผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารคาดว่าจะทำให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและการบริโภคพลาสติกภายในประเทศเพิ่มขึ้นรวมทั้งนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ (Super Cluster) และนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมรูปแบบอื่นๆ เช่น New S-Curve, Spring Board ที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์
สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและแนวโน้ม
ภาวะอุตสาหกรรมพลาสติก 9 เดือนแรกของ ปี 2559 พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมลดลงร้อยละ 4.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558เนื่องจากการปรับตัวของราคาเม็ดพลาสติกและคำสั่งซื้อที่ลดลงของประเทศคู่ค้าโดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลง ได้แก่ แผ่นฟิล์มพลาสติก ถุงพลาสติก และเครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำลดลงร้อยละ 7.91 7.13 และ 6.29 ตามลำดับ ส่วนดัชนีส่งสินค้าของอุตสาหกรรมพลาสติกภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558โดยเพิ่มขึ้นจากการส่งสินค้าประเภทกระสอบพลาสติกและพลาสติกแผ่น ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.65 และ 0.03 ตามลำดับ
การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก9 เดือนแรกของ ปี 2559 มีปริมาณการส่งออกเท่ากับ 835,716.75 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลต่อการส่งออกในช่วง9 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่ กลุ่มเครื่องประกอบอาคาร (3925)กลุ่มแผ่นฟิล์ม ฟอยล์ ที่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3921)และกลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.37 12.18 และ 8.80 ตามลำดับ และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนปริมาณการส่งออกสำคัญได้แก่ กลุ่มของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923) กลุ่มแผ่นฟิล์ม ฟอยล์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) และกลุ่มของอื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) คิดเป็นร้อยละ 37.06 32.62 และ 10.45 ตามลำดับ ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด
การนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก9 เดือนแรกของ ปี 2559 มีปริมาณการนำเข้ารวมทั้งสิ้นเท่ากับ 518,273.99 ตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558โดยเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ยกเว้น กลุ่มเครื่องสุขภัณฑ์ (3922) ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักที่มีผลต่อการนำเข้าในช่วง9 เดือนแรกของปี 2559 ได้แก่กลุ่มใยยาวเดี่ยว (3916) กลุ่มแผ่นฟิล์ม ฟอยล์ ชนิดยึดติดในตัว (3919)กลุ่มเครื่องประกอบอาคาร (3925) กลุ่มแผ่นฟิล์ม ฟอยล์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920) และกลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน (3924) เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.25 18.70 18.06 18.01 และ 17.78 ตามลำดับ และผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนปริมาณการนำเข้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มแผ่นฟิล์ม ฟอยล์ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3920)กลุ่มของอื่นๆ ที่ทำด้วยพลาสติก (3926) กลุ่มของที่ใช้ลำเลียงหรือบรรจุสินค้า (3923) และกลุ่มแผ่นฟิล์ม ฟอยล์ ที่เป็นแบบเซลลูลาร์ (3921) คิดเป็นร้อยละ 25.52 18.20 17.40 และ 12.70 ตามลำดับ ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด
แนวโน้ม3 เดือนที่เหลือของปี 2559(ไตรมาสที่ 4) คาดว่า สถานการณ์โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมพลาสติกจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้นและมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสำคัญจากแนวโน้มการทรงตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกความต่อเนื่องและความชัดเจนในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่อการลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อการก่อสร้างรวมถึงการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวตามช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--