สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 3 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเริ่มปรับตัวดีขึ้นในส่วนสิ่งทอต้นน้ำขยายตัวได้ทั้งภาคการผลิตและการจำหน่ายในประเทศ ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีผู้ผลิตบางส่วนได้ขยายฐานการผลิตไปในกลุ่มประเทศอาเซียนส่งผลให้ภาคการผลิตในประเทศปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีผู้ประกอบการหลายรายทยอยปิดตัวลงและยกเลิกกิจการ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แรงงานหาได้ยากขึ้น สิทธิพิเศษทางด้านภาษีลดลง ส่งผลให้เกิดปัญหาการจัดการและการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม
กลุ่มสิ่งทอ ไตรมาส 3 ปี 2559 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.65 และ 1.87 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ จากความต้องการใช้ภายในประเทศและการส่งออกที่ขยายตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.94 และ 7.12 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ ในส่วนการผลิตเส้นด้ายดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.32 และ 12.58 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.21 และ 7.97 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ สำหรับการทอสิ่งทอ (ผ้าผืน) มีการผลิตลดลง ร้อยละ 10.66 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.32 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลงเล็กน้อยตามความต้องการใช้ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่องร้อยละ 0.63 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.61 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส ที่ผ่านมา
กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 3 ปี 2559 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตผ้า ที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์ (เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าถัก) ในผลิตภัณฑ์ผ้าถักเครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชายเครื่องแต่งกายชั้นนอกและชั้นในสตรีและเด็กหญิงลดลงร้อยละ 3.01 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.14 อย่างไรก็ตามดัชนีการส่งสินค้าลดลง ร้อยละ 3.88 และ 3.39 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ เนื่องจากผู้ผลิตบางส่วนได้ขยายฐานการผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียน ประกอบกับเศรษฐกิจภายในยังชะลอตัวในส่วนการผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์(เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตจากผ้าทอ) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง ร้อยละ 16.18 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ผลิตบางส่วนได้ขยายฐานการผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียนเช่นเดียวกับกลุ่มผ้าถัก แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.12 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายในประเทศสอดคล้องกับดัชนีการส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ผ้าทอเครื่องแต่งกายอื่น ๆ บุรุษและเด็กชาย เครื่องแต่งกายชั้นนอกและชั้นในสตรีและเด็กหญิงร้อยละ 7.24 และ 0.73 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ
หากพิจารณาข้อมูลของการประกอบกิจการโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาส 3 ปี 2559 พบว่า มีโรงงานประกอบกิจการใหม่ จำนวน 29 โรงงาน มีเงินลงทุนรวม 371.68 ล้านบาท และจ้างแรงงานรวม 1,533 คน ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 เป็นโรงงานประกอบกิจการตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้มีโรงงานขอขยายกิจการ จำนวน 6 โรงงาน เป็นโรงงานประกอบกิจการการทอหรือการเตรียมเส้นด้ายยืนสำหรับการทอจำนวน 3 โรงงาน ย้อมสีเส้นใย การทำวัสดุจากเส้นใยสำหรับใช้ทำเบาะ นวม หรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน และการผลิตเส้นใยหรือปุยใยจากวัสดุที่ทำจากเส้นใย ประเภทละ 1 โรงงาน มีเงินลงทุนรวม 234.35 ล้านบาท สำหรับโรงงานที่ขอยกเลิกกิจการ จำนวน 12 โรงงาน เป็นกิจการการตัดหรือการเย็บเครื่องนุ่งห่ม จำนวน 6 โรงงาน กิจการพิมพ์สิ่งทอ จำนวน 3 โรงงาน และกิจการการทอหรือการเตรียมเส้นด้ายฯ กิจการฟอกย้อมสี หรือแต่งสำเร็จด้ายหรือสิ่งทอ และกิจการถักผ้า ผ้าลูกไม้ หรือเครื่องนุ่งห่มด้วยด้ายหรือเส้นใย แต่งสำเร็จผ้า ประเภทละ 1 โรงงาน
การตลาด
การค้าระหว่างประเทศ
ไตรมาส 3 ปี 2559 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าการส่งออก 1,635.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 5.66 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกลดลงในตลาดหลักได้แก่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาการส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.88 ในตลาดหลักได้แก่ อาเซียน และญี่ปุ่น สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่
1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการส่งออก 1,028.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 4.08 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนในผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์เคหะสิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์ผ้าปักและผ้าลูกไม้แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.62 ในผลิตภัณฑ์ผ้าผืนเคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 62.88 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญในไตรมาสนี้ มีดังนี้
1) ผ้าผืนและด้ายไตรมาส 3 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 517.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 6.94 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากญี่ปุ่น จีน บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย นำเข้าจากไทยลดลง เนื่องจากจีน และไต้หวัน ได้เข้าไปลงทุนในเวียดนามในส่วนอุตสาหกรรมกลางน้ำ เช่น ปั่นด้าย เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของผ้าผืนมีมูลค่าการส่งออก 329.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯด้ายและเส้นใยประดิษฐ์มีมูลค่าการส่งออก 187.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯซึ่งมูลค่าการส่งออกในกลุ่มผ้าผืนและด้าย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 50.32 ของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มสิ่งทอ โดยมีประเทศเวียดนาม ญี่ปุ่น เมียนมา จีน และบังคลาเทศ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.86 จากการส่งออกในตลาดเวียดนาม ญี่ปุ่น เมียนมา และอินโดนีเซีย
2) เคหะสิ่งทอ ไตรมาส 3 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 66.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 2.34 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.49 เนื่องจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่เพิ่มการนำเข้าจากไทย ร้อยละ 12.09 ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกเคหะสิ่งทอปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย และอินเดีย
3) เส้นใยประดิษฐ์ไตรมาส 3 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 177.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 2.70 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากมูลค่าการส่งออกที่ลดลงในตลาดคู่ค้า อาทิ เวียดนาม ปากีสถาน และอินเดีย มีมูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 27.97 26.31 และ 16.15 ตามลำดับ แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.19 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย จีน ตุรกี เวียดนาม และปากีสถาน
4) สิ่งทออื่นๆไตรมาส 3 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 168.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 1.45 และ 0.38 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดีย
2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 3 ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออก 607.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 8.22 และ 1.94 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 37.12 ของมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์สำคัญ คือ
1) เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการส่งออก 529.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง ร้อยละ 7.52 และ 1.02 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกในตลาดคู่ค้าสำคัญได้แก่อาเซียน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ลดลง ร้อยละ 2.75 13.83และ 8.43 ตามลำดับ โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย เส้นใยประดิษฐ์ ไหม และเสื้อผ้าเด็กอ่อน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวต่อเนื่องประกอบกับการย้ายและขยายฐานการผลิตไปในกลุ่มประเทศอาเซียน
2) เครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบ มีมูลค่าการส่งออก 45.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 16.01 และ 19.97 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตาม ลำดับ ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกลดลงในตลาดคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ไต้หวัน และฮ่องกง เป็นต้น
ไตรมาส 3 ปี 2559 มีการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคิดเป็นมูลค่า 1,149.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.81 และ 4.82 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาตามลำดับ (ตารางที่ 4) โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80.27 จะเป็นสิ่งทอต้นน้ำสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งผลิตภัณฑ์นำเข้าสำคัญ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้า (ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) รวมทั้งสิ้น 922.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.42 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.15 เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเพิ่มขึ้นและสำรองไว้ใช้ในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งคาดว่าปริมาณการใช้จะเพิ่มสูงขึ้นโดยมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มสิ่งทอ คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 80.27 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ซึ่งผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้
1) เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่าการนำเข้า 136.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ29.21 และ 14.87 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเส้นใยฯที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่สหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย ไต้หวัน บราซิล จีน และอินเดีย
2) ด้ายทอผ้าและด้ายเส้นเล็ก มีมูลค่าการนำเข้า 181.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.44 และ 2.16 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับเนื่องจากมีโรงงานปิดกิจการในไตรมาสนี้ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มอีก 1 โรงงานส่งผลให้การผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงต้องมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคานำเข้าถูกกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ไต้หวัน และอินโดนีเซีย
3) ผ้าผืน มีมูลค่าการนำเข้า 439.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.19 และ 6.43 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากการปิดกิจการของโรงงานทอเส้นด้ายและทอผ้าในไตรมาสนี้ ตามความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ลดลงมาก อย่างไรก็ตามมีโรงงานขอประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการจำนวนหนึ่งซึ่งอาจต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และเวียดนาม
4) ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่าการนำเข้า 115.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.80 และ 11.60 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเกาหลีใต้
2. กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 226.81ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.46 และ 17.28 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ตามลำดับ ซึ่งเป็นการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป ประเภทผลิตภัณฑ์เสื้อเชิ้ต/เบลาส์ แจ็กแก็ตและเสื้อเบลเซอร์ กางเกง กระโปรงและเครื่องแต่งตัว และชุดชั้นในและเสื้อคลุม จากประเทศจีน เวียดนาม กัมพูชา บังคลาเทศ และตุรกี คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 19.73 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด
- กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้จัดตั้งศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand lndustrial Design Center) โดยมอบหมายให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) เป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนกิจกรรม ซึ่งศูนย์ฯ ดังกล่าวมีกิจกรรมสำคัญ คือ 1) lndustrial Design Forum เป็นกิจกรรมระดมความคิดเห็นการออกแบบอุตสาหกรรมในรูปแบบ Forum โดยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อระดมแนวทางพัฒนาการออกแบบอุตสาหกรรมของประเทศ และเป็นเวทีเผยแพร่ความรู้ด้านการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2) กิจกรรม Bangkok Design Weeks เน้นจัดนิทรรศการควบคู่กับการสัมมนาด้านการออกแบบ กระจายไปในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เพื่อสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพและโอกาสของการพัฒนาประเทศ
สรุปและแนวโน้ม
กลุ่มสิ่งทอการผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ไตรมาส 3 ปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.65 สอดคล้องกับการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.94 เช่นเดียวกับการผลิตเส้นด้าย เพิ่มขึ้นทั้งภาคการผลิตและการจำหน่ายในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัวมากขึ้นตามแนวโน้มตลาดในช่วงปลายปีสำหรับผ้าผืน หดตัว ทั้งการผลิต และการจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก
กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงทั้งเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอ ร้อยละ 3.01 และ 16.18 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หากปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นในส่วนเสื้อผ้าถักตามคำสั่งซื้อทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อผลิตเตรียมไว้และจำหน่ายในช่วงปลายปีซึ่งคาดว่าจะมีอากาศหนาวเย็นกว่าทุกปี สำหรับการส่งออกลดลงโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปทำจากฝ้าย เส้นใยประดิษฐ์ไหมและเสื้อผ้าเด็กอ่อน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวต่อเนื่องประกอบกับการย้ายและขยายฐานการผลิตไปในกลุ่มประเทศอาเซียนในส่วนการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน เวียดนาม กัมพูชา และบังคลาเทศ ในผลิตภัณฑ์เสื้อเชิ้ต/เบลาส์ แจ็กแก็ตและเสื้อเบลเซอร์ กางเกง กระโปรงและเครื่องแต่งตัว และชุดชั้นในและเสื้อคลุม
ภาพรวมการผลิต การจำหน่ายในประเทศผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 4 ปี 2559 คาดว่า จะขยายตัวค่อนข้างมาก โดยมีปัจจัยมาจากการสั่งผลิตเสื้อผ้าชุดดำของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของผู้บริโภคในประเทศเพื่อสวมใส่ถวายความอาลัยของพสกนิกรทั่วประเทศ ซึ่งหลายโรงงานต้องเร่งการผลิตอย่างมาก เพื่อให้ทันตามความต้องการของลูกค้าในส่วนภาพรวมการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องนุ่งห่มคาดว่า จะขยายตัวจากไตรมาส 3 ปี 2559 โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน นอกจากนี้ตลาดคู่ค้าอื่น ๆ จะสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น อาทิ ตลาดสหภาพยุโรป จากความต้องการบริโภคที่คาดว่าจะขยายตัวในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--