อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภาพรวมยังขยายตัวได้จากการเร่งลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของภาครัฐ ซึ่งมีการเซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างแล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาสก่อนสำหรับมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ในภาพรวมขยายตัวเล็กน้อยเนื่องจากบังคลาเทศสั่งซื้อปูนเม็ดจากไทยเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสนี้ในส่วนของไตรมาสหน้าคาดว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะยังทรงตัวในระดับเดียวกับไตรมาสนี้เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนักส่งผลให้ภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลงอย่างต่อเนื่อง
การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.51 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.72 ล้านตันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนการผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 4.28ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ22.78 สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีปริมาณลดลงร้อยละ10.74 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ11.98 ในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์ขยายตัวจากนโยบายเร่งรัดการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งหลายโครงการทั้งโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายต่างๆ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ A โครงการ SRTO ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตงและแม่สอด รวมถึงโครงการสุวรรณภูมิ เฟส 2ได้มีการเซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างแล้วตั้งแต่ไตรมาสก่อน
การตลาดและการจำหน่าย
การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 8.84ล้านตันแบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.08 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 8.76 ล้านตันโดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 5.75 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.62 เนื่องจากภาคก่อสร้างของไทยมีการขยายตัวที่ดีจากการเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
การค้าระหว่างประเทศ
การส่งออกปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีปริมาณการส่งออกรวม 3.27 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 142.01ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 1.67 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า51.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.38และร้อยละ14.02ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 119.73 และร้อยละ72.03 ตามลำดับ ในส่วนของการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณ 1.60 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 90.71ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)ลดลงร้อยละ 21.56และร้อยละ 23.85ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 17.52และร้อยละ20.35ตามลำดับ ในภาพรวมการส่งออกของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์หดตัวลง เนื่องจากเมียนมาซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทยปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงค่อนข้างมากถึงแม้ว่าบังคลาเทศจะมีการนำเข้าปูนเม็ดจากไทยเพิ่มขึ้นมากเช่นกันในไตรมาสนี้แต่เนื่องจากปูนเม็ดมีมูลค่าไม่สูงนักจึงทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลงโดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในไตรมาสนี้ได้แก่กัมพูชาบังคลาเทศ เมียนมา ลาวและเวียดนาม ตามลำดับ
การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 3 ปี 2559 มีปริมาณรวม 3,715.77 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 28.52และร้อยละ 16.39 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 11.54 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.37โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ดจำนวน 62.18 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 3,653.59 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าเพื่อทดสอบและอีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าปูนซีเมนต์ขาวชนิดพิเศษและอะลูมินัสซีเมนต์ที่ไม่มีการผลิตในประเทศโดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทยในไตรมาสนี้ได้แก่เนเธอร์แลนด์ จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์และสิงคโปร์ ตามลำดับ
1. กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ปรับลดราคาขายหน้าโรงงานลง ทำให้ราคาขายปลีกของปูนซีเมนต์เกือบทุกตราสินค้าลดลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับกิจกรรมส่งเสริมการขายอื่นๆ ของแต่ละบริษัทแล้ว ราคาจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงกว่าร้อยละ 10 และยังคงมีแนวโน้มคงตัวที่ระดับเดียวกันนี้ต่อเนื่องไปจนสิ้นปี 2559 เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก
2. รัฐบาลเร่งลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวจากปีก่อนได้อย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายพัทยา-มาบตาพุด สายบางปะอิน-โคราช และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และช่วงฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ท่าเรือแหลมฉบัง โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตงและแม่สอด รวมถึงโครงการสุวรรณภูมิ เฟส 2
สรุปและแนวโน้ม
ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2559ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของภาครัฐ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหดตัวลงเนื่องจากมีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศตลอดทั้งไตรมาสประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัวดีนักทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลงส่งผลให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวและมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3ปี 2559ลดลงเนื่องจากเมียนมาและอินโดนีเซียปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงค่อนข้างมากถึงแม้ว่าบังคลาเทศจะสั่งซื้อปูนเม็ดจากไทยเพิ่มขึ้นมากเช่นกันแต่เนื่องจากปูนเม็ดมีมูลค่าไม่สูงนักทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในไตรมาสนี้ปรับลดลง
การผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2559คาดว่าจะทรงตัวในระดับเดียวกับไตรมาสที่ 3 โดยมีการเร่งก่อสร้างในโครงการต่างๆของภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญในส่วนของการส่งออกคาดว่าจะทรงตัวเช่นกันเนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยบางแห่งโดยเฉพาะเมียนมาและอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--