สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2559 (กรกฎาคม – กันยายน 2559)(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 26, 2016 16:36 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมการผลิตยาในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของยาครีมและยาน้ำในขณะเดียวกับที่ตลาดยาในประเทศมีการฟื้นตัวที่ดีต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปีผู้ประกอบการมียอดการสั่งซื้อยาเพิ่มขึ้นทั้งจากโรงพยาบาลของรัฐและร้านขายยาสำหรับการส่งออกขยายตัวได้ดีเนื่องจากเวียดนามสั่งซื้อยาจากไทยเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากอาเซียนเป็นตลาดหลักของสินค้ายาของไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 66.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 76.15 ของมูลค่าการส่งออกยาป้องกันและรักษาโรคทั้งหมดของไทยในไตรมาสนี้

การผลิต

การผลิตยาในไตรมาสที่ 3ปี 2559 มีปริมาณรวม 10,006.04ตันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 8.57และร้อยละ 1.29 ตามลำดับในภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตยามีการขยายตัวที่ดี โดยมีปริมาณการผลิตยาเม็ด ยาน้ำ ยาฉีด และยาครีม มากที่สุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่บางรายสามารถกลับมาผลิตยาเดิมที่เคยขึ้นทะเบียนไว้ก่อนการย้ายสถานที่ตั้งโรงงานได้แล้วในไตรมาสนี้ซึ่งในส่วนของยาครีมมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากการเร่งผลิตเพื่อเติมสต็อกของผู้ผลิตรายใหญ่บางรายในขณะที่การผลิตยาแคปซูลปรับลดลงเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่บางรายปรับลดปริมาณการผลิตลงตามกระแสความตื่นตัวในเรื่องของการป้องกันเชื้อดื้อยาจากการบริโภคยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นหรือผิดวิธีประกอบกับหน่วยงานต่างๆ มีการรณรงค์เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่เข้มข้นมากขึ้นในปีนี้สำหรับยาผงมีปริมาณการผลิตที่ลดลงเช่นกันเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่บางรายหยุดเดินเครื่องจักรบางส่วนเพื่อปรับปรุงระบบการผลิตและรอระบายสต็อกก่อนเริ่มผลิตสินค้าล็อตใหม่ในปีต่อไป

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาในไตรมาสที่ 3ปี 2559 มีปริมาณ 9,891.94 ตันขยายตัวจากไตรมาสก่อนร้อยละ 8.45จากการจำหน่ายยาทุกชนิดยกเว้นยาแคปซูลและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 18.36 โดยเฉพาะในส่วนของยาน้ำที่การจำหน่ายในประเทศปรับตัวดีขึ้นมากตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมาเนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่บางรายมียอดสั่งซื้อยาน้ำชนิดใหม่ที่ไม่มีส่วนผสมของสารที่ถูกจำกัดปริมาณการจำหน่ายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพิ่มขึ้นมาก

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสที่ 3ปี 2559 มีมูลค่า86.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯขยายตัวจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.03และร้อยละ 8.24 ตามลำดับในภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์ยามีการขยายตัวที่ดีและนับเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงที่สุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากตลาดส่งออกในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนามและเมียนมาขยายตัวในเกณฑ์ดีโดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ เวียดนามเมียนมา กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ตามลำดับ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวม56.60ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ65.30 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมดของไทย

การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสที่ 3ปี 2559 มีมูลค่า 381.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯหดตัวจากไตรมาสก่อนร้อยละ 7.07 ในขณะที่ขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.15ในภาพรวมมูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศหดตัวลงเล็กน้อย โดยมีสัดส่วนการนำเข้ายาราคาถูกจากอินเดียและจีนมากขึ้นหรือคิดเป็นร้อยละ 12.94 ของมูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศทั้งหมดของไทยโดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่เยอรมนีสหรัฐอเมริกาอินเดีย ฝรั่งเศส และอิตาลี ตามลำดับ ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้ารวม 157.68ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 41.37 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตยารักษาและป้องกันโรคในไตรมาสที่ 3 ปี 2559เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากมีปริมาณการผลิตยาเกือบทุกชนิดเพิ่มขึ้น ยกเว้นในส่วนของยาแคปซูลและยาผงสำหรับปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมากโดยเฉพาะในส่วนของตลาดยาน้ำที่มีทิศทางการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาในภาพรวมอุตสาหกรรมยาในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ดีเนื่องจากตลาดยาในประเทศเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีการขยายตัวที่ดีขึ้น

ในส่วนของมูลค่าการส่งออกยาในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดเวียดนามและเมียนมาซึ่งมีแนวโน้มเติบโตที่ดี สำหรับมูลค่าการนำเข้ายาในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากตลาดยาในประเทศมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

แนวโน้ม

ปริมาณการผลิตยารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสที่ 4ปี 2559 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากตลาดยาทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีประกอบกับบริษัทผู้ผลิตยาบางรายน่าจะสามารถระบายสต็อกและกลับมาผลิตยาได้ตามปกติเช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายยารักษาหรือป้องกันโรคในประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาส 3 โดยเฉพาะในส่วนของยาน้ำและยาเม็ดที่มีการตอบรับที่ดีจากทั้งตลาดโรงพยาบาลของรัฐและร้านขายยา

สำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน (ยกเว้นบรูไน) มีแนวโน้มต้องการใช้ยาจากไทยมากขึ้น รวมถึงอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศสมาชิก PlC/S ก่อนหน้าไทยและมีการนำเข้ายาจากไทยในแต่ละไตรมาสไม่มากนักแต่ไตรมาสที่ 3 นี้กลับมีมูลค่าการนำเข้ายาจากไทยสูงจนติด 1 ใน 10 อันดับแรกของตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการที่ไทยได้เป็นสมาชิก PlC/S เมื่อเดือนสิงหาคม2559 ที่ผ่านมาประกอบกับผู้ประกอบการไทยหันมาให้ความสำคัญกับการแสวงหาตลาดใหม่ในต่างประเทศมากขึ้นซึ่งกรณีอินโดนีเซียถึงแม้จะไม่ใช่ตลาดใหม่ แต่ก็เป็นตลาดที่ยากจะเข้าถึงได้เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมยาในประเทศที่เข้มแข็งและรัฐบาลมีนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมยาในประเทศที่เข้มงวดการสามารถเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียได้มากขึ้นจึงถือเป็นสัญญานที่ดีในการขยายตลาดส่งออกสินค้ายาของไทยให้ครอบคลุมกลุ่มประเทศอาเซียนรวมถึงโลกได้มากขึ้นในอนาคต

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ